วงเสวนาชี้ ‘ล่าแม่มดโลกไซเบอร์’ วัฒนธรรมหาแพะ โพสต์ใส่ไฟเพิ่ม เสี่ยงติดคุก!
จิตแพทย์เผย 'ล่าแม่มด’ วัฒนธรรมหาแพะ-โยนความผิด ชนวนสร้างความรุนแรงทางอารมณ์ด้านนักกฎหมาย ระบุโพสต์โจมตีกดไลค์ กดแชร์ใส่ไฟเพิ่ม-เสี่ยงติดคุก
เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรการสื่อสารมวลชนระดับต้น (กสต.) รุ่นที่ 3 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาฝ่าวิกฤติภัยใกล้ตัวจากโลกออนไลน์ หัวข้อ "ล่าแม่มด เซ็กซ์ ความรุนแรง ภัยเงียบออนไลน์" เพื่อร่วมค้นหาทางแก้ไขและรู้จักใช้สื่อแนวใหม่อย่างสร้างสรรค์ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
มีนายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ กรรมการผู้จัดการบริษัทที่ปรึกษากฎหมาย ไพบูลย์ จำกัด นายพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ พิธีกร รายการแบไต๋ไฮเทค และหนึ่งในผู้ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่มีผู้ติดตามบน Twitter มากกว่า 70,000 คน และ พ.ต.ท.หญิง พญ.อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล จิตแพทย์จากโรงพยาบาลตำรวจ และรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมเสวนา
นายพงศ์สุข กล่าวถึงปรากฏการณ์ล่าแม่มดในโลกออนไลน์ว่า เป็นคำที่นำมาใช้ในกรณีตามล่าหาตัวผู้ที่มีความคิดไม่เหมือนกับตนหรือกลุ่มของตน ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้เริ่มเกิดขึ้นในประเทศไทย ตั้งแต่ในช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมือง ที่มีทั้งการสาวไส้ค้นหาประวัติ เอาภาพมาประจาน เนื่องจากในความคิดของคนล่าแม่มดนั้น มองว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้อง นำคนที่ไม่ดี มาลงทัณฑ์ทางสังคม (Social sanction)
“โดยส่วนตัวจากการสัมผัสกับโลกออนไลน์ พบว่าผู้ใช้จะรู้สึกว่าตัวเองเป็นไม้บรรทัดมองโลก ถ้าใครคิดต่างจะเกิดความไม่พอใจ ไม่ถูกใจ หรือรับไม่ได้ ซึ่งก็จะแสดงออกด้วยการเขียนข้อความตอบโต้ ต่อว่า หรือด่าทอทันที ปรากฏการณ์ดังกล่าว อาจส่งผลให้คนในสังคมเปลี่ยนไปมีทัศนคติเชิงลบ ทำให้สังคมไทยปัจจุบันกลายเป็นสังคมที่ไม่น่ารัก” นายพงศ์สุข กล่าว และว่า แต่อย่างไรก็ตาม การใช้โซเชียลมีเดียนั้น ก็มีทั้งด้านบวกและด้านลบ เปรียบได้กับมีดทำครัว ใช้หั่นผัก หรือจะใช้ทิ่มแทงคนอื่นก็สามารถทำได้เช่นกัน ดังนั้น ควรมีแนวทางในการควบคุม ยกตัวอย่างกรณีประเทศเกาหลีใต้ การใช้อินเทอร์เน็ตจะต้องกำหนดให้มี ชื่อผู้ใช้ หรือยูสเซอร์เนม ที่ต้องกรอกหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนทุกครั้ง เพื่อแสดงตัวผู้ใช้ที่ชัดเจน ซึ่งก็จะช่วยลดปัญหาการโพสต์ข้อความที่วู่วามให้น้อยลงได้
ขณะที่ พ.ต.ท.หญิง พญ.อัญชุลี กล่าวถึงการล่าแม่มดว่า มีลักษณะไม่ต่างจากการล่าปอบ ล่ากระสือตามวัฒนธรรมแบบไทยๆ เป็นกระบวนการทางจิตรูปแบบหนึ่ง ที่ต้องการหาแพะ โยนความผิดให้คนใดคนหนึ่ง เพื่อสร้างความสบายใจ ส่งผลให้เกิดรูปแบบการรังแกประเภทใหม่ที่เรียกว่า การรังแกผ่านโลกไซเบอร์ (Cyber-bullying) เขียนข้อความต่อว่า ล้อเลียน โดยเผยแพร่รูปภาพหรือคลิปวิดีโอผ่านทางอินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้ถูกกระทำไม่สามารถตอบโต้ได้ เกิดความเครียด ความอับอาย สูญเสียความมั่นใจในการอยู่ในสังคม ในบางครั้งนำไปสู่ความรุนแรงทางอารมณ์
“ในยุคที่โซเชียลมีเดียมีบทบาทในชีวิตประจำวัน เข้าถึงคนทุกกลุ่ม แม้จะมีข้อดี ในเรื่องการสื่อสารที่สะดวกรวดเร็ว ให้ความบันเทิง ช่วยให้ติดต่อกับเพื่อนที่ไม่ได้เจอกันนานนับสิบปีได้ แต่ก็มีข้อเสีย หากไม่แบ่งเวลาให้ดี อาจทำให้สูญเสียความเป็นตัวตน เข้าไปอยู่กับตัวตนที่สร้างขึ้นในโซเชียลมีเดีย จนแยกไม่ออกว่าอะไรคือชีวิตจริง อะไรคือชีวิตในโลกออนไลน์ ขณะเดียวกันในหมู่วัยรุ่น เมื่อถูกคอมเม้นท์ แม้จะเป็นคำพูดเพียงไม่กี่คำ ก็จะพบว่ามีอาการคิดมาก กลายเป็น ปัญหาทางจิตวิทยา นอกจากนี้ยังพบภัยอื่นๆ เช่น ปัญหาการล่อลวง การปล้นทรัพย์ การล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งจากข้อมูลพบว่า เด็กอายุระหว่าง 13-20 ปี มีอัตราเสี่ยงมากที่สุด เพราะเป็นช่วงวัยที่มีจำนวนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมาก”
พ.ต.ท.หญิง พญ.อัญชุลี กล่าวถึงคำแนะนำในการใช้สื่อออนไลน์ด้วยว่า ผู้ปกครองต้องให้ความสำคัญ ปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งสังเกตพฤติกรรมของลูกหลานในระหว่างใช้อินเทอร์เน็ต ส่วนตัวเด็กนั้น ควรปรึกษาผู้ปกครองหากมีความจำเป็นต้องนัดเจอกับบุคคลในโลกออนไลน์
ด้านนายไพบูลย์ กล่าวถึงการโพสต์ข้อความล่าแม่มด การโจมตี ใส่ร้ายกันจนเกินความเป็นจริงในโลกอินเทอร์เน็ตว่า หลายคนอาจเข้าใจไปว่าเมื่อทำไปแล้ว จะไม่สามารถจับกุมหรือตรวจสอบได้ เนื่องจากบุคคลผู้เขียนข้อความนั้น ๆ ไม่ได้ระบุชื่อ สกุลที่แท้จริง แต่ความจริงข้อมูลที่ส่งผ่านอินเทอร์เน็ต หรือโทรศัพท์มือถือ แม้จะมีการโพสต์ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ และลบทิ้งก็สามารถตรวจสอบ รื้อค้นข้อความที่ลบทิ้งได้ภายใน 5 นาที ซึ่งโทษเหล่านี้เข้าข่ายความผิดทางอาญา ฐานความผิดหมิ่นประมาท ข่มขู่และมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี
“ผู้ใช้อินเตอร์เน็ต หรือโซเชียลมีเดียต้องมีความรู้ความเข้าใจในข้อกฎหมายด้วยว่า การโพสต์ข้อความใดๆ นั้นมีความสุ่มเสี่ยงที่จะละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคล ในส่วนของผู้ที่ชอบกดไลค์ กดแชร์ หากพบว่าเข้าไปมีส่วนร่วมแสดงความเห็น ให้ข้อมูลในเชิงลบ หรือให้การสนับสนุนข้อความโจมตีดังกล่าว ก็มีสิทธิ์ที่จะไปเยือนห้องกงได้นานถึงเวลา 5 ปีเช่นกัน ขณะที่คดีล่าแม่มดมีอายุความ 15 ปี”
เมื่อถามถึงสาเหตุที่มีผู้ได้รับโทษในคดีนี้มีจำนวนน้อย นายไพบูลย์ กล่าวว่า เป็นเพราะบุคคลกรมีจำนวนน้อย ไม่เพียงพอในการตรวจสอบ ขณะเดียวกันยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ จึงไม่สามารถนำเอาพยานหลักฐานจากผู้กระทำความผิดมาได้ การแจ้งความดำเนินคดีต่าง ๆ จึงมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก เป็นไปอย่างล่าช้า