เปิดบ้านปัตตานี...ผู้ประกอบการที่นี่ยังสู้อยู่
แม้ "ความเชื่อมั่น" คือคำที่ถูกพูดถึงนับครั้งไม่ถ้วนในห้วงที่เกิดวิกฤติข่มขู่ให้หยุดทำงานวันศุกร์ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่แท้ที่จริงแล้วการเรียกหา "ความเชื่อมั่น" เกิดขึ้นมาตลอดในห้วงเวลาเกือบ 1 ทศวรรษที่ไฟใต้ลุกโชน ทั้งเสียงเพรียกจากพี่น้องประชาชนทุกศาสนา และจากภาคธุรกิจการค้าทุกกลุ่ม
เมื่อปลายเดือน ก.ย.2555 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับจังหวัดปัตตานี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้าจังหวัดปัตตานี จัดโครงการ “เปิดบ้านปัตตานี ฟื้นความเชื่อมั่นเศรษฐกิจชายแดนใต้” ขึ้นที่ห้อง อัล -อิมาม อัน-นาวาวีย์ อาคารวิทยอิสลามนานาชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี)
งานเรียกความเชื่อมั่นลักษณะนี้ ศอ.บต.เคยจัดมาครั้งหนึ่งแล้วในชื่อ "ดินเนอร์ทอล์ค" ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เมื่อ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี สำหรับโครงการ "เปิดบ้านปัตตานี" มีเนื้อหายึดโยงกับเศรษฐกิจท้องถิ่นและวิถีชีวิตมากกว่า โดยภายในงานมีการจัดนิทรรศการ "เศรษฐกิจปัตตานี อดีตถึงศักยภาพในปัจจุบัน" และโครงการทำนา 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสน ของหอการค้าจังหวัดปัตตานี นอกจากนั้นยังมีนิทรรศการเกี่ยวกับนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล จ.ปัตตานี และการปาฐกถาพิเศษเรื่อง "เหลียวหลัง แลหน้า ศักยภาพและโอกาสเศรษฐกิจชายแดนใต้" โดย ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ประธานผู้แทนการค้าไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ด้วย
ไฮไลท์ของงานอีกส่วนหนึ่งยังอยู่ที่การเสวนาพิเศษเรื่อง “ผู้ประกอบการอยู่กันอย่างไรภายใต้ภาวะความไม่สงบ” และ "ศักยภาพเศรษฐกิจจังหวัดปัตตานี" โดยมี นายภูเบศ จันทนิมิ ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และ นายศิริชัย ปิติเจริญ กรรมการหอการค้าไทย อดีตประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี ร่วมแสดงทัศนะ
ปธ.หอค้าปัตตานี : ผู้ประกอบการที่นี่ยังสู้อยู่
นายสมศักดิ์ อิสริยะภิญโญ ประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า โครงการเปิดบ้านปัตตานีเป็นจัดงานสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของจังหวัดชายแดนภาพใต้ โดยรูปแบบงานมุ่งหวังให้เกิดผลสะท้อนกลับมาในหลายๆเรื่อง โดยเฉพาะนิทรรศการที่นำเสนอทั้งหมด 3 ประเด็น คือเรื่องการทำนา 1 ไร่ ด้วยเงิน 1 แสน ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จแล้วที่ ต.ท่าข้าม อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีเป็นประธานเกี่ยวข้าวเมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการตอกย้ำการแก้ไขปัญหานาร้างที่วิกฤติอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
เรื่องที่ 2 เป็นนิทรรศการนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลซึ่ง เรากำลังถือกำเนิดขึ้นที่ อ.ปะนาเระ เพียงแต่ยังขาดเรื่องโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ คือระบบส่งน้ำ และการสร้างโรงงานเพื่อให้ภาคประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์
เรื่องที่ 3 เศรษฐกิจปัตตานี อดีตถึงศักยภาพปัจจุบัน เป็นการสะท้อนให้เห็นตั้งแต่อดีตว่าปัตตานีมีเศรษฐกิจอย่างไร เริ่มจากเรื่องประมงจนถึงการขยายตัวไปสู่เศรษฐกิจสาขาอื่นในทุกวันนี้
"ทั้งหมดรวมทั้งการเสวนาก็เพื่อให้ทราบข้อมูลที่แท้จริงว่า เราในฐานะผู้ประกอบการมีความยากลำบากในช่วงที่เกิดภาวะความไม่สงบ แต่เราก็ยังสู้อยู่" นายสมศักดิ์ กล่าว
กก.หอการค้าไทย : สิ่งที่อยากได้คือความเชื่อมั่น
ขณะที่ นายศิริชัย ปิติเจริญ กรรมการหอการค้าไทย และอดีตประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ภาคธุรกิจในพื้นที่จะอยู่ได้หรือไม่นั้น การสร้างความเชื่อมั่นจากภาครัฐนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
"จากเดิมเศรษฐกิจที่นี่ทรุดตัวหนัก ตอนนี้อาจจะทรงตัวหรือเริ่มขยับตัวดีขึ้นบ้าง แต่ว่ายังไม่ดีเหมือนในอดีตก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ" นายศิริชัย ชี้ให้เห็นถึงสภาพจริงของดินแดนปลายด้ามขวาน
ส่วนที่มีข่าวว่ารัฐบาลเตรียมจะลดการใช้กฎหมายพิเศษ โดยเฉพาะพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น นายศิริชัย บอกว่า เรื่องกฎหมายพิเศษกระทบกับความเป็นอยู่ของประชาชน แต่ฝ่ายความมั่นคงก็มีเรื่องสถิติการเกิดเหตุรุนแรงก็ต้องควบคุมให้ดีขึ้น ซึ่งอาจจะต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือเครื่องมืออื่นใดก็แล้วแต่
ทั้งนี้และทั้งนั้น สิ่งที่ภาคธุรกิจต้องการก็คือความมั่นใจและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะความมั่นใจในการที่จะประกอบธุรกิจ
เมื่อถามว่า การออกมาแสดงตัวของบุคคลที่อ้างว่าเป็นแนวร่วมขบวนการก่อความไม่สงบ ถือเป็นสัญญาณดีหรือไม่นั้น นายศิริชัย มองว่า อาจจะเป็นข่าวดีหรือนิมิตรหมายที่ดี แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือสงบจริงไหม ตรงนั้นเป็นประเด็นหลัก
"ถ้าเกิดว่ามีการมอบตัวบางส่วนหรืออะไรก็ตามแต่ แต่ความสงบยังไม่เกิดขึ้น มันก็ยังไม่เห็นผล เพราะฉะนั้นจริงๆ ขึ้นอยู่กับความสงบ เพราะว่าการมอบตัวเราก็ไม่รู้ว่ามากันหมดไหม ผมอ่านตามข่าวก็เข้าใจว่ายังมีอีกหลายกลุ่ม ซึ่งหลายปีก่อนก็มีกระแสการมอบตัว แต่ประเด็นสำคัญคือเราเห็นด้วยกับการพูดคุยกัน การมอบตัว แสดงตัว และการเจรจากันเพื่อนำไปสู่ความสันติในพื้นที่"
ส่วนข้อเสนอที่อยากฝากถึงรัฐบาลนั้น นายศิริชัย กล่าวว่า เรื่องของความเชื่อมั่นเป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ต้องทำให้เกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่สิ่งที่จะทำให้ภาคธุรกิจของที่นี่ดำรงอยู่ได้ในสถานการณ์แบบนี้คือ "โอกาสและทางรอด" จากการเหลียวแลของรัฐบาล
"ตราบใดที่รัฐยังดูแลอยู่ ยังไม่ทอดทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างความมั่นใจ ในเรื่องของความสงบปลอดภัย รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจในพื้นที่ ก็เชื่อว่าพวกเรายังพออยู่ได้" นายศิริชัย กล่าว
เพราะพวกเราที่นี่ยังสู้อยู่!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : บรรยากาศในงานเปิดบ้านปัตตานี (ภาพโดย สมศักดิ์ หุ่นงาม)