10 ปีบ้านมั่นคงแก้ปัญหาคนจนไร้บ้านไทย ขยายสู่ 167 เมืองในเอเซีย
ปี 2546 รัฐบาลโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้เริ่มจัดทำสองโครงการด้านที่อยู่อาศัย คือโครงการบ้านมั่นคงและโครงการบ้านเอื้ออาทร ยังคงดำเนินการต่อเนื่องถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 10
โครงการบ้านมั่นคงรับผิดชอบโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เริ่มดำเนินการ 10 โครงการแค่ประมาณ 1,500 ครัวเรือน ปัจจุบันดำเนินการใน 286 เมือง มีชุมชนแออัดที่เข้าร่วม 1,637 ชุมชน ดำเนินโครงการมา 774 โครงการ 91,805 ครัวเรือนได้รับประโยชน์ และกำลังขยายรูปแบบการไปยังเมืองต่างๆทั่วเอเชีย
โครงการบ้านมั่นคงพยายามแก้จุดอ่อนการแก้ปัญหาสลัมและที่อยู่อาศัยของคนจนเมืองในอดีต โดยปรับกระบวนทัศน์และรูปแบบการทำงานใหม่ ประการแรกเปลี่ยนจากลักษณะที่หน่วยงานรัฐดำเนินการมาเป็นชาวบ้านผู้เป็นเจ้าของปัญหาดำเนินการ พอช.จะไม่หาที่ดิน ไม่ก่อสร้าง ไม่ขายบ้าน แต่โอนเงินสนับสนุนไปให้องค์กรชุมชน (ส่วนใหญ่เป็นสหกรณ์เคหะสถาน)ดำเนินการ ตั้งแต่ขั้นตอนการสำรวจข้อมูลชุมชน ครัวเรือน กำหนดทางเลือกการปรับปรุงชุมชน ออกแบบบ้าน ออกแบบชุมชน ไปจนถึงการก่อสร้างบ้าน ด้วยความเชื่อว่าที่ว่าหน่วยของรัฐที่มีกำลังคนจำกัดไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทันการขยายตัวของสลัม ตราบใดที่ไม่ยอมให้ชุมชนเจ้าของปัญหามาแก้ปัญหาของตนเอง ชาวบ้านคนจนเมืองยืนยันว่าเขาเป็นคนจน แต่ไม่ใช่คนพิการ เป็นคนไม่มีบ้านแต่ไม่ได้ไม่มีความหวัง โครงการบ้านมั่นคงยืนยันในหลักการพัฒนาที่ชุมชนเป็นแกนกลางอย่างแท้จริง
ประการที่สองเปลี่ยนจากที่ชาวบ้านกู้เงินธนาคารมาซื้อบ้านมาเป็นการให้เงินอุดหนุนสาธารณูปโภคและให้เงินสินเชื่อกับชาวบ้านโดยตรง ชาวบ้านเป็นคนตัดสินใจว่าจะใช้งบประมาณก่อสร้างสาธาณูปโภคกับอะไร อย่างไร ในส่วนของสินเชื่อนั้นอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 4 ต่อปี ผ่อนส่งในระยะเวลา 15 ปีและกู้ได้ทั้งเรื่องบ้านและที่ดินไม่เกิน 300,000 บาทต่อราย พอช.จะให้กู้ในนามกลุ่มไม่ให้กู้รายบุคคล ก่อนการกู้เงิน ชาวบ้านทุกคนต้องออมทรัพย์จนได้เงินอย่างน้อย 10% ของเงินที่จะกู้ โครงการส่วนใหญ่มีการจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหะสถานที่จะเป็นองค์กรชุมชนทำหน้าที่บริหารจัดการชุมชนไปอย่างน้อย 15 ปี (ตามระยะเวลากู้เงิน)
ประการที่สาม เปลี่ยนจากการทำโครงการนำร่อง เป็นการทำทั้งเมือง มีการสำรวจสลัมทั้งเมือง แล้ววางแผนว่าจะแก้ปัญหาที่ชุมชนไหนก่อน แล้วลงมือดำเนินการ โดยมีเป้าหมายสุดท้ายว่าจะแก้ปัญหาสลัมทุกแห่งในเมืองนั้น เพื่อไปสู่เมืองที่ปลอดสลัมในที่สุด
นอกจากนั้น โครงการยังมีแนวทางการทำงานร่วมมือกับทุกฝ่าย ทั้งเทศบาล องค์กรพัฒนาเอกชน มหาวิทยาลัย ฯลฯ การทำงานพัฒนาแบบองค์รวม ไม่ใช่ทำเฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัย แต่ยังส่งเสริมเรื่องพลังงานทางเลือก สวัสดิการชุมชน การจัดการสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตทางด้านอื่นๆ
ปัญหาสลัมเป็นปัญหาสำคัญของโลก ยิ่งพัฒนาเท่าไหร่ ยิ่งมีเมืองมากขึ้นเท่าไหร่ สลัมก็มีมากขึ้นเท่านั้น คุณสมสุข บุญญะบัญชา อดีตผู้อำนวยพอช.และเลขาธิการมูลนิธิศูนย์ศึกษาที่อยู่อาศัยแห่งเอเซีย (ACHR) ระบุว่าในเอเชียมีคน 800 ล้านคนอยู่ในสลัม และการแก้ปํญหาแบบเดิมๆรับรองได้ว่าไม่สามารถตามทันการขยายตัวของสลัมและยิ่งทำให้ชุมชนอ่อนแอ เพราะรอรับแต่การช่วยเหลือจากรัฐ ACHR จึงได้ใช้รูปแบบและแนวคิดของบ้านมั่นคงในประเทศไทย ขยายการทำงานออกไปยัง 167 เมืองใน 18 ประเทศของเอเชีย คือเขมร อินโดนีเซีย เนปาล พม่า เกาหลี ฟิลิปปินส์ เวียตนาม ศรีลังกา มองโกเลีย ฟิจิ อินเดีย ลาว ปากีสถาน จีน ญี่ปุ่น บังคลาเทศ มาเลเซียและอาฟกานิสถาน มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้น 6,882 กลุ่ม มีเงินออมรวมกันกว่า 672 ล้านบาท
สี่ห้าปีที่ผ่านมานั้น มีผู้นำชุมชน ข้าราชการและนักวิชาการต่างประเทศสองสามร้อยคนมาดูงานโครงการนี้ในประเทศไทย หนึ่งทศวรรษของประสบการณ์บ้านมั่นคงในประเทศไทย บอกเราหลายอย่างเหลือเกิน เช่นว่า
- คนจนเมืองออมทรัพย์ได้แน่นอน เพราะปัจจุบันกลุ่มออมทรัพย์ในโครงการมีเงินรวมกันกว่า 236 ล้านบาทบางชุมชนออมรายเดือน บางแห่งรายสัปดาห์และบางแห่งออมรายวันตามสภาพเศรษฐกิจ
- คนจนบริหารโครงการมูลค่าหลายสิบล้านบาทได้ ถ้าสนับสนุนอย่างเหมาะสมและให้โอกาสชาวบ้าน
- เมื่อคนมีบ้านและที่ดินที่มั่นคง คนจะพัฒนาเรื่องอื่นๆทุกเรื่อง เพราะมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน 70 แห่ง จัดการสิ่งแวดล้อมเมือง 68 แห่ง พัฒนาออาชีพกว่า 51 แห่ง จัดการเรื่องสุขภาพกว่า 81 แห่ง พัฒนาบ้านกลางในสมาชิกกว่า 64 แห่งและพัฒนาพลังงานทางวเลือก 7 แห่งเป็นต้น
- ผู้หญิงเป็นกำลังสำคัญของโครงการบ้านและแออมทรัพย์ มีผู้นำหญิงในโครงการมากกว่า 35,000 คน
- บ้านที่ชาวบ้านสร้างเองราคาถูกกกว่าจ้างช่างรับเหมา 40-50%
- การแก้ปัญหาสลัมทั้งเมืองเป็นไปได้แน่นอน เพราะปัจจุบันเกือบ 300 เมืองทำงานตามแนวคิดนี้
และสุดท้าย เป็นการพิสูจน์ว่าการพัฒนาที่ชุมชนเป็นแกนกลางนั้น เป็นไปได้แน่นอน เพราะคนสลัมทั่วประเทศพิสูจน์เรื่องนี้มาเป็นปีที่สิบแล้วและคนสลัมในเอเชียจำนวนมากกำลังทำเช่นนี้ด้วย
สิบปีที่ผ่านมา โครงการบ้านมั่นคงแก้ปัญหาให้คนจนเมืองมีความมั่นคงที่อยู่อาศัยกว่า 90,000 ครัวเรือน แต่ผลการสำรวจในปี 2551 พบว่าประเทศไทยมีคนจนที่เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยกว่า 720,000 ครัวเรือน หนทางสร้างเมืองที่ปลอดสลัมนั้นยังอีกยาวไกล.....แต่เป็นไปได้แน่นอน .