หวั่นเงินละลายไปกับน้ำท่วม-น้ำแล้ง นักวิชาการ เร่งรัฐทุบโต๊ะตัดสินใจ ลุ่มน้ำยม
นักวิจัยชี้การศึกษาลุ่มน้ำยมยืดเยื้อ 20-30 ปี ใช้เงินนับพันล้าน ย้ำชัดรัฐต้องพิจารณาให้ชัดเจน สร้างเขื่อนเป็นประโยชน์หน้าแล้ง แต่ถ้าไม่สร้าง คนข้างล่างลุ่มน้ำยมนับล้านจะได้รับความเสียหาย
เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2555 หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการศึกษาวิเคราะห์ระบบการจัดการน้ำลุ่มน้ำยมโดยใช้กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบบูรณาการ ตามที่กระทรวงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบและนำผลการศึกษาไปเป็นกรอบในการกำหนดแผนงาน/โครงการในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานต่อไปนั้น
ต่อมา นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ. ) ก็ออกมาประกาศว่าจะเดินหน้าสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ในพื้นที่แม่น้ำยม โดยจะเริ่มกระบวนการก่อสร้างต้นเดือนเมษายนปีหน้า
ในเรื่องนี้ ในฐานะผู้ศึกษาวิเคราะห์ระบบการจัดการลุ่มน้ำยม รศ.ดร.อรพินท์ เอี่ยมศิริ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวกับศูนย์ข่าวสารนโยบายสาธารณะ สำนักข่าวอิศรา ว่า การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของนโยบายดังกล่าว ดำเนินการภายใต้มติ ครม.ผ่านกรมชลประทาน เริ่มทำการศึกษาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2552 มาเสร็จสิ้น เดือนมีนาคม 2554 และมาเข้า ครม.ในวันที่ 28 สิงหาคม 2555 ครั้งนี้ค่อนข้างมั่นใจว่า จะเป็นการศึกษาครั้งสุดท้ายของลุ่มน้ำยม และเขื่อนแก่งเสือเต้นน่าจะเกิดขึ้นได้
รศ.ดร.อรพินท์ กล่าวถึงทางเลือกที่ชาวบ้านและหน่วยงานหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เห็นพ้องกัน คือ 1.การพัฒนาในมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้างและมาตรการใช้สิ่งก่อสร้าง ทั้งโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางและแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ได้แก่ เขื่อนแม่น้ำยม และเขื่อนแม่น้ำยมตอนบน ประมาณ 15,000 ล้านบาท และ 2.การพัฒนาในมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้างและมาตรการใช้สิ่งก่อสร้าง ทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางและแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ได้แก่ เขื่อนแก่งเสือเต้น ประมาณ 6,000 กว่าล้านบาท รวมค่าชดเชยต่างๆ โดยที่เขื่อนแก่งเสือเต้นเก็บน้ำได้มากกว่าและมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า
“ที่ผ่านมาการศึกษาลุ่มน้ำยมยืดเยื้อมา 20-30 ปี ใช้เงินเป็นพันๆ ล้านบาท ทั้งที่พื้นที่ดังกล่าวมีคนอยู่เพียงไม่มาก และคนกลุ่มนี้เข้ามาอยู่โดยบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน ซึ่งผิดกฎหมายแต่แรก เรื่องนี้จะต้องพิจารณาให้ชัดเจน ทั้งนี้ โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นโครงการพระราชดำริตั้งแต่ต้น ตัวอย่างในอดีต เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ แรกเริ่มก็มีคนต่อต้าน มาช่วงหลังก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ปัจจุบันนี้ชีวิตความเป็นอยู่ก็ดีขึ้น เฟื่องฟู เพราะมีน้ำใช้” รศ.ดร.อรพินท์ กล่าว และว่า ในทางกลับกัน พื้นที่ลุ่มน้ำยม คนด้านบนไม่มีน้ำใช้ แต่คนด้านล่างน้ำท่วมและน้ำแล้ง จึงเห็นควรว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นควรเกิดขึ้น
ส่วนเสียงคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นมาตลอดมา ที่ระบุว่า ต่อให้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นน้ำก็ยังท่วมอยู่ดีนั้น นักวิจัยลุ่มน้ำยม กล่าวว่า นั่นก็เป็นคำพูดที่ถูกต้อง หากฝนตกด้านล่างเขื่อน แต่เขื่อนก็จะช่วยกันน้ำได้ในส่วนหนึ่ง และน้ำในส่วนนี้จะเป็นประโยชน์ในหน้าแล้ง เพราะหากไม่เก็บไว้เลย ไม่ว่าฝนจะตกเหนือหรือใต้เขื่อน ก็จะกลายเป็นน้ำท่วม
รศ.ดร.อรพินท์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันลุ่มน้ำยมมีความสามารถในการเก็บน้ำได้เพียง 10% เท่านั้น นอกนั้นปล่อยทิ้งและกลายเป็นปัญหา ทั้งนี้ ตลอด 2-3 ปีที่ทำการศึกษา พบว่า จำนวนผู้บุกรุกมาอาศัยเพิ่มขึ้น จาก 800 กว่า เป็น 1,000 กว่าครัวเรือน โดยไม่สามารถควบคุมอะไรได้ ประเทศชาติก็จะมีแต่สูญเสียไปเรื่อยๆ จึงควรมีการตัดสินใจอย่างยิ่ง ซึ่งตามกระบวนการแล้ว เมื่อทำการศึกษาเสร็จต้องส่งกลับไปให้ ครม.ตัดสินใจ แต่ครั้งนี้กลายเป็น ครม.แค่รับทราบ
รศ.ดร.อรพินท์ กล่าวถึงเหตุผลประการต่อมาที่รัฐบาลควรเร่งตัดสินใจ ด้วยเพราะน้ำท่วม น้ำแล้งเป็นเรื่องที่แก้ยาก เพราะบางทีฝนตกใต้เขื่อน และเหนือเขื่อน เมื่อไม่มีเขื่อนรองรับ เข้าหน้าแล้งก็ไม่มีน้ำใช้ ส่งผลต่อ 11 จังหวัดลุ่มน้ำยม ซึ่งจะมีการเบิกเงินของภาครัฐปีละ 100 ล้านบาทต่อจังหวัด เพื่อแก้ภัยแล้งและน้ำท่วม รวมแล้วกว่า 1 หมื่นกว่าล้าน เป็นเวลาหลายปีผ่านมา รวมแล้วเกินค่าเขื่อนมาเยอะมาก
“ แม้เขื่อนแก่งเสือเต้นจะผ่านการทำ EIA และออกแบบเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ผ่าน EHIA ยังไม่ได้ขออนุมัติก่อสร้าง เงินคงจะใช้ไม่ได้ในทันที และเอ็นจีโอก็เข้ามาให้ศึกษาต่อ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าสักทอง ว่ามีเหลืออยู่จริงหรือไม่ ทางกรมอุทยานและจิสด้าก็ลงไปศึกษา พบว่ามีการบุกรุกและตัดไม้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งพบว่าการฉวยโอกาสบุกรุกเกิดขึ้นทุกเขื่อน รวมกว่า 21 ล้านไร่ รัฐบาลจึงต้องตัดสินใจทำให้เป็นเรื่องเป็นราว ไม่อย่างนั้นเงินจะละลายไปกับน้ำ แทนที่จะนำไปทำประโยชน์อย่างอื่น”
รศ.ดร.อรพินท์ กล่าวอีกว่า แม้การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นอาจกระทบท่วม 3 หมู่บ้าน 800 กว่าครัวเรือน แต่ถ้าไม่สร้าง คนข้างล่างลุ่มน้ำยมนับล้านจะได้รับความเสียหาย เพราะ 60-80% คือพื้นที่ใต้เขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งเศรษฐกิจลุ่มน้ำยมขึ้นอยู่กับเขื่อน เนื่องจากหน้าแล้งไม่มีน้ำ ก็ไม่มีการเพาะปลูก ไม่มีเศรษฐกิจที่ดี และผลการศึกษาชิ้นนี้ก็ชี้ให้เห็นว่า การก่อสร้างจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อทั้งลุ่มน้ำได้
“การลงพื้นที่ศึกษา พบว่า ชาวบ้านกว่า 90% เห็นด้วยให้ดำเนินก่อสร้างการโดยเร็ว เพราะอยากจะแก้ปัญหา แต่ตอนนี้กลับยังไม่มีคนตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการที่ ครม.มีมติรับทราบผลการศึกษาในครั้งนี้จะทำให้เลือกสักทางเลือก หรือได้สร้างอะไรสักอย่าง ที่ครั้งนี้จะต้องแตกต่าง ไม่ยืดเยื้ออย่างที่ผ่านมา ครม.ต้องฟันธง และแม้จะมีเสียงคัดค้านก็ตาม”
**** ติดตามอ่าน บทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม เร็วๆ นี้ ****
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง:
ตัวเลขปริมาณน้ำ มัดคอ กบอ. และรัฐมนตรีดันเขื่อน
น้ำท่วมสุโขทัย กับการอ้างสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
4 ทางเลือก ผลศึกษาวิเคราะห์ระบบการจัดการน้ำลุ่มน้ำยม
ความจริงประเทศไทย...เหลือเพียง 5 จังหวัด ที่มีป่าไม้ปกคลุมเกิน 70%
กบอ.เดินหน้าลุย! บริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ต้องมี “เขื่อน"