สมัชชาสุขภาพ เตรียมชงแก้สารเคมีเกษตร ให้คนไทยกินปลอดภัยเท่าส่งออก
สช.ระดมสมองร่างนโยบายสุขภาพ ห่วงคนไทยขาดหมอหนัก แก้ปัญหาสารเคมีเกษตรให้คนไทยกินอาหารปลอดภัยเท่ามาตรฐานส่งออก แนะ อปท.ร่วมดูแลวัดถูกมาเฟียการค้าคุกคาม
เมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น 9 ร่างข้อเสนอเชิงนโยบาย ที่จะเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ 18-20 ธ.ค.55 โดยมีนางศิรินา ปวโรฬารวิทยา เป็นประธานจัดงาน โดยผลการระดมความคิดเห็นครั้งนี้จะนำไปปรับปรุงร่างมติพร้อมรับฟังความคิดเห็นจากภาคีทั่วประเทศ ก่อนเข้าสู่การประชุมใหญ่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติปลาย ธ.ค.
รศ.ดร.สุพัตรา ชาติบัญชาชัย อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่าที่ประชุมมีความเห็นต่อร่างมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติดังนี้ 1.การปฏิรูปวิชาชีพด้านสุขภาพทั้งแพทย์และพยาบาล ที่ประชุมล่าสุดกล่าวถึงการปรับปรุงระบบการเรียนการสอนและสร้างให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม อันเป็นจุดเริ่มต้นสู่การปฏิรูประบบบริการที่ดีขึ้น 2.เรื่องความปลอดภัยทางอาหาร : การแก้ไขปัญหาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ปีนี้พุ่งเป้าไปสู่การแก้ปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ปรับปรุงระบบที่เป็นอยู่ให้สอดรับสถานการณ์ทางการค้าทั้งในและนอกประเทศ นอกจากนี้ยังเน้นย้ำกลไกเชื่อมโยงประสาน-พัฒนาข้อมูลเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูล
“การประชุมครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐอย่างสมานฉันท์ ทำให้เกิดความหวังให้สังคมไทยมีอาหารปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช มีความปลอดภัยทัดเทียมกับสินค้าที่ส่งออกไปขายยังต่างประเทศ" ดร.สุพัตรากล่าว
ดร.ไชยยศ บุญญากิจ รองประธานสถาบันสิ่งแวดล้อม กล่าวต่อว่าที่ประชุมยังมีความเห็นในประเด็นโรงไฟฟ้าชีวมวลต้องนำไปสู่การเป็นพลังงานชุมชน ไม่ใช่ก่อสร้างเพื่อนำพลังงานไปใช้ป้อนระบบใหญ่ และเรียกร้องให้รัฐพิจารณาเป้าหมายและวิธีคิดในการพัฒนาประเทศประกอบด้วย ไม่ใช่มุ่งแต่การเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยจีดีพีเป็นหลัก นอกจากนั้น ยังมีข้อเสนอให้ดูแลวัตถุดิบในการผลิตในโรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่อป้องกันปัญหาการเผาป่าปลูกข้าวโพดของชาวบ้านเพื่อนำไปขายให้โรงไฟฟ้าชีวมวล และควรมีการกำหนดว่าการตั้งโรงไฟฟ้าว่าต้องห่างจากชุมชนเท่าไหร่
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรมป้องกัน กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าที่ประชุมเป็นห่วงกรณีพระสงฆ์ถูกคุกคามเรื่องธุรกิจ ที่จอดรถ การค้าขายในบริเวณวัด กระทบสุขภาพจิตและกาย จึงเสนอว่าทางวัดควรบริหารจัดการอย่างเป็นเอกภาพ และองค์กรท้องถิ่นควรเข้ามามีบทบาทช่วย และยังมีข้อเสนอให้ดูแลร้านค้าที่จำหน่ายเครื่องสังฆทาน ที่นำผงซักฟอก สบู่ เข้าไปผสมรวมกับอาหารที่ใช้ถวายพระ ทำให้มีกลิ่นและอาจผสมเข้าไปในอาหาร โดยที่ประชาชนไม่รู้ก็หลงซื้อไปถวายพระซึ่งถือว่าเป็นอันตราย
สำหรับร่างมตินโยบายสาธารณด้านสุขภาพนี้ จะจัดรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทั้ง 4 ภาค โดยจัดที่ กทม. ขอนแก่น ตรัง และเชียงใหม่ ต่อไปด้วย .
ขอบคุณภาพจาก
สาขาวิชาเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น