เสวนาไร่ส้ม จี้ สปอนเซอร์ถอนโฆษณา-เรียกร้องช่อง 3 รับผิดชอบต่อสังคม
ปธ.สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ชี้สื่อมีมลทินมัวหมอง เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์วิชาชีพ-บั่นทอนความไว้ใจ ปชช. นักวิชาการด้านสื่อ ยก 'เฮียฮ้อ' อาร์เอส สั่งแบนนักร้องแตกแถว ติดยา-ทำสาวท้อง เทียบช่อง 3
ตามที่นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ประกาศข่าวชื่อดังถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดว่า สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของ อสมท ทำการทุจริต ทำให้นายสรยุทธ ในนามของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด สามารถยักยอกเงินค่าโฆษณาของ อสมทไปเป็นเงิน 138 ล้านบาท แม้ต่อมานายสรุยทธ จะได้ชี้แจงว่า ได้คืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ อสมท แล้ว และพร้อมที่จะดำเนินการต่อสู้คดีทุจริตในชั้นศาลต่อไป แต่อย่างไรก็ตามกรณีดังกล่าวกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากทั้งในและนอกวงการสื่อสารมวลชน
วันที่ 4 ตุลาคม ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย จัดเสวนากรณีไร่ส้ม...บทพิสูจน์ความเข้มแข้งของสังคมในการต่อต้านคอร์รัปชั่น ที่อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถ.สามเสน กทม. โดยมี ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล นักสื่อสารมวลชนอาวุโส มล.ผกาแก้ว บุญเลี้ยง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการกำกับตลาดทุน รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ดร. เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม รองประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ผอ.สำนักข่าวทีนิวส์ นายจักร์กฤษ เพิ่มพูน ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ร่วมเสวนา
นายประมนต์ กล่าวเริ่มต้นการเสวนาว่า เวทีการพูดคุยในวันนี้ ต้องการให้ตอบโจทย์ที่ว่า หากสื่อ ซึ่งมีอิทธิพลในการชักจูงความคิดประชาชนได้ประพฤติมิชอบ จะคิดและแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและต่อหน้าที่การงานอย่างไร นายจ้างจะสนับสนุนรายการให้ลูกจ้างในสังกัดหรือไม่อย่างไร จะเสื่อมเสียต่อองค์กรหรือไม่ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกิจการและผู้สนับสนุนโฆษณา จะมีความคิดปฏิกิริยาอย่างไร เมื่อการประพฤติไม่สอดคล้องจรรยาบรรณ ท้ายที่สุดประชาชนจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อบุคคลที่ชื่นชอบ แต่มีพฤติกรรมประพฤติมิชอบ โดยที่จะไม่มุ่งเน้นไปที่ตัวบุคคล แต่ต้องการสะท้อนให้เกิดการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงวงการสื่อต่อไป
ขณะที่นายสนธิญาณ กล่าวปูพื้นถึงกรณีดังกล่าวว่า ภายหลังที่คณะอนุกรรมการทำการสอบสวนและนำเสนอต่อ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ต่อกรณีบริษัทไร่ส้ม ในฐานะผู้ผลิตรายการและ อสมท ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2547-2549 ที่ทำคู่สัญญาผลประโยชน์ทางธุรกิจ และแบ่งประโยชน์การโฆษณา ซึ่งจากปกติเจ้าของสถานีอื่นๆ จะเข้าไปซื้อขาดเวลา หรือมีการผลิตและแบ่งเวลาขายโฆษณา
นายสนธิญาณ กล่าวต่อว่า เมื่อรายการของบริษัทไร่ส้มได้รับความนิยม เวลาโฆษณา เดิม 5 นาทีจึงไม่เพียงพอ ต่างฝ่ายก็ขายโฆษณา ซึ่งโฆษณาเบนมาที่บริษัทไร่ส้มมาก จึงต้องไปยิงโฆษณาในส่วนของ อสมท กระทั่งโฆษณาล้นในปี 2548 ทั้งนี้ ในวิถีปฏิบัติของการบริหารสถานี จะมีฝ่ายผังรายการ ทำหน้าที่จัดผัง และนำโฆษณามาบรรจุ ฝ่ายขายโฆษณา จะทำใบสั่งโฆษณาที่ระบุสินค้าและช่วงเวลานำเสนออย่างละเอียด สุดท้ายฝ่ายบัญชีและการเงิน ทำบัญชีเรียกเก็บเงิน แต่กระบวนการของบริษัทไร่ส้มไม่เป็นไปตามขั้นตอน
"มีช่วงเวลาที่เกิน 5 นาที โดยเจ้าหน้าที่ธุรการฝ่ายผังรายการที่บรรจุรายการ แต่ไม่ทำใบผัง แล้วปล่อยให้โฆษณาออกอากาศ และไปเรียกเก็บเงินจากลูกค้า กระทั่ง อสมท ตรวจพบตัวเลขความผิดปกติของบริษัทไร่ส้ม ในปี 2548 ประมาณ 40 ล้านบาท ปี 2549 ตรวจพบ 98 ล้านบาท และทั้งนี้ ยังพบว่ามีความพยายามทำลายหลักฐานด้วย ซึ่งสรุปได้ว่ามีการยิงโฆษณาเกินไป 138 ล้าน ซึ่งบริษัทไร่ส้มได้จ่ายเงินคืนให้ อสมท แล้ว คู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับแล้วว่ากระทำการทุจริต โดยมีเช็คเป็นหลักฐาน
สำหรับ บริษัทไร่ส้ม ที่เจตนาเป็นผู้สนับสนุนและมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดตามกฎมาย ป.ป.ช.หรือไม่ ทางบริษัทรู้อยู่แล้ว เพราะมีการเรียกเก็บเงินและมีเจตนาเอาเปรียบ อสมท แต่ทางกฎหมาย ป.ป.ช. อาจยังไม่ถือว่าเป็นตัวการ แต่เมื่อตรวจสอบผู้บริหารบริษัทไร่ส้ม (นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา) จึงพบว่า เซ็นเช็คให้เจ้าหน้าที่ด้วยตนเอง 7 แสน โดยที่ไม่ระบุว่าเป็นค่าอะไร"
นายสนธิญาณ กล่าวถึงองค์กรสื่อในปัจจุบันด้วยว่า ยังไม่มีความเข้มแข็งพอ ยังอ่อนแอมาก เพราะไม่มีอำนาจทางกฎหมาย ขณะที่โลกทุนนิยมพัฒนาสลับซับซ้อน ขณะที่ อาชีพแพทย์ ทนายความมีใบประกอบวิชาชีพ เมื่อทำผิดถูกถอนได้ ดังนั้น เมื่อสื่อทำเรื่องบิดเบือน สังคมและประเทศชาติเสียหาย กลับไม่มีบทบาทนี้ เพราะศักดิ์ศรีทางวิชาชีพเป็นเรื่องสำคัญ แต่ทุกวันนี้ถูกพันธนาการ จึงถึงเวลาพิจารณาทบทวนตัวเองเหมือนกัน ไม่อย่างนั้นจะได้แค่การเรียกร้อง ไม่มีมาตรการอย่างอื่น
สื่ออาวุโส แนะกรรมกรข่าว หยุดพิสูจน์ตัวเอง
ด้านดร.สมเกียรติ กล่าวว่า กรณีสรยุทธ ถือเป็นกรณีศึกษา ที่แตกต่างจากรณีอื่นๆ เนื่องจากเป็นทั้งนักธุรกิจและสื่อสารมวลชน ซึ่งการทุจริตในธุรกิจสื่อเกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบ อย่างการทุจริตระหว่างผู้เช่า กับสถานี ยังอ้อยอิ่งต่อเนื่องมายาวนาน ทั้งที่ ป.ป.ช.ชี้มูลแล้ว แต่กลับไม่มีการสอบสวน โดยที่ความผิดเช่นนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางความผิดมากมายในสังคม เช่น การรับเงินเพื่อบิดเบือนข่าวสารที่เกิดขึ้นตลอด และการรายงานข่าวแบบผิดๆ ถูกๆ ทุกเช้า รายงานตามความรู้สึก ตามอารมณ์ความคิดเห็น เช่นที่ว่า "ถ้าผมจำไม่ผิด... เป็นอย่างนั้น... หรือยังไง..." ซึ่งเป็นความผิดเรื่องการให้ข่าวสารความจริง
"ปัญหากรณีบริษัทไร่ส้ม ในเรื่องความผิดทางธุรกิจตามที่ ป.ป.ช.ชี้มูลและดำเนินต่อ คงต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ ซึ่งสรยุทธ์ก็ได้ใช้เวลาสาธารณะของช่อง 3 มาชี้แจง" ดร.สมเกียรติ กล่าว และว่า ในเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพเกิดขึ้นมาตลอด แต่สังคมเฉยเมย และเหตุที่กรณีสรยุทธ์พิเศษกว่ากรณีอื่น เนื่องจาก 2 สถานะ คือ นักธุรกิจ และสื่อมวลชน จึงต้องรับผิดชอบทั้ง 2 เรื่อง และแต่ละเรื่องก็มีจรรยาบรรณกำกับอยู่แล้ว แม้ไม่มีกฎหมายบังคบ แต่จรรยาบรรณจะทำให้การดำรงอาชีพอยู่ได้
"กระบวนการยุติธรรมช้า แต่วิชาชีพคงรอไม่ได้ ความรับผิดชอบต้องเกิดขึ้นทันที จะด้วยวิธีใดก็ตาม เช่น หยุดแล้วพิสูจน์ตัวเอง แต่หากจะคอยกระบวนการทางกฎหมาย ก็เป็นหน้าที่ของพลเมือง ที่สามารถแสดงความเห็น กดดันและถกเถียงให้เห็นว่าต้องมีการรับผิดชอบต่อการกระทำที่เกิดขึ้น สำหรับสปอนเซอร์ควรถอนการสนับสนุนจนกว่าจะพิสูจน์ตัวได้ และทางช่อง 3 เองก็ต้องคำนึงว่าคลื่นความถี่เป็นของประชาชน ควรพูดคุยกัน เพื่อหาทางออกที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ในภาพรวม หวังว่าประโยชน์จากเรื่องนี้จะขยายไปกระทบเรื่องทำนองเดียวกันนี้ แต่ใหญ่และกว้างกว่า ซึ่งไม่ถูกหยิบยกมาพูดคุยกันนัก"
ส่วนม.ล.ผกาแก้ว กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 ขณะที่กระบวนการสืบสวน กล่าวโทษและพิจารณาของศาล คาดว่ากว่าจะดำเนินการแล้วอาจต้องใช้เวลาถึง 20 ปี สิ่งเหล่านี้เป็นความอ่อนแอของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายของไทย และความล่าช้าที่เกิดขึ้นนี้ กระตุ้นให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น
สำหรับความเปลี่ยนที่จะเกิดขึ้นหลังมีการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้ ม.ล.ผกาแก้ว มองว่า ในด้านผู้ชมที่ชื่นชอบ คงเลือกที่จะเพิกเฉย อาจเป็นเพราะข้อมูลที่ ป.ป.ช.ให้นั้นสั้นมาก ความยังไม่ประจักษ์ ป.ป.ช.อาจต้องทำอะไรที่มีความชัดเจนมากกว่านี้ และในเรื่องนี้คงต้องมองไปถึงปัญหาด้านกฎหมายไทย เรื่องการถนอมตนของผู้ถูกกล่าวหาด้วย ส่วนในด้านเจ้าของ ผู้ว่าจ้าง คู่สัญญาต่างๆ นั้น ควรคิดในเรื่องเชิงพาณิชย์ให้น้อยลง หันมานึกถึงความถูกต้องมากขึ้น ขณะที่บริษัทใหญ่ ควรถอนสปอนเซอร์ทันที พร้อมกันนี้ยังอยากเรียกร้องให้องค์กรวิชาชีพสื่อ แก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเริ่มจากตัวเองก่อน ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้จรรยาบรรณ คุณธรรมที่ดีในสังคมเสื่อมสลายไป
แนะเอาแบบอย่าง ตปท. แสดงความรับผิดชอบ ก็อยู่ในวงการได้
ขณะที่รศ.ดร.สังศิต กล่าวว่า ต้นเหตุมาจากนโยบายรัฐบาลที่มุ่งให้รัฐวิสาหกิจ แปรรูปเป็นบริษัทจำกัด เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งสามารถทำได้ แต่การเปลี่ยนแปลงย่อมมีจุดอ่อน และช่องโหว่ เช่นเดียวกับ อสมท ยังมีความว่า กรรมการและผู้บริหารระดับสูงรู้เห็นด้วยหรือไม่ และมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ ประเด็นเหล่านี้น่าสนใจ เพราะจากรายงานที่ทำการศึกษา พบว่า ทาง อสมท และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่เข้ามาร่วมตรวจสอบ ด้วยเกรงจะกระทบหน้าที่การงาน มีความเกี่ยวพันและประโยชน์ทับซ้อน การกระทำผิดของผู้บริหารกลับมีบอร์ดออกมาปกป้อง เป็นที่น่าสนใจว่ามีการต่างตอบแทนหรือไม่
"ข้อมูลนี้สะท้อนธรรมาภิบาลขององค์กร เพราะตลอด 2 ปีของคดี คนที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตในเหตุการณ์นี้ ไม่เข้ามาร่วมตรวจสอบ กระทั่งเปลี่ยนบอร์ดใหม่ จึงมีการตรวจสอบพบ ซึ่งปัญหาของการตรวจสอบนี้ เกี่ยวข้องกับทางกฎหมายด้วยหรือไม่ที่ไม่สามารถนำผู้กระทำผิด เช่น ผู้บริหารระดับสูงมาลงโทษได้ กลายเป็นเจ้าหน้าที่ระดับล่างที่รับผิดผู้เดียว ความเสียเปรียบเหล่านี้ คนที่มีหน้าที่ดูแลกฎหมายเหตุใดไม่ถูกตรวจสอบด้วย อย่างไรก็ตาม การทุจริตในธุรกิจทีวี อย่างการโฆษณาเกินเวลามีหลายบริษัท เช่น บริษัทจินตภา"
รศ.ดร.สังศิต กล่าวต่อว่า การนำเสนอของสรยุทธ์ ควรมองในแง่จริยธรรม ที่สำคัญต่อสังคมทุกวันนี้ ส่วนเรื่องผลประโยชน์ กำไร และเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ทางช่อง 3 ต้องถ่วงดุลให้ดี เพราะสรยุทธ์เป็นบุคคลสาธารณะ อย่างไรก็ตามในต่างประเทศ แม้จะถูกตัดสินความผิดแล้ว เมื่อรับผิดชอบและเสร็จสิ้นคดีก็สามารถกลับเข้ามาสู่อาชีพได้ อย่างกรณีมาร์ธา สจ๊วต นักจัดรายการชื่อดัง
ปลุกกระแสสังคมเอาจริง อย่าเห่าแล้วไม่กัด
ดร.เสรี กล่าวว่า บทบาทหน้าที่สื่อสารมวลชน ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็เป็นครูไปโดยปริยาย โดยเฉพาะสื่อที่ดัง ประชาชนจะรับฟังมาก ฉะนั้น คนที่เป็นสื่อ ต้องมีหัวใจยกระดับ สิ่งที่สื่อทำ ต้องเป็นสิ่งที่สูงส่ง ไม่ควรทำอะไรเลวร้ายหรือต่ำทราม สื่อต้องรู้จักบทบาทหน้าที่ตนเอง พูดอะไรควรทำเช่นนั้น คำพูดจึงจะศักดิ์สิทธิ์ มีความหมาย หากวิพากษ์วิจารณ์ใครแล้วตนเองก็ต้องไม่ทำ
"ในทางทฤษฎี สื่อจะต้องรับผิดชอบต่อสังคม คิดถึงผลลัพธ์เสมอว่าจะกระทบต่อสังคมอย่างไร ทั้งตัวข่าวและสิ่งที่แสดงออก เพราะจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้แก่สังคม หากรับผิดชอบต่อสังคมไมได้ ก็ควรจะออกไปจากตรงนี้เสีย เพราะคำว่ามืออาชีพ จะต้องมีจรรยาบรรณ ไม่ว่าจะอยู่ในสมาคมวิชาชีพหรือไม่ รวมทั้งปฏิบัติตามด้วย เช่นเดียวกับที่สื่อเรียกร้องต่อข้าราชการ หรือนักการเมืองให้แสดงความรับผิดชอบออกจากตำแหน่ง เพื่อให้การสืบสวนเสร็จสิ้นก่อน ไม่ทำงานขณะที่มีมลทินสีเทาและยังไม่ได้พิสูจน์ สำหรับเจ้าของธุรกิจ ที่หากเฉยเมยก็เท่ากับว่าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องต่อสังคม" ดร.เสรี กล่าว และว่า ยกตัวอย่างกรณีนายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ หรือ เฮียฮ้อ (อาร์เอส) ที่แสดงความรับผิดชอบต่อการที่นักร้องในสังกัดมีความเกี่ยวข้องในคดียาเสพติด ทำผู้หญิงท้อง เมาแล้วขับ โดยสั่งให้พักงาน เพื่อแสดงให้เห็นว่าเจ้าของสังกัดแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม แต่หากเจ้าของกิจการเฉยเมย เท่ากับว่าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดให้เกิดพฤติกรรมไม่ถูกต้องต่อสังคม
ดร.เสรี กล่าวต่อว่า สำหรับบริษัทที่เป็นสปอนเซอร์ของรายการ ก็อาจเข้าค่ายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดด้วยหรือไม่ และจะทำอย่างไรเพื่อแสดงความรับผิดชอบ ซึ่งหลายบริษัทเป็นบริษัทใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ และเป็นสมาชิกในภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นที่สวมบทบาทเป็นหมาเฝ้าบ้าน จึงต้องไม่เป็นหมาที่เห่าอย่างเดียว แต่ต้องกัดด้วย
"หากสมาคมวิชาชีพ สื่อและสปอนเซอร์รายการยังเพิกเฉย ไม่ถอนตัวชั่วคราว หรือประชาชนยังดูรายการต่อไป เท่ากับว่าไม่มีการกัด อยากวิงวอนให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งนิสิตนิเทศศาสตร์ อาจารย์ นักวิชาการสื่อ ให้ลุกขึ้นมารักษาเผ่าพันธุ์และแสดงทัศนะ อย่าทองไม่รู้ร้อน อาจมีการตั้งโต๊ะเสวนา แสดงบทบาทในการกัดบ้าง เพราะขโมยจะไม่ฟังหมาที่เห่าอย่างเดียวแล้วไม่กัด"
ดร.เสรี เสนอว่า 1.สมาคมวิชาชีพควรออกแถลงการณ์ เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่ต้องการความมัวหมองทางวิชาชีพ และเลิกเสียทีกับคำว่า "แมลงวันไม่ตอมแมลงวัน" 2.เมื่อสรยุทธ์ ใช้เวลาสาธารณะชี้แจงปกป้องตัวเอง แทนที่จะตั้งโต๊ะแถลงข่าว เหล่ากรรมการทั้งหลายก็น่าจะหาช่องทางเช่นนี้บ้าง เพื่อให้ประชาชนรู้ข้อเท็จจริง 3.บริษัทสปอนเซอร์ต้องมีสำนึกทางจริยธรรม ควรพิจารณาถอนโฆษณาชั่วคราวก่อน 4.ช่อง 3 ควรพักรายการชั่วคราว 5.อาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์ควรออกแถลงการณ์ 6.ผู้ชมรายการต้องออกมาแสดงพลังทางโซเชียลมีเดียทุกช่องทาง เพราะภาคส่วนอื่นในเวลานี้ไม่อาจพึ่งพาได้ และทำจดหมายถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ต้องระวัง ช่วยตีปลาหน้าไซ อย่าให้ผู้มีอำนาจรัฐ เข้ามาช่วยเหลือไม่ให้กรณีนี้เงียบหายไป และ 7.กระบวนการกฎหมายควรจะเร็วกว่านี้
สื่อที่หัวใจไม่ 'สะอาด' ไม่ควรเป็นสื่อ
นายจักร์กฤษ กล่าวว่า ตามจรรยาบรรณแล้ว กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องหลักการที่ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับใครก็ตาม ทางสภาวิชาชีพมีข้อกำหนดตามจรรยาบรรณที่ว่าจะต้องไม่ทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์วิชาชีพ ซึ่งมีความหมายกว้าง แต่กรณีนี้เพียงพอที่จะกล่าวได้ว่ามีมลทินมัวหมอง และสามารถพิจารณาได้ว่าเสื่อมเสียหรือไม่และจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร
"ความที่เป็นบุคคลสาธารณะมีชื่อเสียงและเรตติ้งรายการดีกว่าทุกรายการ มีบทบาทเป็นนักสังคมสังเคราะห์ คนบริจาคเงินให้ช่วยกรณีน้ำท่วม ทั้งหมดเพราะประชาชนไว้เนื้อเชื่อใจ ฉะนั้น เมื่อความไว้เนื้อเชื่อใจมีข้อสงสัย คงจะอยู่นิ่งไม่ได้ และผู้เกี่ยวข้องก็คงจะอยู่นิ่งไม่ได้เช่นกัน คนที่ยอมรับการตรวจสอบ เป็นคนสุจริต แต่คนที่ไม่โปร่งใส จะกลัวการตรวจสอบ ซึ่งสภาวิชาชีพจะมีมาตรการต่อไป" นายจักรกฤษ กล่าว และว่า ทั้งนี้ สภาวิชาชีพไม่มีอำนาจทางกฎหมายที่จะยกเลิกหรือเพิกถอน มีเพียงมาตรการทางสังคม แต่หากรอมาตรการทางกฎหมายอาจยาวนานเกินไป
"เรื่องการผิดจริยธรรมเป็นเรื่องความละอายใจ อย่าง ป.ป.ช.มีรางวัลช่อสะอาด คนเป็นสื่อก็เช่นกัน ต้องมีหัวใจที่สะอาด หากไม่มีความสะอาดก็ไม่ควรเป็นสื่ออีกต่อไป ส่วนกรณีที่มีการระบุว่าแมลงวันไม่ตอมแมลงวันนั้น อยากชี้แจงว่าสื่อก็เป็นบุคคลทั่วไป ไม่ได้มีอภิสิทธิ์ชนอะไร เรื่องนี้จะต้องมีการตรวจสอบ จะไม่มีกรณีแมลงวันไม่ตอมแมลงวันอย่างแน่นอน"
คุณหญิงชฎา กล่าวสรุปปิดการเสวนาว่า สังคมไทยในขณะนี้ควรต้องลุกขึ้นมาเป็นเดือดเป็นร้อน เมื่อเห็นผู้ที่กระทำความผิด แต่เมื่อคนที่กระทำความผิด ได้รับผิด มีสำนึก แก้ไข ปฏิบัติตนให้ดีขึ้นแล้ว สังคมไทยนั้นก็ต้องพยายามเป็นสังคมที่ให้อภัย มีแนวทางให้คนเหล่านี้ยังมีจุดยืน มีพื้นที่ยืนในสังคมต่อไปด้วย