เด็กไทย 1 ใน 3 กว่า 5 ล้านคนด้อยโอกาส “หมอประเวศ” แนะสร้างอาสาสมัครชุมชนดูแล
สสค.-สสส.เผยเด็กไทย 1 ใน 3 กว่า 5 ล้านคนด้อยโอกาสจากปมสังคมเหลื่อมล้ำ “หมอประเวศ” เชียร์มหา’ลัยผลักดันนโยบายสาธารณะช่วยเด็ก- อปท.จับมือชุมชนสร้างอาสาสมัครดูแล
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เป็นประธานเปิดการเสวนา “การดูแลเด็กด้อยโอกาสในสังคมไทย สู่การจัดการเชิงระบบที่ยั่งยืน” ซึ่งโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ นพ.ประเวศ กล่าวว่าขณะนี้ทุกคนมองคุณภาพเด็กและเยาวชนของประเทศเป็นเรื่องใหญ่ แต่กลับพบสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงว่าประเทศไทยมีเด็กด้อยโอกาสอยู่หลายล้านคน ดังนั้นการศึกษาและการพัฒนา จะพูดเพียงเรื่องการเรียนรู้อย่างเดียวไม่ได้ เพราะการที่พ่อแม่ ครอบครัวมีฐานะยากจน รวมถึงความอยุติธรรมในสังคม เป็นเรื่องใหญ่และเป็นสาเหตุทำให้เด็กด้อยโอกาส
การวิจัยในต่างประเทศพบข้อมูลจากทั่วโลกว่า ความเหลื่อมล้ำของรายได้ ปัญหาสุขภาพ การพัฒนาสังคม มีความสัมพันธ์กันเกือบเป็นเส้นตรง โดยสหรัฐอเมริกามีความเหลื่อมล้ำมากที่สุด ส่วนญี่ปุ่น สแกนดิเนเวีย เหลื่อมล้ำน้อยที่สุด ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาความด้อยโอกาสของเยาวชนจะต้องนึกถึงการสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำในสังคม จึงอยากเสนอให้มหาวิทยาลัยในประเทศไทยหันมาทำเรื่องความเป็นธรรมที่จะนำไปสู่นโยบายสาธารณะ ให้เรื่องเด็กด้อยโอกาสในสังคมไทยเป็นเรื่องเร่งด่วนต้องดูเชิงระบบว่าจะทำอะไรได้บ้าง ด้วยการทำงานแบบบูรณาการ
“100 ปีที่ผ่านมาระบบการศึกษาทำให้คนไทยไม่รู้จักแผ่นดินไทย เครื่องมือเดินไปคือการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ หากเข้าใจแนวคิดและวิธีการก็จะสามารถขยายเรื่องดีๆให้เต็มประเทศ ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ไม่ได้ใช้กรม หน่วยงานเป็นตัวตั้ง ถักทอทางสังคม ทั้งครู ผู้บริหารการศึกษา ศึกษานิเทศก์ นายก อบต. อบจ. นายอำเภอ มาถักทอเพื่อทำเรื่องที่ยากให้เป็นไปได้ โดยชุมชน ตำบล อบต.สามารถสำรวจได้ว่าในแต่ละตำบลมีใครถูกทอดทิ้งบ้าง เช่น คนชรา ผู้สูงอายุ เด็กด้อยโอกาส แล้วจัดอาสาสมัครดูแล”นพ.ประเวศ กล่าว
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาวิชาการ สสค. กล่าวว่าสภาพการด้อยโอกาสสร้างรอยร้าว ความเหลื่อมล้ำ พบข้อมูลเด็กด้อยโอกาสในประเทศไทยมีประมาณ 5 ล้านคนหรือ 30% ของเด็กทั่วประเทศ เฉลี่ยต่อจังหวัดประมาณ 5-7 หมื่นคนหรือ 400-500 คนต่อตำบล โดยแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มคือ 1.กลุ่มเด็กที่ต้องการดูแลมิติเรื่องการแพทย์ สุขอนามัย การเรียนรู้ โดยเฉพาะเด็กพิการบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD /สมาธิสั้น ออทิสติค) 2.ภาวะด้อยโอกาสจากภาวะเศรษฐกิจ 3.ภาวะด้อยโอกาสจากปัญหาสังคม ประกอบด้วยกลุ่มแม่วัยรุ่น และ 4.กลุ่มเด็กที่มีปัญหาเฉพาะ เช่น ถูกใช้แรงงานต่างด้าว เด็กติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งหากครอบครัว โรงเรียน ชุมชนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขาดการเข้าไปร่วมกันดูแลก็จะกลายเป็นความสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจนับสิบล้านบาทต่อตำบลและนับพันล้านบาทต่อจังหวัดต่อปี ยังไม่รวมถึงความสูญเสียทางสังคมหาศาล
ดร.ไกรยส ภทราวาท นักเศรษฐศาสตร์ สสค.กล่าวว่าความเหลื่อมล้ำเป็นมะเร็งของสังคม การแก้ปัญหาปลายทางด้วยงบประมาณมหาศาลไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง อยากให้รัฐบาลมีนโยบายและสนับสนุนงบประมาณลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ให้มากขึ้น อย่าปล่อยให้ลุกลามแล้วมาแก้ด้วยงบมหาศาล ซึ่งจริงๆแล้วงบประมาณและคนไม่ใช่ปัญหา แต่เรื่องจิตใจจะสามารถเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาได้
ศาสตราจารย์กิตติคุณ สุมน อมรวิวัฒน์ กรรมการบริหารแผนคณะที่ 4 สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว กล่าวว่าความมั่นคงของมนุษย์คือการที่คนเกิดมาแล้วเติบโตทุกด้านของชีวิตอย่างมีคุณภาพ มีความปลอดภัยอยู่เย็นเป็นสุข ในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้ามองเห็นพลเมืองไทย 3 กลุ่ม 1.เด็กล้นโอกาส แข่งโอลิมปิก ว่ายน้ำ บัลเลย์ เติบโตมาเป็นผู้นำ เข้าถึงกลุ่มทุนทุกย่าง 2.ละโอกาส ไม่ฉกฉวย เติบโตมาเป็นคนไทยเฉยๆ 3.ขาดโอกาส น่าจะมากกว่า 8 ล้านคน
โจทย์ของประเทศไทยตอนนี้คือการสร้างระบบพัฒนาความเป็นธรรมของเด็กทุกด้านที่ขาดโอกาสที่ชัดเจนมากขึ้นทุกทีในสังคมไทย คำตอบธรรมดามากแต่มีความไพเราะคือระบบประกบตัว การไปเยี่ยมบ้าน ค้นหาเด็กเป็นรายบุคคล คัดกรอง ประชาพิจารณ์ให้ภาคีทุกกลุ่มได้มาเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ มีการหารูปแบบการวิจัยที่ชัดเจนเพื่อหาเครื่องมือในการพัฒนาเพื่อสร้างพลเมืองไทยใน พ.ศ. 2565 ให้เป็นคนไทยที่เข้มแข็ง อาจจะตอบปัญหาไม่ได้ทั้งหมด แต่สามารถตอบหลายๆโจทย์ของประเทศที่สำคัญได้ งานของ สสค.อาจจะไม่จำกัดอยู่เฉพาะเด็ก แต่ก้าวไปสู่ผู้สูงอายุหรือวัยหนุ่มสาวได้ .
ที่มาภาพ : http://portal.in.th/krukim/pages/12027/