พบเด็กบนดอยเผชิญปัญหา“ยากจน-ไอคิวต่ำ-ห่างไกลจากโรงเรียน
เปิดปมปัญหาการจัดการศึกษาในพื้นที่สูง พบเด็กบนดอยเผชิญปัญหา“ยากจน-ไอคิวต่ำ-ห่างไกลจากโรงเรียน” ส่งผลหลุดจากระบบ นักวิชาการแนะจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงเน้นสร้างทักษะอาชีพ-ทักษะชีวิต ชี้ไม่ควรใช้โอเน็ตประเมินครูบนที่สูงเพียงลู่เดียว
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ร่วมกับเครือข่ายการจัดการศึกษาในพื้นที่สูง จัดเสวนา “การจัดการศึกษาในพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร สุดขอบฟ้า ขุนเขา เราไปถึง” มี ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน โดยมีบุคลากรทางการศึกษาเข้าร่วมกว่า 500 คน ณ โรงแรมปางสวนแก้ว จ.เชียงใหม่
นายสมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษาคณะกรรมการสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวว่า สิ่งที่เราต้องเตรียมคือ หลังจากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 จะมีเด็กไทยได้ประโยชน์ 15-20% ขณะที่เด็กอีก80% อยู่ในสถานการณ์เสี่ยง โดยเฉพาะเด็กด้อยโอกาสที่จะกลายเป็นเหยื่อ จึงมีความจำเป็นต้องสร้างทักษะชีวิตให้เด็ก ซึ่งการศึกษาจะช่วยลดความแตกต่างลงได้ โดยจำเป็นต้องจัดทำฐานข้อมูลและลงทะเบียนบุคคลที่สามารถตรวจสอบได้ เพื่อช่วยเหลือด้านสาธารณสุขและการศึกษา ไม่เช่นนั้นเมื่อเปิด AEC คนจะหลั่งไหลเข้ามามากขึ้น ซึ่งขณะนี้สสค.กำลังจัดทำระบบฐานข้อมูลเด็กและเยาวชนด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ
นายสงพงษ์ กล่าวว่า หากดูวงจรชีวิตของเด็กด้อยโอกาสในพื้นที่สูงพบว่า หัวหน้าครอบครัวมีฐานะยากจนเพราะจบการศึกษาต่ำกว่ามัธยม และเด็กกลุ่มนี้ยังมีปัญหาทางสุขภาพที่ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย ขาดสารไอโอดีนทำให้มีไอคิวต่ำ รวมถึงปัญหาการเดินทางมาโรงเรียน สุดท้ายจึงหลุดจากระบบการศึกษา ดังนั้นจึงต้องสนับสนุนให้ได้เรียนฟรี 15 ปี พร้อมทั้งอุปกรณ์ และการจัดการศึกษาในระดับอาชีวะมีความสำคัญมากสำหรับเด็กกลุ่มนี้ โดยหลักสูตรการสอน 50% เป็นหลักสูตรแกนกลาง อีก 50% ต้องเน้นทักษะอาชีพและทักษะชีวิตเพื่อการมีงานทำ เ
"เด็กกลุ่มนี้ไม่มีทางแข่งขันและกวดวิชาในเมืองได้ และไม่ควรใช้โอเน็ตเป็นตัวตัดสินการประเมินวิทยฐานะเพื่อเลื่อนขั้นครูเพียงอย่างเดียวจะอันตรายอย่างมาก โดยการจัดการเรียนการสอนที่ต่างกันจึงไม่ควรใช้ระบบวัดจากลู่เดียว ซึ่งเป็นการทำลายลูกหลานของเราโดยไม่รู้ตัว"
ดร.ไกรยส ภัทราวาท นักวิเคราะห์นโยบายด้านการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวว่า จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลวิจัยทางวิชาการ ของสสค. ในปี 2554 พบว่า ปัจจุบันเรามีเด็กที่ขาดโอกาส กว่า 5 ล้านคน หรือเฉลี่ย 900 คน/ตำบล ประกอบด้วย เด็กยากจน 3 ล้านคน พิการ 1.7 ล้านคน และอยู่ในพื้นที่ห่างไกลอีกหลายแสนคน เป็นต้น หากไม่มีการแก้ปัญหาเด็กด้อยโอกาส จะส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ถึงปีละ 12,000 ล้านบาท/จังหวัด คำนวณจากรายได้ที่สูญเสียไปจากโอกาสในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งสูงกว่าความเสียหายโดยเฉลี่ยต่อจังหวัดในเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547 ถึง 10 เท่า
ดร.ไกรยส กล่าวด้วยว่า ในพื้นที่ภาคเหนือ ยังพบว่า มีประชากรถึง 5% ที่เป็นผู้พิการ ซึ่งสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศ สสค.จึงทำงานในพื้นที่นำร่อง จ.แม่ฮ่องสอน ในกลุ่มเด็กยากจน อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และพิการ โดยพบข้อมูลที่สำคัญคือ ข้อมูลของเด็กพิการแรกคลอดในโรงพยาบาล ใน 1-2 ปีแรก ขาดการส่งต่อไปยังหน่วยงานให้บริการทางสาธารณสุข ทำให้เด็กหลุดออกจากการดูแลเผชิญกับความพิการขั้นรุนแรง จึงพัฒนาให้เกิดศูนย์การศึกษาพิเศษ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อดูแลเด็กพิการใน 3 อำเภอตอนใต้ของจ.แม่ฮ่องสอน โดยร่วมกับศูนย์การศึกษาพิเศษแม่ฮ่องสอน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจังหวัด พร้อมกับเชื่อมโยงฐานข้อมูลที่เป็นระบบตั้งแต่โรงพยาบาล พัฒนาสังคมจังหวัด สถาบันการศึกษา และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อรับรู้สถานการณ์ในพื้นที่ และนำสู่การสนับสนุนงบประมาณแก่ศูนย์เด็กเล็ก เมื่อเด็กโตขึ้นจะส่งต่อไปยังร.ร.ไทยรัฐวิทยา 33 ซึ่งเป็นโรงเรียนเรียนร่วมระหว่างเด็กปกติและเด็กพิการ พร้อมกับการฝึกทักษะอาชีพให้สามารถอยู่รอดได้