ศูนย์วิจัยกสิกร เผยจำนำข้าวทำไทยหลุดแชมป์ส่งออก อินเดีย-เวียดนามแซง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุนโยบายจำนำข้าว ซ้ำเติมปริมาณและมูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 46.4 อินเดีย-เวียดนามจ่อแซงหน้า ความหวังขายข้าวแบบจีทูจีดันยอดส่งออกไทย
เอกสารเผยแพร่ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยสถานการณ์ส่งออกข้าวไทย 8 เดือนแรกปี 2555 มีปริมาณส่งออก 4.4 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 46.4 เทียบกับปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายรับจำนำข้าว ทำให้ปริมาณและมูลค่าส่งออกลดลง ด้านราคาส่งออกอยู่ที่ 569 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 และมากกว่าค่าเฉลี่ยปี 2552-2554 ที่ 532 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนหนึ่งอาจมาจากนโยบายรับจำนำข้าวที่ต้องการยกระดับราคาข้าวไทยให้สูงขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งด้านหนึ่งช่วยเพิ่มรายได้เกษตรกร แต่อีกด้านอาจลดความสามารถแข่งขันในตลาดโลก ขณะที่คู่แข่งอย่างเวียดนามพยายามลดราคาลงร้อยละ 11.6 เพื่อแข่งขันกับอินเดียที่กลับมาเป็นผู้ส่งออกข้าวอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้อินเดียมีราคาข้าวส่งออกต่ำสุด ส่งผลให้ขณะนี้ราคาส่งออกข้าวของไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่งกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ
กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ(USDA) คาดการณ์ปี 2555 ไทยต้องเผชิญความท้าทายในการส่งออกข้าว เนื่องจากการแข่งขันในตลาดโลกรุนแรงขึ้น อาจมีผลให้สัดส่วนส่งออกข้าวไทยลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 18.2 ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมดของโลกหรือ 6.5 ล้านตัน (ลดลงร้อยละ 38.9 จากปี 2554 ที่ 10.7 ล้านตัน) USDA คาดว่ายังไม่รวมการส่งออกข้าวของรัฐบาลไทยในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ซึ่งหากไม่มีการส่งออกข้าวเพิ่มเติมในส่วนของรัฐบาลที่จะส่งมอบได้ภายในปีนี้ อาจทำให้ไทยมีสัดส่วนส่งออกข้าวต่ำลงมาเป็นอันดับ 3 รองจากอินเดียและเวียดนาม ปริมาณการส่งออกข้าวปี 2555 อาจมี 7.0-7.5 ล้านตัน ซึ่งรวมการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐในสัญญาที่มีความชัดเจนเข้าไว้แล้ว
ด้านราคาคาดว่าช่วงที่เหลือของปี 2555 อาจทรงตัวในระดับสูงใกล้เคียงปัจจุบันที่ 550-600 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ตามต้นทุนรับซื้อข้าวเปลือกจากนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล ดังนั้นคาดว่าทั้งปี 2555 จะมีมูลค่าการส่งออกข้าวไทยประมาณ 3,500-4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ปัจจัยผลักดันให้ปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น ต้องรอดูความคืบหน้าของการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ โดยก่อนหน้านี้มี 2 ประเทศที่ลงนามในสัญญาซื้อขายข้าวจากไทยคือโกตดิวัวร์ 2.4 แสนตัน และกินี 2.0 แสนตัน ขณะที่รัฐบาลระบุว่าจะมีการทำสัญญาซื้อขายข้าวจากไทยกับอีก 4 ประเทศ ปริมาณเกือบ 7 ล้านตัน ซึ่งหากรัฐเร่งทำสัญญาและส่งมอบภายในปีนี้ คาดว่าอาจมีปริมาณส่งออกข้าวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมทั้งการระบายสต็อกข้าวรัฐบาล โดยช่วงที่ผ่านมารัฐบาลเปิดประมูลข้าวให้แก่ผู้ส่งออก 7.5 แสนตัน แต่มีการระบายข้าวด้วยวิธีประมูลไปเพียง 2.29 แสนตัน ทำให้รัฐบาลอาจยังคงมีสต็อกข้าวในปริมาณสูง โดยเดือน ส.ค,รัฐบาลมีปริมาณข้าวในสต็อกคาดว่ามากกว่า 10-12 ล้านตัน
ความต้องการข้าวไทยจากต่างประเทศอาจลดลง เนื่องจากราคาสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่งหลัก อาจส่งผลให้ผู้นำเข้าบางส่วน เช่น ตลาดแอฟริกา ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของข้าวนึ่งไทย หันไปนำเข้าจากเวียดนามและอินเดียที่ราคาถูกกว่าไทยกว่าตันละ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตลอดจนความต้องการข้าวนึ่งไทยลดลง เนื่องจากก่อนหน้านี้ผู้ซื้อรายสำคัญคือไนจีเรียซึ่งครองสัดส่วนถึงร้อยละ 12 ได้เร่งซื้อไปแล้วก่อนถึงกำหนดที่ทางการจะปรับขึ้นภาษีนำเข้าข้าว นอกจากนี้ผู้ซื้อข้าวแถบตะวันออกกลางส่วนใหญ่จะชะลอคำสั่งซื้อ เนื่องจากยังมีสต็อกข้าวปริมาณมากจากที่ได้สั่งซื้อไว้ก่อนหน้านี้ในช่วงถือศีลอดเดือนรอมฎอน
สำหรับปัจจัยด้านอุปทานที่อาจส่งผลกระทบปริมาณส่งออก ยังต้องจับตาผลผลิตข้าวอินเดีย เนื่องจากปริมาณข้าวอินเดียยังอยู่ในเกณฑ์สูงเพียงพอกับการส่งออก หลังจากการกันสต็อกสำรองไว้เพื่อความมั่นคงทางด้านอาหารแล้ว อินเดียจึงอาจยังคงมีบทบาทสำคัญในการส่งออกข้าว นอกจากนี้ในปี 2555 ปากีสถานขยายตลาดส่งออกข้าว ตั้งเป้าส่งออก 4.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.3 จากปีก่อน
ศูนย์วิจัยกสิกร ยังระบุว่าการแข็งค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นอีกปัจจัยที่อาจกดดันความสามารถแข่งขันของข้าวไทย โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับอินเดียและเวียดนามที่ค่าเงินแข็งค่าน้อยกว่า โดยเมื่อ 27 ก.ย.55 ค่าเงินบาทอยู่ที่ 30.95 ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับระดับปิดสิ้นปี 2554 ทำให้ราคาส่งออกข้าวไทยในรูปเงินดอลลาร์ฯ ปรับสูงขึ้นด้วย
สำหรับแนวโน้มราคาข้าวในตลาดโลกปี 2556 อาจยังเผชิญแรงฉุดรั้งจากปริมาณผลผลิตและสต็อกข้าวประเทศคู่แข่งซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หากไม่มีปัจจัยลบจากความผันผวนสภาพอากาศรุนแรง โดยหากส่วนต่างราคาข้าวไทยยังสูงกว่าคู่แข่งโดย อาจกดดันปริมาณส่งออกข้าวไทย แต่ทั้งนี้ยังคงต้องติดตามการส่งออกข้าวไทยแบบจีทูจี ซึ่งอาจเข้ามาช่วยผลักดันยอดส่งออกได้อีกทางหนึ่ง .