นักกม.ชี้โครงสร้าง 'สตช.-ดีเอสไอ-อัยการ' ถูกการเมืองแทรกแซงง่าย
"บรรเจิด สิงคเนติ" เชื่อ สตช.-ดีเอสไอ-อัยการสูงสุด องค์กรต้นทางกระบวนการยุติธรรม ทำหน้าที่ได้ดีต่อเมื่อมีความอิสระ ปราศจากการแทรกแซง แต่ปัจจุบันอยู่ภายใต้การเมือง ถูกแทรกแซงอย่างชัดเจน พร้อมเสนอปฏิรูป-กระจายอำนาจไม่ให้รวมศูนย์
วันที่ 2 ตุลาคม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ มีการจัดสัมมนาในหัวข้อ "กระบวนการยุติธรรมในสถานการณ์พิเศษ" เนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปี หลักสูตรปริญญาโท สาขาการบริหารงานยุติธรรม คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ.
รศ.ณรงค์ ใจหาญ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวถึงกระบวนการยุติธรรมทางอาญาโดยปกติจะเชื่อมโยงกับหลักการตามรัฐธรรมนูญและกติกาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งจำกัดอำนาจการค้น การจับกุมผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยของเจ้าหน้าที่ไว้ในขอบเขตที่สมควร แต่หลักการนี้ได้เปลี่ยนไปเมื่อมีสถานการณ์พิเศษสองเรื่อง คือ เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
"เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการประกาศกฎอัยการศึก และ พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เพื่อดำเนินการกับผู้ก่อความไม่สงบ ทำให้มีผลกระทบต่อประชาชน และตัวผู้ต้องสงสัย ซึ่งถูกเรียกตัวมาสอบสวนหรือถูกควบคุมโดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของวิธีพิจารณาความอาญา ทำให้สิทธิของผู้ถูกควบคุมลดลง แต่ปัจจุบันได้ประสานงานไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแล้วให้ควบคุมผู้ต้องสงสัยอย่างเป็นไปตามหลักที่ถูกต้อง และมีข้อเรียกร้องมากขึ้นให้รัฐทบทวนการขยายผลการประกาศกฎอัยการศึกในทุก ๆ 3 เดือน"
รศ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ความขัดแย้งทางความคิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลนำ พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาประกาศใช้กับสถานการณ์นี้ด้วย ทำให้เกิดปัญหาความไม่ชัดเจนว่า ศาลอาญาจะถือว่า คดีเหล่านี้เป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายอาญาปกติ หรือเป็นความผิดฐานก่อการร้าย เนื่องจากการชุมนุมเรียกร้องของคนกลุ่มหนึ่งโดยการปิดถนน อาจไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น ดังนั้นกระบวนการยุติธรรมในกรณีนี้จะต้องรวบรวมพยานหลักฐานและตั้งเป้าหมายให้เหมาะสมกับรูปคดี มีความเป็นกลาง ตั้งอยู่บนฐานของข้อเท็จจริง ไม่ทำตามความเห็นของแต่ละฝ่าย
รศ.ณรงค์ ยังเสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหาย ผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ในรูปแบบกองทุนยุติธรรมเพื่อช่วยเหลือการประกันตัว หรือการจ้างทนายที่มีความรู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉิน และควรมีมาตรการให้เจ้าพนักงานที่ปฎิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ขัดแย้ง มีความรู้ความเข้าใจในการบังคับใช้กฎหมายที่ถูกต้องด้วย
"การที่เราจะให้ความเป็นธรรมต่อผู้ที่อยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น 1. เจ้าพนักงานต้องระมัดระวังการใช้อำนาจที่จะกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน 2.การเยียวยาสิทธิแก่ผู้เสียหาย จะต้องมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นพิเศษ 3.รัฐควรจัดงบประมาณเพื่อช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ต้องสงสัย" รศ.ณรงค์กล่าว
สตช-ดีเอสไอ-อัยการ ตัดขาดจากการเมืองยาก
ขณะที่ ศ.ดร.บรรเจิด สิงคเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงการทำงานขององค์กรต้นทางกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานอัยการสูงสุด จะทำหน้าที่ได้ดีต่อเมื่อมีความอิสระ ปราศจากการแทรกแซง
"แต่เรากลับพบว่า สตช. เป็นสำนักงานที่อยู่ภายใต้การเมือง หาก ผบช.น.อยู่ภายใต้ฝ่ายการเมือง องคาพยพของตำรวจทุกคน องคาพยพของกระบวนการยุติธรรมจะอยู่ภายใต้การเมืองตามไปด้วย" ศ.ดร.บรรเจิด กล่าว และว่า ขณะที่ดีเอสไอ ก็เป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้การเมืองเช่นกัน อธิบดีถูกแต่งตั้งโยกย้ายโดยฝ่ายการเมือง ดังนั้นจึงมีข้อพิจารณาว่า การทำหน้าที่จะเป็นมืออาชีพ มีความอิสระหรือไม่อย่างไร ส่วนอัยการก็พบว่านิยมไปนั่งเป็นบอร์ดบริหารในที่ต่างๆ กัน ฉะนั้น เมื่อองค์กรต้นทางกระบวนการยุติธรรม มีโครงสร้างอยู่ภายใต้การเมืองที่มีการแทรกแซงอย่างชัดเจน การมองอนาคตในเรื่องนี้ จึงตัดขาดจากระบบการเมืองไม่ได้
ส่วนทางออกในเรื่องนี้นั้น ศ.ดร.บรรเจิด กล่าวว่า การออกแบบเป็นเรื่องสำคัญ ต้องทำให้กระบวนยุติธรรมฟังก์ชั่นได้ดี รวมถึงต้องมีการปฏิรูป สตช. โดยกระจายอำนาจไม่ให้รวมศูนย์ ขณะที่ดีเอสไอ ต้องสร้างกระบวนการแต่งตั้งที่คุ้มครองความเป็นอิสระให้กับอธิบดีเอสไอ ส่วนอัยการสูงสุดก็นั้นก็ต้องทยอยกลับมาอยู่ในสำนักงาน มาดูเรื่องงานคดี การสั่งคดีต่าง ซึ่งจะทำให้กระบวนการต่าง ๆ เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น
ด้าน นายสมชาย หอมลออ อดีตกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรอบดองแห่งชาติ (คอป.) กล่าวว่า ในสถานการณ์พิเศษ การประกาศใช้กฎหมายพิเศษเป็นนโยบายของฝ่ายการเมือง และมักมีอำนาจกดดันทำให้เจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายที่มีอยู่ปกติจนบิดเบือนไปด้วย ดังนั้นฝ่ายการเมืองจำเป็นต้องรับผิดชอบต่อประชาชน
"กฎหมายพิเศษต่าง ๆ ที่เคยประกาศใช้ในสถานการณ์พิเศษที่ผ่านมามีปัญหาต่อหลักนิติธรรม เช่น พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ออกโดยพระราชกำหนด แม้ต่อมาจะผ่านรัฐสภา แต่ออกโดยฝ่ายบริหารจึงมีข้อบกพร่องหลายอย่าง เช่น การขยายเวลาประกาศไปแล้ว 31 ครั้งโดยไม่ได้รับการอนุมัติจากสภา"
นายสมชาย กล่าวอีกว่า เรื่องความอิสระของตุลาการนั้นเส้นแบ่งระหว่างตุลาการภิวัฒน์ กับอคติส่วนตัวมีเส้นแบ่งที่บางมาก ดังนั้นเมื่อศาลวินิจฉัยประการใด ก็ต้องยอมรับ เพราะหากไม่ยอมรับระบบนิติรัฐก็จะพังทั้งระบบ
สำหรับทางออกปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น กรรมการ คอป. กล่าวว่า ใช้แต่กระบวนการยุติธรรมในสถานการณ์พิเศษไม่เพียงพอ ต้องแก้ที่การตัดสินใจเชิงนโยบายด้านความมั่นคง ที่ผ่านมา อำนาจการตัดสินใจสูงสุดในการแก้ปัญหาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้อยู่ที่กองทัพ แต่ความไม่สำเร็จในการแก้ไขปัญหาก็ชี้ให้เห็นแล้วว่า กองทัพอาจไม่เหมาะกับสถานการณ์เช่นนี้ในยุคปัจจุบันอีกต่อไป
โภคิน ชี้องค์กรอิสระต้องตรวจสอบได้
สำหรับนายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา และอดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวว่า ไม่ว่าจะในสถานการณ์ไหน องค์กรที่สำคัญที่สุดในการทำให้กระบวนการยุติธรรมมีความเป็นธรรมก็คือศาล ผู้พิพากษาต้องเป็นอิสระ แต่จากประวัติศาสตร์การยึดอำนาจในอดีตที่ผ่านมา ศาลเป็นผู้รับรองการยึดอำนาจ เท่ากับรับรองคนที่ทำลายระบบนิติธรรม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 3 ระบุว่าองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานรัฐทั้งหลายต้องปฏิบัติหน้าที่ตามหลักนิติธรรม แต่หลายมาตราในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ขัดต่อหลักนิติธรรมเอง และถ้าคนบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมด้วย สถานการณ์ก็จะยิ่งไปกันใหญ่ ดังนั้นศาลต้องเป็นหลักประกันให้กับทั้งระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม
"สิ่งสำคัญองค์กรอิสระไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น ต้องตรวจสอบได้ รวมทั้งศาลก็ควรยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินและต้องเปิดเผยต่อสาธารณะเช่นเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ๆ หากองค์กรเหล่านี้สามารถตรวจสอบได้ก็จะเป็นการถ่วงดุลซึ่งกันและกัน"