ปัญหา ทางออก อุตสาหกรรม 'ข้าว'
แม้โครงการจำนำข้าวในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หรือโครงการประกันรายได้สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น แต่แรงงานภาคเกษตรนับวันยิ่งลดลง
สาเหตุสำคัญมากจากภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจภาคบริการของประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็วจึงดูดเอาแรงงานจากภาคเกษตรออกไปจะสังเกตุว่า คนหนุ่ม คนสาว ถ้าเลือกได้ไม่มีใครยึดอาชีพทำนา สร้างรายได้เลี้ยงตัวเอง
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องปฏิรูประบบการทำนาของประเทศไทย เพื่อให้ ‘ข้าว’เป็นอุตสาหกรรมที่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
ในอนาคตการทำนาอาจจะมีการควบเกษตรกรรายย่อย ในรูปสหกรณ์ที่ทันสมัย หมายความว่าในหมู่บ้านๆ หนึ่งอาจจะมีพื้นที่รวมเป็นหมื่นไร่ แต่มีเกษตรกรรายย่อยจำนวนมากเป็นเจ้าของ การจะเพิ่มศักยภาพในการผลิตทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพได้ จำเป็นต้องรวมพื้นที่นาเป็นแปลงใหญ่ เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ แล้วดึงชาวนาที่เก่งๆ มาดูแล ใช้ความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ในจำนวนพื้นที่เท่าเดิม ก็จะสามารถสร้างผลผลิตที่สูงขึ้น มีคุณภาพข้าวที่ดีขึ้น โดยมีต้นทุนต่ำลง แรงงานส่วนเกินที่ทำการเกษตรไม่เก่ง ก็เข้าไปทำงานในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ สร้างรายได้เพิ่มให้ครอบครัวอีกช่องทางหนึ่ง
การทำเกษตรลักษณะนี้นอกจากจะช่วยให้อุตสาหกรรม‘ข้าว’เติบโตอย่างยั่งยืนแล้ว ยังยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไปพร้อมกันด้วย เพราะผลผลิตที่สูงขึ้นช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคงให้เกษตรกร
ระบบการทำเกษตรลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่ไม่ได้เพิ่งเกิดในประเทศไทย แต่ในยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่นได้นำโมเดลนี้มานานใช้นานแล้ว หรือแม้กระทั่งประเทศจีนก็ได้นำระบบสหกรณ์มาใช้ในอุตสาหกรรมเกษตร
“การรวมกลุ่มเกษตรเป็น สหกรณ์ เปรียบเสมือนวันนี้เรามีไม้ไผ่ แต่มีลักษณะเป็นซีก ซีก เนื่องจากประเทศไทยไม่มีที่นาเป็นแปลงใหญ่ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เกษตรกรรายเล็ก ๆ ต้องรวมกลุ่มแล้วผนึกกำลังกันเดินไปข้างหน้าจึงจะสู้กับคู่แข่งในโลกที่นับ วันจะแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆได้”
การผนึกกำลังของเกษตรกรจะช่วยส่งเสริมการเกษตรของไทยให้ดีอย่างไร ?
หนึ่ง การปฏิรูปที่ดินสามารถทำได้ง่ายขึ้น
สอง การวางระบบคลองส่งน้ำ ชลประทาน ในไร่นาทำง่าย
สาม การนำเครื่องจักรกลการเกษตรมาใช้จะมีความคุ้มค่ากว่า
สี่ การเข้าถึงและการใช้เทคโนโลยีจะมีประสิทธิภาพมากกว่า
ห้า สามารถบริหารและสร้างอำนาจต่อรองได้ดีขึ้น
แล้วการรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์ก็ไม่ได้หมายความว่า จะทำเกษตรเชิงเดียวเพียงอย่างเดียว แต่สามารถทำเกษตรผสมผสานได้ด้วย ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือ หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ที่เครือเจริญโภคภัณฑ์(ซี.พี.)ได้ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในแนวพระราชดำริด้านการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร มาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการจัดซื้อที่ดิน 1,253 ไร่ ซึ่งเป็นดินทรายที่เสื่อมสภาพ เพาะปลูกไม่ได้ผล เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นที่ดอน มาจัดรูปที่ดินใหม่ แบ่งเป็นแปลงละ 24 ไร่ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่มีฐานะยากจน ไม่มีที่ทำกินเป็นของตนเอง ให้มีโอกาสได้ประกอบอาชีพการเลี้ยงสัตว์ ควบคู่ไปกับการเพาะปลูก การดำเนินงานของโครงการ จัดเป็นระบบเบ็ดเสร็จครบวงจร เพื่อให้การพัฒนาอาชีพ ของเกษตรกรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
โครงการนี้จัดทำในรูปแบบ 4 ประสานประกอบด้วย ภาครัฐได้แก่อำเภอพนมสารคาม สถาบันการเงินโดยธนาคารกรุงเทพ ที่ให้การสนับสนุนวงเงินกู้แก่โครงการ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่นำเทคโนโลยี ความรู้ด้านการเกษตรเข้ามาต่อยอดให้เกษตรกร และเกษตรกร บริหารงานภายใต้ระบบสหกรณ์ที่ชาวบ้านช่วยกันดูแล
และวันนี้การทำเกษตรในระบบสหกรณ์ที่หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้าได้ผ่านบท พิสูจน์แล้วว่าโมเดลนี้ได้ผลจริงๆ ไม่ใช่ว่าได้ผลเฉพาะในหน้ากระดาษ แต่สามารถสร้างความมั่งคั่งได้จริงๆ สร้างความยั่งยืนได้จริงๆ ถ้าชาวนานำโมเดลนี้ไปประยุกต์ใช้ โดยมีรัฐบาลเข้าไปดูแล การทำนาของประเทศไทยก็จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น
หรือโครงการเกษตรกรรมทันสมัยที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ร่วมกับรัฐบาลจีนโดย ใช้โมเดล“สี่ประสาน”(Four in One) ผนึกกำลังความร่วมมือระหว่างผู้เกี่ยวข้อง 4 ฝ่ายได้แก่ รัฐบาล เกษตรกร บริษัทเอกชน และธนาคาร สร้างโครงการไก่ไข่ครบวงจรที่ทันสมัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย บนที่ดิน 324 ไร่ ณ หมู่บ้านซีฟานเกอจวง(Xifan Gezhuang) ตำบลยู่โค(Yukou) เขตผิงกู่ นครปักกิ่ง มีเกษตรกรจีนได้รับประโยชน์จากการดำเนินโครงการนี้ถึง 1,900 ครอบครัว หรือประมาณ 6,000 คน ตรงนี้ก็บริหารด้วยระบบสหกรณ์เช่นกัน
ในประเทศที่มีที่นาแปลงเล็กต้องทำเป็นระบบสหกรณ์
สหกรณ์อีกรูปแบบที่น่าจะเป็นโมเดลที่ดีของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว คือ สหกรณ์การเกษตรชาวไร่อ้อยในจังหวัดต่างๆ ที่ปัจจุบันมีการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งจนสามารถผลักดันให้ไทยเป็นผู้ส่งออก น้ำตาลทรายรายใหญ่อันดับสองของโลก โดยบราซิลผู้ผลิตรายใหญ่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก
โมเดลระบบสหกรณ์การเกษตรชาวไร่อ้อย เป็นการรวมตัวของคนที่เกี่ยวข้องทั้งเจ้าของโรงงาน เกษตรกรรายใหญ่ที่มีพื้นที่ดิน 400-500 ไร่ เกษตรรายย่อยเข้ามาอยู่ในระบบเดียวกัน โดยโรงงานจะเป็นเสมือนดาวฤกษ์ ชาวไร่อ้อยเป็นดาวนพเคราะห์ที่อยู่รายรอบ ผลประโยชน์ถูกแบ่งอย่างลงตัว ทำให้สหกรณ์การเกษตรชาวไร่อ้อยอยู่ได้อย่างมั่นคง ซึ่งหากนำระบบนี้มาใช้ อุตสาหกรรมข้าวจะสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน เพราะเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว ประเทศไทยก็จะไม่สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน
โครงการรับจำนำข้าว ถือเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น ที่เห็นผลเร็ว เป็นบทบาทเพียงด้านเดียวของรัฐบาล ยังมีเรื่องอื่นที่ภาครัฐต้องเข้ามาพัฒนาอีกหลายด้านเพื่อให้ข้าวไทยเป็นที่รู้จักในตลาดโลก ทั้งเรื่องการตลาด การสร้างแบรนด์ให้กับข้าวไทย การจัดโซนนิ่งการเพาะปลูก การวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว ที่รัฐบาลสามารถทำทุกอย่างควบคู่กันไปได้ เพราะต้องยอมรับว่าการพัฒนาการเกษตรทำยาก แค่ปรับปรุงพันธ์ก็ใช้เวลาเป็น 10 ปี ดังนั้นการจะทำให้อุตสาหกรรมข้าวอยู่ได้อย่างยั่งยืน เกษตรกรมั่งคั่งต้องมีการวางแผนระยะกลาง และระยะยาวไปพร้อมๆ กันด้วย
การปฏิรูปการเกษตรทุกนโยบาย ทุกยุทธศาสตร์ต้องใช้เวลาเป็น 10 ปีขึ้นไป ฉะนั้นต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ เพื่ออนาคตที่ดีในอีก 10 ข้างหน้า
ที่มาภาพ ::: http://www.bsnnews.com/news/index.php?NewsID=14806