ค้านทริปส์พลัสขยายสิทธิบัตรยา-หวั่นฝรั่งจดลิขสิทธิ์แกงเขียวหวาน
ภาคปชช. รำลึก 10 ปี ชนะคดียาต้านเอดส์ ค้านทริปส์พลัสขยายสิทธิบัตรยา 25 ปี หวั่นฝรั่งจดสิทธิบัตรแกงเขียวหวาน เกษตรทางเลือกชี้ 5 พืชหลักกระทบหนักเอฟทีเอ
วันที่ 2 ต.ค. 55 เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี (เอดส์) ประเทศไทย 500 คน จัดกิจกรรม ‘ครบรอบ 10 ปี คดียาดีดีไอ ปฐมบทแห่งการต่อสู้สู่ NO TRIPS+ ในเอฟทีเอ’ ณ กระทรวงพาณิชย์ จ.นนทบุรี
สืบเนื่องจากปี 42 เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอดส์ได้รวมตัวกันหน้ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับราคายาต้านไวรัส โดยยกกรณียาดีดีไอ ผลิตโดยบ.บริสตอลไมเยอร์ สควิปป์ (บีเอ็มเอส) ขาดความชอบธรรม เนื่องจากได้กำหนดปริมาณยาที่ 50-100 มิลลิกรัม/หน่วยการใช้ แต่ในสิทธิบัตรกลับไม่ปรากฎการใช้ยา จึงนำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อเพิกถอน ก่อนที่บ.บีเอ็มเอสจะขอถอนสิทธิบัตรยาดีดีไอเอง จึงทำให้ขณะนั้นสามารถแก้ปัญหาราคายาต้านไวรัสแพงได้ อย่างไรก็ตามยังพบปัญหาดังกล่าวกับยาชนิดอื่นอย่างต่อเนื่อง เครือข่ายจึงเคลื่อนไหวเรียกร้องการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (ซีแอล)ต่อไป
ภญ.ดร.อุษาวดี มาลีวงศ์ นักวิจัยอิสระ กล่าวว่า การเคลื่อนไหวภาคประชาชนจำเป็นต่อการขับเคลื่อนการเข้าถึงยาของผู้ป่วย เพราะหากยอมให้รัฐบาลเจรจาเอฟทีเอกับยุโรปเกินกว่าข้อกำหนดตกลงทรัพย์สินทางปัญญาสากล (ข้อตกลงทริปส์) โดยอนุญาตให้บริษัทยาต้นฉบับผูกขาดการค้าเดิม 20 ปี ขยายเป็น 25 ปี นั้นจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงยาราคาถูกได้ และจากการศึกษาพบว่าหากปล่อยให้มีการผูกขาดข้อมูลทางยาตามข้อเรียกร้อง คำนวณตั้งแต่ปี 50 ไทยต้องรับภาระค่าใช้จ่ายด้านยาที่แพงสูงถึง 81,356 ล้านบาท
“การขอจดสิทธิบัตรยาในไทยมีการผสมสูตรเพิ่มเติมใหม่เพียงเล็กน้อย แล้วอ้างว่าคิดค้นขึ้นใหม่ถึง 84% ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกรรมสิทธิ์บริษัททุนข้ามชาติ มีเพียง 0.5% เท่านั้นที่มีผู้ขอรับจดสิทธิบัตรเป็นคนไทย”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การผูกขาดข้อมูลยาจะทำให้เกิดการผูกขาดตลาดเพิ่มขึ้นเกินกว่าข้อกำหนดของข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาสากล 2 ทาง คือ 1.ถ้าบริษัทยาต้นฉบับขอให้ผูกขาดข้อมูลยาในช่วงที่สิทธิบัตรยาใกล้หมดอายุ บริษัทยาต้นฉบับจะผูกขาดตลาดและไม่มีคู่แข่งได้นานเกินกว่า 20 ปี 2.การผูกขาดข้อมูลยาจะมีผลบังคับใช้กับยาที่ไม่ได้จดสิทธิบัตรในไทยด้วย แต่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาเพื่อจำหน่ายในไทย ถ้ามีการผูกขาดข้อมูลยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)จะรับขึ้นทะเบียนต้นตำรับยาให้กับบริษัทอื่นอีกไม่ได้ ทั้งที่ไม่ได้จดสิทธิบัตรยาไว้ในไทย หากบริษัทยาชื่อสามัญจะขึ้นทะเบียนตำรับยาภายใต้เงื่อนไขการผูกขาดข้อมูลยา บริษัทต้องเริ่มทดลองพิสูจน์ใหม่ทั้งหมด ซึ่งใช้เวลานานและเงินลงทุนมาก
ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า การผูกขาดข้อมูลยาเป็นสิ่งที่ยุโรปต้องการในเวทีเอฟทีเอ เพื่อกีดกันไม่ให้บริษัทยาอื่นที่ผลิตชนิดเดียวกันในราคาถูกกว่าแข่งขัน จึงได้เรียกร้องขอความเป็นธรรมเรื่อยมา แต่กระทรวงพาณิชย์ไม่เข้าใจ จึงยอมให้ต่างชาติได้เปรียบเรื่องสิทธิบัตรยา โดยไม่สนใจว่าจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในการเข้าถึงยาประเภทต่าง ๆ ไม่เฉพาะโรคเอดส์เท่านั้น ทำให้รัฐบาลไม่สามารถจัดสรรยาราคาถูกได้ งบประมาณกว่า 70% จึงตกอยู่ในกลุ่มเหล่านี้
ขณะที่น.ส.กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า นอกจากการจดสิทธิบัตรยาที่ไม่ชอบธรรมภายใต้เงื่อนไขเอฟทีเอแล้ว เร็ว ๆ นี้มีบริษัทผู้ผลิตอาหารกระป๋องรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ‘Campbel’ เตรียมยื่นจดสิทธิบัตรแกงเขียวหวาน ภายหลังจดแกงกะหรี่ไก่แล้วก่อนหน้านี้ จึงตั้งคำถามว่าสามารถจดสิทธิบัตรได้หรือไม่ ซึ่งมีนักวิชาการบางท่านบอกว่าจดได้หากคิดค้นสูตรแกงเขียวหวานไม่บูดโดยไม่ต้องแช่ตู้เย็น อย่างไรก็ดีตามหลักการเห็นว่าการจดสิทธิบัตรไม่ควรปฏิบัติกับอาหารและสิ่งมีชีวิตประเภทพืชผักธัญญาหารหรือสัตว์ เพราะอาจกีดกันการเข้าถึงของประชาชนได้
สำหรับผลกระทบจากเอฟทีเอระหว่างไทย-ยุโรปต่อภาคเกษตรกรรมนั้น ต้องเข้าใจว่าข้อเรียกร้องของยุโรปจะเกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรและระบบทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งให้ไทยยอมรับสนธิสัญญาบางฉบับเอื้อประโยชน์ให้บริษัททุนด้านเมล็ดพันธุ์ผูกขาดโดยสมบูรณ์ โดยเฉพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด และผักชนิดต่าง ๆ แต่หากเราส่งเสริมให้เกิดการคุ้มครองเมล็ดพันธุ์ เกษตรกรจะมีประสิทธิภาพในการจัดการตนเองด้านเมล็ดพันธุ์ที่ดีได้ นอกจากนี้ยังเตือนให้รัฐบาลไทยระวังพืชเศรษฐกิจหลัก 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด อ้อย ยางพารา และปาล์ม จะเสียเปรียบประเทศในอาเซียนภายหลังเข้าสู่เออีซี เพราะต้นทุนการผลิตไทยสูง ขณะที่ผลผลิตต่อหน่วยต่ำ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางอาหารที่ลดลง เพราะพืชเศรษฐกิจหลักสู้ไม่ได้ ระบบอาหารพื้นบ้านที่มีความหลากหลายก็ถูกทำลายอีก
ทั้งนี้ ประชาชนได้ยื่นข้อเสนอถึงรมว.พาณิชย์ ต่อการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีทุกฉบับ และสิทธิบัตรยา โดยมีพล.ตร.ตรีพิศาล มุขแจ้ง ที่ปรึกษารมว.พาณิชย์รับมอบหนังสือแทน ดังนี้ 1.กรอบการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีใด ๆ ต้องระบุให้มีระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไม่มากหรือเข้มงวดเกินไปกว่า ข้อผูกพันในข้อตกลงว่าด้วยการค้าที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา (ข้อตกลงทริปส์) ขององค์การการค้าโลก นอกจากนี้ไทยจะต้องไม่เข้าร่วมเป็นภาคีภายใต้อนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชยูปอฟ ปี 1991 และสนธิสัญญาบูดาเปสว่าด้วยการฝากจุลชีพในกระบวนการขอรับสิทธิบัตร
2.การเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีใด ๆ จะต้องเป็นไปตามเจตจำนงของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ม. 190 และยึดผลจากการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นกลไกตามมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจำเป็นต้องคำนึงประกอบการเจรจา และ 3.กรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องเร่งพัฒนาและนำคู่มือการพิจารณาคำขอสิทธิบัตรยามาใช้โดยเร็ว และให้มีประสิทธิภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิบัตรยาที่ไม่มีคุณภาพ และไม่ควรได้รับการคุ้มครอง ซึ่งจะลดการผูกขาดตลาดที่ไม่เป็นธรรม และส่งเสริมการเข้าถึงยาที่มีคุณภาพในราคาที่ไม่แพงได้รวดเร็วยิ่งขึ้น.
ล้อมกรอบ
สรุปการฟ้องเพิกถอนสิทธิบัตรยาดีดีไอ
เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยการช่วยเหลือของสภาทนายความ ดำเนินการฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อนำไปสู่การเพิกถอนสิทธิบัตรยาดีดีไอ โดยในเบื้องต้นได้ดำเนินการฟ้องบริษัท BMSต่อ 'ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง' เมื่อ 9 พ.ค. 44 ให้กำหนดขนาดการใช้ยาที่ระบุในสิทธิบัตรให้ชัดเจน ซึ่งจากเดิมในคำขอฉบับแรก กำหนดขนาดไว้ที่ 5 - 100 มิลลิกรัมต่อหน่วยการใช้ยา แต่ในสิทธิบัตรฉบับปัจจุบัน ไม่มีปรากฏขนาดของการใช้ยาในสิทธิบัตร ทำให้ขอบเขตครอบคลุมสิทธิบัตรยาเป็นไปอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้ผู้ผลิตรายอื่นไม่สามารถผลิตได้ หากผลิตก็อาจจะส่งผลให้เกิดการฟ้องร้อง เรื่องละเมิดสิทธิบัตรได้ ศาลจึงได้เชิญกรมทรัพย์สินทางปัญญามาเป็นจำเลยร่วม ซึ่งศาลตัดสินพิพากษาเมื่อ 1ต.ค. 45 โดยให้บริษัทบีเอ็มเอส และกรมทรัพย์สินทางปัญญาแพ้คดี ต้องแก้ไขในข้อถือสิทธิ์ ให้ระบุขนาด 'จาก 5 - 100 มิลลิกรัมต่อหน่วยขนาดใช้ยา' ในสิทธิบัตรเลขที่ 7600 แต่กรมทรัพย์สินทางปัญญา และบริษัทบีเอ็มเอสอุทธรณ์คำสั่ง และขอทุเลาคดี
ตุลาคม 2545 มีการฟ้องคดีที่ 2 โดยฟ้องบริษัท บีเอ็มเอส และกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้ศาลพิพากษาเพิกถอนสิทธิบัตรเลขที่ 7600 หรือสิทธิบัตรยาดีดีไอ ในประเทศไทย ขณะเดียวกัน ได้มีการร้องขอต่อศาล ให้คุ้มครองชั่วคราว เพื่อให้องค์กรอื่น ๆ สามารถผลิตยาได้ ในขณะที่คดีความกำลังดำเนินอยู่ โดยไม่เป็นการละเมิดสิทธิ
ในช่วงนี้ เครือข่ายฯ และองค์กรพันธมิตร ได้รณรงค์กับเพื่อนผู้ติดเชื้อฯ และเอ็นจีโอ ทั้งในประเทศและทั่วโลก ให้ร่วมกันส่งจดหมายถึงองค์การเภสัชกรรม ,กระทรวงสาธารณสุข เรียกร้องให้องค์การเภสัชกรรม ฟ้องบริษัท บีเอ็มเอส จนกระทั่ง สธ. มีคำสั่งให้องค์การเภสัชกรรม เป็นโจทย์ฟ้อง
มกราคม 2547 บริษัท บีเอ็มเอสขอเจรจา โดยจะขอถอนสิทธิบัตรหมายเลข 7600 จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีข้อสรุปว่า บริษัท บีเอ็มเอส จะต้องดำเนินการถอนอุทธรณ์คดีที่ 1 เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะถอนการฟ้องคดีที่ 2 และบริษัท บีเอ็มเอส จะต้องยื่นถอนสิทธิบัตรต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา นั่นหมายถึงยาเม็ดดีดีไอ ไม่มีสิทธิบัตรในประเทศไทยอีกต่อไป