“อักขราทร”ชงนำข้อเสนอ คอป.เปิดเวทีกลุ่มย่อย สร้างประชามติ แก้ขัดแย้ง
“ดร.อักขราทร” มองข้อเสนอ คอป.เป็นความหวังของสังคม ในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง แนะนำข้อเสนอแต่ละประเด็นเปิดเวทีกลุ่มย่อยรับฟังความคิดเห็น-สร้างประชามติแก้ปัญหาร่วมกัน
วันที่ 2 ตุลาคม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ ศ.พิเศษ ดร.อักขราทร จุฬารัตน กรรมการกฤษฎีกา และอดีตประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “หลักนิติธรรมกับกระบวนการยุติธรรมในสถานการณ์พิเศษ” ในงานสัมมนาเนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปี หลักสูตรปริญญาโท สาขาการบริหารงานยุติธรรม คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. ตอนหนึ่งว่า วิกฤตความขัดแย้งทางความคิดทางการเมืองที่พัฒนาจนเป็นปัญหาของชาติในขณะนี้ หากไม่สามารถแก้ไขได้แล้ว อาจทำให้เกิดความล้มสลายกับบ้านเมืองได้อย่างคาดไม่ถึงเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของชาติอื่นๆ ทั่วโลกในอดีต ที่น่าเป็นห่วงก็คือว่า ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบบ้านเมือง ไม่ค่อยมีการศึกษาประวัติศาสตร์สากลกันอย่างจริงจัง ทั้งที่ผู้เรียนกฎหมายนั้น น่าจะต้องเรียนรู้สิ่งเหล่านี้มากกว่านักวิชาการด้านอื่น เพราะวิวัฒนาการทางความคิด ทางการเมือง ทางกฎหมายนั้น เป็นผลมาจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต
อดีต ปธ.ศาลปกครองสูงสุด กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองขณะนี้ เลยเถิดที่จะคุยกันรู้เรื่อง เพราะจะเห็นได้ว่าความแตกต่างที่เกิดขึ้นนั้นลึกและหาเหตุผลไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อทุกคนไม่พยายามใช้เหตุผล พยายามเอาชนะคะค้านกัน แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่พอมองเห็นขณะนี้ รายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีประเด็นปัญหา ข้อเสนอที่ให้แก้ไขปรับปรุงจำนวนมาก ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษา กฎหมาย รวมถึงกระบวนการยุติธรรม
“รายงานฉบับนี้ไม่ใช่รายงานเพื่อหาตัวผู้รับผิดชอบหรือหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ แต่เป็นการตรวจสอบความจริงว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะเหตุใด ใครบ้างมีส่วนเกี่ยวข้องบ้างและเกี่ยวข้องอย่างไร ที่สำคัญคือ จะป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกได้อย่างไร ทั้งนี้ ภายหลังที่ คอป.เผยแพร่รายงานดังกล่าวต่อสาธารณชน แม้จะมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ทุกคนก็มีความเป็นห่วงเป็นใย ต้องการเห็นการแก้ปัญหาและหาข้อยุติในเรื่องเหล่านี้โดยเร็ว เนื่องจากไม่ต้องการให้ประเทศชาติตกต่ำไปกว่าที่ผ่านมา
ดร.อักขราทร กล่าวต่อว่า ข้อเสนอแนะของ คอป.นั้น มีประเด็นปัญหาที่หลากหลาย ซึ่งอาจไม่ได้เป็นที่สนใจของประชาชนทั้งหมด เพราะอาจมีความรู้ไม่ครอบคลุมในทุกเรื่อง ฉะนั้นเห็นว่า ควรจะมีการแยกแต่ละเรื่อง แต่ละหัวข้อออกมา เพื่อให้ประชาชนแต่ละกลุ่มที่มีความรู้ในด้านนั้นๆได้ศึกษา แลกเปลี่ยนกันว่า มีความคิดเห็น มีเหตุมีผลอย่างไร จากนั้นจึงนำทั้งหมดมาประมวลเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อให้รู้แจ้งชัดว่าปัญหาบ้านเมืองคืออะไร และตรงนี้เองที่จะพอพูดได้ว่า เป็น "ประชามติ" ที่เกิดขึ้นจากการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ทั้งนี้วิธีดังกล่าวอาจไม่ทำให้เกิดผลในทันทีทันใด แต่เชื่อว่าจะเป็นความพยายามเพื่อทำให้สังคมได้รับรู้ความจริงว่า อะไรเป็นอะไร
ด้าน ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี มธ. กล่าวถึงกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทยว่า มีมาช้านาน แต่ปัญหา คำถามต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ น่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 เมื่อมีการจัดตั้งศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงมีการจัดตั้งศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทำให้มีกระบวนการตรวจสอบที่เข้มข้นกับนักการเมือง ข้อวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรมจึงมีมากขึ้นเรื่อยๆ บางครั้งก็เลยเถิดไปถึงการไม่เคารพต่อกระบวนการยุติธรรม ส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมของไทยล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
"อย่างไรก็ตาม แม้สังคมไทยขณะนี้จะอยู่ในช่วงแปลกแยกในเรื่องกระบวนการยุติธรรม มีข้อคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน บางฝ่ายเห็นว่าเดินมาถูกมาทาง บางฝ่ายเห็นว่าจำเป็นต้องมีการปรับปรุง ปฏิรูป ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็น่าจะเป็นข้อคิดที่นำไปพัฒนากระบวนยุติธรรมของประเทศไทยต่อไป"