อูรักลาโว้ยฟ้องแพ่งกรมอุทยานฯ ฝืนมติครม.จับประมงดั้งเดิม
ชาวเลอูรักลาโว้ย ฟ้องแพ่ง กรมอุทยานฯ 4 ล้าน ฝืนมติครม. จับประมงพื้นบ้าน ปล่อยนายทุนรุกทะเล ทนายสิทธิฯชี้คดีตัวอย่างเลือกปฏิบัติกลุ่มชาติพันธุ์
วันที่ 2 ต.ค. 55 ที่ศาลแพ่ง รัชดาภิเษก ชาวอูรักลาโว้ย บ้านแหลมตุ๊กแก เกาะสิเหร่ หมู่4 ต.รัษฎา จ.ภูเก็ต จำนวน 20 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชต่อศาลแพ่ง สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2553 หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมกับเจ้าหน้าที่ได้จับกุมชาวเลอูรักราโว้ย 17 คน ขณะกำลังขนถ่ายหอยจากการทำประมงจากเรือขึ้นรถยนต์ ณ ท่าเรือบ้านหาดยาว ต.เกาะลิบง จ.ตรัง ซึ่งเป็นท่าเรือสาธารณะ โดยกล่าวหาว่าทำอันตรายสัตว์น้ำและนำเครื่องมือล่าสัตว์เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติและมีความผิดตาม พ.ร.บ .อุทยานแห่งชาติ ในการนี้ได้ยึดเรือ3ลำและอุปกรณ์ทำประมงของชาวบ้านด้วย
อย่างไรก็ดีเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 54 พนักงานสอบสวนและอัยการจ.ตรังสั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าว เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าชาวประมงอูรักลาโว้ยใช้เครื่องมือประมงพื้นบ้านดั้งเดิม เช่น ดำน้ำจับหอยด้วยมือ จับปลาเก๋าโดยใช้ยางมัดเหล็กก้านร่มยิง ซึ่งไม่เป็นการทำลายทรัพยากรทะเล ประกอบกับสัตวน้ำที่จับได้ไม่ใช่สัตว์สงวนหรือคุ้มครอง ชาวอูรักลาโว้ยจึงได้รับความคุ้มครองสิทธิชุมชนท้องถิ่น ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 2 มิ.ย.2553 ข้อ ๑๐ ว่าด้วย แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ซึ่งกำหนดมาตรการผ่อนผ่อนปรนพิเศษในการประกอบอาชีพประมงที่ใช้อุปกรณ์ดั้งเดิมของกลุ่มชาวเลในการเข้าไปทำมาหากินในพื้นที่อุทยานและเขตอนุรักษ์อื่นๆ และการขนถ่ายสัตว์น้ำที่ท่าเรือสาธารณะ
ดังนั้นชาวอูรักลาโว้ยจึงยื่นฟ้องกรมอุทยานฯเพื่อเรียกค่าเสียหายจำนวน 4,368,838 บาท ซึ่งเป็นค่าเสียหายจากการจับสัตว์น้ำในครั้งนั้น ซึ่งได้แก่ หอย 3,100 กิโลกรัมและปลาเก๋า 120 กิโลกรัม รวมทั้งค่าเสียหายจาการริบเรือประมงและอุปกรณ์ทำกินของชาวบ้านเป็นระยะเวลานานกว่า 9 เดือนทำให้ชาวบ้านขาดโอกาสในการทำมาหากิน และอื่น ๆ
นายสุริยะ สิทธิพงศ์ ตัวแทนชาวเลอูรักลาโว้ยกล่าวว่า การจับกุมชาวอูรักลาโว้ยโดยไม่มีเหตุผลอันควรไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งนั้นครั้งเดียว แต่หลายครั้งที่เจ้าหน้าที่อุทยานเลือกปฏิบัติจับกุมเฉพาะพวกตนในข้อหานำสัตว์น้ำออกจากเขตอุทยาน และเริ่มจับกุมบ่อยขึ้นภายหลังเหตุการณ์สึนามิปี 2547 ทั้งๆที่ชาวประมงและเรือพาณิชย์อื่นก็จับสัตว์น้ำในบริเวณเดียวกัน โดยเชื่อว่าเกิดจากอคติเชิงชาติพันธุ์ของเจ้าหน้าที่ที่มีต่อชนกลุ่มน้อย
เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ชาวฮูรักลาโว้ยในหมู่บ้านไม่กล้าออกไปทำประมงในทะเลอีก เนื่องจากกลัวถูกจับ ชาวบ้านต้องจับหอยชายฝั่งขายประทังชีวิตซึ่งมีรายได้เพียงวันละ 100 – 200 บาท และเสียรายได้หลักจากการทำประมงไป ประกอบกับมีหนี้สินอีกมาย จึงอยากให้เจ้าหน้าที่เข้าใจในสถานการณ์ความเป็นอยู่ของชาวบ้านด้วย
นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ผู้ประสานงานสถาบันพัฒนานักกฎหมายและสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า ประเด็นสำคัญซึ่งไม่ถูกต้องในการจับกุมชาวอูรักลาโว้ยของเจ้าหน้าที่อุทยานในครั้งนั้นคือ การจับกุมขณะที่ขนถ่ายสัตว์น้ำ ไม่ใช่การจับกลุ่มระหว่างการทำประมง โดยไม่สามารถระบุได้ว่าชาวบ้านทำการประมงตรงพื้นที่ใด นอกจากนี้อุทยานฯยังมีปัญหาเรื่องการประกาศหลักเขต ซึ่งชาวบ้านไม่เคยได้รับการชี้แจงจากเจ้าหน้าที่อุทยานฯโดยแน่ชัด เนื่องจากไม่มีทุ่นลอยประกาศหลักเขต ทั้งยังกำหนดเขตพื้นที่เป็นเส้นตรง ไม่ได้กำหนดเขตเป็นละติจูดและลองติจูด ทั้งยังไม่ได้ระบุว่าห่างจากชายฝั่งเป็นระยะทางเท่าไหร่ด้วย ทำให้ชาวบ้านสับสนและเป็นข้ออ้างให้เจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายจับกุมชาวประมงกลุ่มชาติพันธุ์
ด้านนายวสันต์ พานิช ทนายความผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดี ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนานักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การฟ้องร้องดำเนินคดีกับกรมอุทยานฯครั้งนี้ต้องการให้เป็นกรณีตัวอย่างถึงความไม่เป็นธรรมในการเลือกปฏิบัติจับกุมแต่ชาวเลพื้นบ้านซึ่งไม่มีปากเสียงกับการใช้อำนาจรัฐ โดยไม่ต้องการให้กรณีการจับกลุ่มชาวบ้านเพราะความมีอคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ของเจ้าหน้าที่รัฐเกิดขึ้นอีก ซึ่งกรณีนี้จะเห็นได้ว่าเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯเพิกเฉยต่อมติครม.ที่ผ่อนผันการทำประมงให้ชาวประมงพื้นบ้านอย่างเห็นได้ชัด
ทั้งนี้ศาลแพ่งได้กำหนดวันนัดหมายเรียกคู่กรณีทั้งสองฝ่ายมาสอบถามต่อไปในวันที่ 21 ม.ค. 2556