ชายแดนใต้"หยุดวันศุกร์" แล้วรัฐจะ"หยุด"ปัญหานี้ได้วันไหน
น่าแปลกที่รัฐบาลในฐานะ "ผู้คุมนโยบาย" ไม่ได้แสดงท่าทีอะไรมากมายนักกับสถานการณ์ข่มขู่ให้หยุดทำงานและหยุดค้าขายในวันศุกร์ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งๆ ที่วันศุกร์ที่ผ่านมา (28 ก.ย.) ในพื้นที่มีสภาพไม่ต่างอะไรกับ "เมืองร้าง"
รัฐบาลปล่อยให้กลไกรัฐปกติแก้ไขปัญหากันไป โดยเฉพาะกำลังพลตำรวจ ทหารที่ออกตั้งด่านตรวจด่านสกัดเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชน แต่ก็ไม่ได้ส่งผลให้สถานการณ์ดีขึ้น
ย้อนกลับไปในสถานการณ์คล้ายๆ กันเมื่อปลายปี 2548 ซึ่งเคยมีการข่มขู่ให้หยุดทำงานวันศุกร์มาครั้งหนึ่งแล้ว ครานั้นรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ใช้มาตรการค่อนข้างหลากหลายมาช่วยคลี่คลายปัญหา เช่น ส่งรัฐมนตรีเวียนกันลงพื้นที่ทุกวันศุกร์เพื่อเรียกความเชื่อมั่น หรือสั่งให้กระทรวงพาณิชย์ไปเปิด "ร้านธงฟ้าราคาประหยัด" แทบทุกอำเภอในพื้นที่ ฯลฯ แม้จะเป็นการลองผิดลองถูกหรือถูกวิจารณ์ว่าแก้ปัญหาไม่ตรงจุดบ้าง...แต่คะแนนความพยายามต้องให้เต็ม
ขณะที่รัฐบาลชุดนี้ยังไม่มีมาตรการอะไรที่เป็นรูปธรรม ทั้งๆ ที่สถานการณ์โดยรวมร้ายแรงซับซ้อนกว่าเมื่อ 7 ปีก่อนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการปล่อยข่าวลือ 2 ชั้น คือไม่ใช่แค่ข่มขู่ให้หยุดทำงานวันศุกร์เท่านั้น แต่ยังปล่อยข่าวว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กระทำเองเสียอีก หนำซ้ำชาวบ้านยังเชื่อตามนั้นเสียด้วย
ฟังจากคำพูดของรัฐมนตรีผู้คุมนโยบายบางท่าน ทำให้พบว่าท่านไม่เข้าใจสภาพสังคมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เลยว่าแตกต่างกับในกรุงเทพฯหรือหัวเมืองใหญ่ๆ ในภูมิภาคอื่นของประเทศอย่างสิ้นเชิง โครงสร้างสังคมกับวิถีวัฒนธรรมที่แตกต่างบางประการยังเอื้อให้ประชาชนเชื่อข่าวลือแบบปากต่อปาก
ประกอบกับพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐบางประการที่ยังไม่แก้ไข หรือแก้ไขแล้วแต่ชาวบ้านยังไม่เชื่อมั่น ทำให้ "ข่าวลือ" ยังทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเสมอตลอด 8-9 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะข่าวลือที่เป็นลบกับรัฐ
การที่ชาวบ้านยังคงเชื่อข่าวลือ (หรืออาจจะเป็นข่าวจริง แต่พูดโดยคนอื่นที่ไม่ใช่รัฐ) สะท้อนว่าหน่วยงานภาครัฐยังไม่สามารถยึดกุมหัวใจมวลชนได้ และการเกิดสถานการณ์รุนแรงต่อเนื่องมาหลังจาก "หยุดวันศุกร์" ทั้งเหตุการณ์ "ยิงรายวัน" ไม่ต่ำกว่า 7-8 เหตุการณ์ทุกวันโดยมุ่งไปที่ "เป้าหมายอ่อนแอ" โดยเฉพาะ "คู่สามีภรรยา" ซึ่งถูกยิงบาดเจ็บบ้างเสียชีวิตบ้างไปแล้วถึง 4 คู่ในห้วงเวลาเพียง 3 วัน และมีครูสังเวยชีวิตไปอีก 1 ราย ยิ่งสะท้อนว่ารัฐไม่สามารถคุมพื้นที่ได้จริงๆ
นั่นย่อมส่งผลถึงความไม่เชื่อมั่น และคาดการณ์ได้เลยว่าวันศุกร์ที่จะถึงนี้ชายแดนใต้ก็ยังจะมีสภาพเป็น "เมืองร้าง" ต่อไป
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปฏิบัติการความรุนแรงและสงครามจิตวิทยารอบใหม่ของกลุ่มป่วนใต้น่าจะเป็นผลส่วนหนึ่งมาจากกรณีที่มี "กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ" หรือแนวร่วมของขบวนการแบ่งแยกดินแดนบางส่วนกลับใจมาแสดงตัวกับแม่ทัพภาคที่ 4
ปัญหาก็คือแม้ปรากฏการณ์ "แนวร่วมกลับใจ" จะเป็นเรื่องดีและส่งผลสะเทือนต่อขบวนการแบ่งแยกดินแดนไม่น้อย แต่เมื่อรัฐบาลไม่มีช่องทางทางนโยบายเป็นฐานรองรับเลย ทำให้กระบวนการต่างๆ ที่จะดำเนินการในขั้นต่อไปต้องหยุดชะงักลง ขณะที่การใช้เครื่องมือที่เป็นกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ "พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ" เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความคมชัดในระดับนโยบายซึ่งเกินกำลังแม่ทัพภาคที่ 4
ความเคลื่อนไหว ณ วันนี้จึงมีแค่เพียงแม่ทัพตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อรณรงค์ให้บรรดาแนวร่วมที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ตัดสินใจวางอาวุธ ซึ่งแต่เดิมเข้าใจว่าจะตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด มอบให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รับผิดชอบชุดหนึ่ง แต่ได้ข่าวว่าคนใน ศอ.บต.ไม่ค่อยเห็นด้วยกับแนวทางนี้ จึงชัดเจนว่าระดับปฏิบัติยังไม่เป็นเอกภาพ ขณะที่ระดับนโยบายข้างบนก็ยังหาความชัดเจนอะไรไม่ได้
เหมือนเมื่อครั้งที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี (2549-2550) เอ่ยปากขอโทษคนสามจังหวัดต่อความผิดพลาดที่ผ่านมาของรัฐบาลทุกชุดในการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ การขอโทษในครั้งนั้นส่งผลทางจิตวิทยาสูงมาก แต่เมื่อระดับบนไม่มีนโยบายอะไรสานต่อ คำขอโทษนั้นก็ถูกบิดด้วยขบวนการข่าวลือ และทุกอย่างก็เงียบหายไปอย่างน่าเสียดาย
บ้านอื่นเมืองอื่นที่ผู้นำประเทศของเขาเอ่ยคำขอโทษกลุ่มชาติพันธุ์ร่วมชาติ นั่นคือสัญญาณของการหยุดยิง สัญญาณของสันติภาพ แต่ของบ้านเรากลับไร้สัญญาณตอบรับใดๆ...
กรณี "แนวร่วมกลับใจ" กำลังจะซ้ำรอยนั้น โดยมียุทธการ "หยุดทำงานวันศุกร์" กับการ "ไล่ฆ่ารายวัน" เป็นเครื่องมือบั่นทอนให้ความพยายามบางด้านของรัฐสูญเปล่า!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ร้านรวงที่ชายแดนใต้พร้อมใจกันหยุดขายเมื่อวันศุกร์ที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา (ภาพโดย นาซือเราะ เจะฮะ)
หมายเหตุ : บางส่วนของบทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์แกะรอย ปกโฟกัส ฉบับวันอังคารที่ 2 ต.ค.2555 ด้วย