คนจนเมือง-ชนบท ทวงสัญญารบ.แก้ปัญหาที่ดินทำกิน-ที่อยู่อาศัย
วันที่อยู่อาศัยโลก คนจนเมือง-ชนบทเหยียบหมื่นเดินขบวนทวงสัญญารบ.ยิ่งลักษณ์ แก้ปัญหาที่ทำกิน-ที่อยู่อาศัย ชี้รอบ1ปีรบ.ไม่จริงใจ เรียกร้องกระจายสิทธิชุมชน
วันที่ 1 ต.ค. 55 มีการเดินขบวนของภาคประชาชนเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก โดยมีชาวบ้านจากสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ(สอช.) กว่า 4 พันคน และชาวบ้านจากขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(PMOVE – ขปส.)กว่า 3 พันคน เดินขบวนเข้ายื่นข้อเสนอเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของคนจน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าประชาชนจากสอช.ได้ยื่นข้อเสนอ‘เพื่อให้การแก้ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเป็นวาระแห่งชาติ’ ต่อผู้แทนองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย ก่อนจะเดินขบวนมายังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นข้อเสนอดังกล่าวต่อรัฐบาลและน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมีนพ.ประสิทธิ์ ชัยวิรัตนะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมืองเป็นผู้รับเรื่อง
ทั้งนี้ข้อเสนอ‘เพื่อให้การแก้ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเป็นวาระแห่งชาติ’ของสอช.ประกอบด้วยข้อเรียกร้อง 10 ประการโดยสังเขปดังนี้ 1.ขอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม 2.เร่งรัดการออกกฎหมายรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรของตน 3.กระจายอำนาจการจัดการที่อยู่อาศัย-ที่ดินทำกินไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)และชุมชน ให้ท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการวางผังเมือง 4.สนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการบ้านมั่นคงอย่างต่อเนื่องและสนับสนุนงบประมาณพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในชุมชนเมือง 5.ให้มีการจัดตั้งกองทุนรองรับการเยียวยาชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการโครงการพัฒนาของรัฐ เช่น รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง การสร้างเขื่อน ฯลฯ
6. ดำเนินการตามนโยบายที่แถลงไว้เรื่องการปฏิรูปที่ดิน โดยใช้มาตรการทางภาษี ธนาคารที่ดิน และกองทุนที่ดิน 7.ปรับปรุงกฎหมายป่าไม้ทั้ง 5 ฉบับให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญในเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น 8.แก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดิน ที่อยู่อาศัย การไล่ที่และการเรียกค่าเสียหายจากคนจน 9.สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนแก้ปัญหาภัยพิบัติและกองทุนสวัสดิการชุมชน และ10.ยุติการจับกุมประชาชนจากกรณีพิพาทเรื่องที่ดินกับรัฐทุกกรณีและหาทางออกร่วมกับประชาชนมากกว่าการใช้กฎหมายบังคับเพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ยังมีการเรียกร้องกรณีการเวนคืนที่ดินเพื่อทำการก่อสร้างทางด่วนพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอก ซึ่งทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตจตุจักรได้รับผลกระทบเรื่องที่อยู่อาศัยที่ไม่มั่นคง โดยเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคืนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสร้างทางด่วนให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยเร็ว
ด้านนพ.ประสิทธิ์ ตัวแทนรัฐบาลผู้รับข้อเสนอกล่าวว่า ปัญหาเรื่องที่ดินเป็นปัญหาเรื้อรังที่ต้องใช้เวลานานในการแก้ปัญหา อย่างไรก็ดีรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจและพยายามแก้ไขมาโดยตลอด ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการหางบประมาณเพื่อจัดซื้อที่ดินจัดสรรให้ประชาชน โดยจะนำข้อเสนอดังกล่าวเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและจะเชิญตัวแทนชาวบ้านเข้าร่วมหาแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวร่วมกับรัฐบาลต่อไปโดยเร็ว
ด้านนายเกียรติศักดิ์ มีสมพร แกนนำชาวบ้าน สอช. กล่าวว่า สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขโดยเร่งด่วนคือ หยุดกระบวนการการฟ้องร้องประชาชนคนจนในคดีที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน โดยให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและแสดงความคิดเห็นเรื่องนโยบายที่อยู่อาศัยของชุมชนเนื่องจากที่ผ่านมาประชาชนไม่มีส่วนร่วม
“วันนี้รัฐบาลต้องฟังเสียงประชาชน อยากให้รัฐบาลจัดสรรที่ดินให้พี่น้องคนจนโดยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้มีการเช่าหรือแบ่งปันที่ดินอย่างเป็นระบบโดยการกำหนดเป็นวาระแห่งชาติและลงมือทำจริง รวมถึงการแก้กฎหมายให้มีการสนับสนุนเรื่องสิทธิชุมชนมากขึ้น ปีที่ผ่านมาสอช.ได้เสนอข้อเรียกร้องเช่นเดียวกันไปแต่ก็ไม่ได้รับการสนใจดำเนินการแก้ไขจากรัฐบาลเท่าที่ควร อย่างไรก็ดีครั้งนี้ชาวบ้านจะไม่รอถึงปีหน้าแล้ว เราจะรอฟังคำตอบจากรัฐบาลภายใน 90 วัน หากไม่มีความคืบหน้า ประชาชนจะรวมตัวกันออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐบาลอีกครั้งต่อไป” นายเกียรติศักดิ์กล่าว
ด้านนางบุญล้อม ฮกเหลี่ยม ตัวแทนชาวบ้านสอช. ภาคตะวันตกกล่าวว่า คนยากจนทุกวันนี้ไม่ได้ต้องการแบมือขอเงินจากรัฐบาล ปัจจุบันชาวบ้านมีศักยภาพในการบริหารจัดการชุมชนและต้องการให้รัฐมอบโอกาสในการมีส่วนร่วมจัดการที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตดั้งเดิมที่เคยเป็นมา โดยเชื่อว่าการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นคือแนวทางหนึ่งที่จะทำให้ชุมชนมีส่วนร่วมมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนจากสอช.กว่า 4 พันคนยังได้เคลื่อนขบวนจากทำเนียบรัฐบาลไปกระทรวงคมนาคมเพื่อยื่นข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจนซึ่งได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเส้นทางคมนาคมต่างๆของรัฐบาลด้วย โดยมีนายสุรเชษฐ์ ชัยโกศล เลขานุการรัฐมนตรีว่า
ทั้งนี้ในวันเดียวกันขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(PMOVE)หรือ ขปส. ซึ่งเป็นเครือข่ายของเกษตรกรรายย่อยและคนจน ประกอบด้วย เครือข่ายสลัม4ภาค สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง ฯลฯ กว่า 3 พันคน ได้เดินขบวนมายังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลเปิดการเจรจาแก้ปัญหาของคนจนด้วย
โดยขปส.แถลงว่า 1ปีที่ผ่านมาจากการที่ขปส. ได้ผลักดันให้นายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการ ฯและอนุกรรมการฯแก้ไขปัญหาเพื่อคนจนโดยมีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการ พบว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ให้ความสำคัญและไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินให้แก่ประชาชน ทำให้กว่า 500 กรณีปัญหาย่ำอยู่กับที่ เช่น การจัดให้มีโฉนดชุมชนและการจัดตั้งธนาคารที่ดินถูกแช่แข็งและเปลี่ยนแปลงหลักการไป ในขณะที่หลายกรณีปัญหามีข้อยุติไว้ชัดเจน แต่กลับถูกขัดขวางจากระบบราชการที่ล้าหลังซึ่งไม่ยอมรับการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น กรณีโครงการบ้านมั่นคง คนไทยพลัดถิ่น และกรณีเขื่อนปากมูล ดังนั้นขปส.จึงต้องการให้รัฐบาลเปิดการเจรจากับประชาชนอย่างเป็นทางการ โดยเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีออกมารับฟังปัญหาและเจรจากับประชาชนด้วยตนเอง
ด้านนายประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาขปส.กล่าวว่า ขณะนี้ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหาที่ทำกินและที่อยู่อาศัยอย่างเป็นรูปธรรม โดยที่ผ่านมาแม้ว่ารัฐบาลจะเคยแถลงนโยบายเกี่ยวกับกระจายสิทธิในการถือครองที่ดินด้วยมาตรการภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า โฉนดชุมชน หรือสิทธิชุมชนไว้ แต่พบว่าไม่มีความคืบหน้าใดๆ วันนี้ประชาชนจึงต้องการมาทวงสัญญาที่รัฐบาลเคยบอกไว้ โดยต้องการให้นายกรัฐมนตรีลงมาเจรจากับชาวบ้านด้วยตนเองและจะปักหลักรอหน้าทำเนียบรัฐบาลอย่างสงบจนกว่าจะได้เจรจากับนายกฯต่อไป
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าล่าสุดว่า ช่วงเย็นที่ผ่านมามีการตกลงให้ตัวแทนขปส.เข้าไปเจรจาเพื่อหาข้อสรุปในการแก้ไขปัญหาคนจนกับนายกรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้(2ต.ค.55)ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล
ภาพประกอบข่าว:::