เอ็นจีโอค้าน “โต้งฟื้นอาเซียนโปแตซ” หวั่นดินถล่ม-ดินเค็มอีสาน
นักวิชาการ-เอ็นจีโอค้าน “กิตติรัตน์” ฟื้นอาเซียนโปแตซ 4.3 หมื่นล้านบ.รองรับเออีซี ชี้เคยล้มเหลวไม่คุ้มทุน หวั่นขุดอีสานล้านไร่ทำเหมือง ก่อดินถล่ม-ดินเค็ม เตรียมเสนอร่าง กม.แร่ฉบับประชาชนคาน ก.อุตฯ
จากกรณีข่าวนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสั่งการให้กระทรวงการคลังคัดเลือกรัฐวิสาหกิจเข้าร่วมลงทุนโครงการอาเซียนโปแตชมูลค่า 4.3 หมื่นล้านบาท และเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี ซึ่งโครงการดังกล่าวจะเป็นการทำเหมืองเพื่อผลิตแร่โปแตซ 1.1 ล้านตันระหว่างปี 2557-2559 ซึ่งปัจจุบันบริษัทเหมืองแร่โปแตซอาเซียนอยู่ระหว่างยื่นขอประทานบัตรเพื่อขุดเจาะแร่โปแตซใน อ.บำเหน็จณรงค์ อ.จตุรัส จ.ชัยภูมิ และ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวถูกคัดค้านจากกลุ่มนักอนุรักษ์และชาวบ้านในพื้นที่ตลอดมา โดยหวั่นเกรงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเกลือที่จะเกิดขึ้นจากการขุดเจาะกว่าปีละ 1 ล้านตัน ‘ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา’สัมภาษณ์นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน(กป.อพช.อีสาน) กล่าวว่าอาเซียนโปแตซเป็นการรื้อฟื้นโครงการเก่า 20 ปีที่แล้วขึ้นมาปัดฝุ่นทำใหม่เพื่อรองรับการเปิดประตูเศรษฐกิจอาเซียนในปัจจุบัน ทั้งนี้นอกจากโครงการดังกล่าว ในภาพรวมแล้วยังมีความพยายามผลักดันกว่า 10 พื้นที่ใน 6-7 จังหวัดภาคอีสานให้เป็นเหมืองแร่โปแตซ รวมแล้วกว่า 1 ล้านไร่
“นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไปเยือนจีน นายกรัฐมนตรีเหวินเจียเป่าของจีนขอให้ไทยเปิดทางบริษัทเอกชนจีนเข้ามาทำเหมืองโปแตซในอีสาน จากนั้นปี 55 ก็มีการสำรวจพื้นที่ เช่น กว่า 2 แสนไร่ใน อ.ท่าบ่อ สังคม และศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย, กว่า 1 แสนไร่ใน อ.พระธาตุพนม จ.นครพนม และ 1.9 แสนไร่ใน อ.คำเขื่อนแก้ว อ.เมือง จ.ยโสธร”
เลขาธิการ กป.อพช.อีสาน กล่าวอีกว่าโครงการอาเซียนโปแตซเคยสำรวจแล้วว่าไม่คุ้มทุน ส่วนโครงการอื่นๆสิ่งที่จะเกิดตามมาแน่นอนคือผลกระทบดินเค็มอีสานและการแย่งน้ำที่หนักหนากว่าปัญหานาเกลือกับนาข้าวในอดีตกว่า 10 เท่า จะกระทบพื้นที่เกษตรกรรมมหาศาล ซึ่งต้องตั้งคำถามกับรัฐบาลว่าต้องการให้ทิศทางการพัฒนาภาคอีสานเป็นพื้นที่เกษตรกรรมหรือเหมืองแร่
“จำเป็นต้องให้ประชาชนเข้าใจก่อนว่าเมื่อมีเหมืองโปแตชแล้วนำไปสู่การพัฒนาที่ดีอย่างไร ต้องชาวบ้านเจ้าของพื้นที่มีส่วนร่วมตัดสินใจ มิเช่นนั้นอาจเกิดความขัดแย้งรุนแรงเหมือนกรณีชาวบ้านอุดรธานีกับบริษัทอิตัลไทยที่กำลังขอประทานบัตรเหมืองโปแตซกับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่”
นายสุวิทย์ กล่าวต่อว่า สำหรับการขับเคลื่อน พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่ ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายครบถ้วนแล้ว ซึ่งมีเนื้อหาที่เอื้อต่อการทำเหมืองแร่มากเกินไป เช่น ให้ขุดเจาะใต้ดินลึกกว่า 100 เมตรโดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของที่ดิน ที่สำคัญยังอนุญาตให้มีการขุดแร่ได้ในพื้นที่ป่าสมบูรณ์ ซึ่งภาคประชาชนไม่เห็นด้วยและเตรียมนำเสนอร่างกฎหมายแร่ฉบับประชาชน
ด้านนายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องแร่ กล่าวว่าโครงการอาเซียนโปแตซเคยดำเนินการขุดเจาะอุโมงค์ 1 เส้นนำร่องศึกษาที่ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ แต่ขาดทุนเพราะพบเพียงแร่บริสุทธิ์ต่ำไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ จึงไม่มีเอกชนรายใดกล้าลงทุน รัฐบาลไทยจึงชะลอโครงการไว้กระทั่งมีข่าวออกมาในปัจจุบันว่ากำลังจะรื้อฟื้น ทั้งนี้โครงการดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่กว่า 1 หมื่นไร่ ซึ่งจะสร้างผลกระทบใน จ.ชัยภูมิ มหาศาล รวมทั้งผลกระทบสิ่งแวดล้อมคือปัญหาดินเค็ม และอาจเกิดดินถล่ม
.