สวรส.เผยถ่ายโอนสถานีอนามัยสู่ท้องถิ่นล่าช้า 5 ปี ชิมลางทำได้แค่ 28 แห่ง
สวรส.เผยผลวิจัย 5 ปีถ่ายโอนสถานีอนามัย สู่ท้องถิ่น มีแนมโน้มดีขึ้น หลังนักการเมืองดึงการทำงานด้านสุขภาพ เป็นจุดขายเรียกคะแนนเสียง ชี้กระบวนการถ่ายโอนล่าช้า เหตุขาดไฟเขียว ด้านนโยบายจาก รบ.
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันระบบวิจัยสาธารณสุข (สวรส. ) นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ติดตามผลการถ่ายโอนสถานีอนามัย (สอ.) ให้สังกัดองค์กรปกครองส่วนถิ่น (อปท.) ตามแผนการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ โดยหยิบยกกรณีการถ่ายโอน สอ.บ้านสันนาเม็ง อ.สันทราย สอ.สุเทพ อ.เมือง และโรงพยาบาลชุมชนตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็นโมเดลการศึกษา หลังพบผลการดำเนินมีแนวโน้มประสบความสำเร็จ อปท.สามารถทำงานเชิงรุกตอบโจทย์ชุมชนได้เป็นอย่างดี
ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวถึงการกระจายอำนาจ รูปแบบการถ่ายโอนสถานีอนามัย และโรงพยาบาลสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้สังกัด อปท.ว่า เป็นรูปแบบหนึ่งการปฏิรูประบบสุขภาพ ตามแนวทางการพัฒนาประเทศบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วม โดยในปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ถ่ายโอน สอ. และ รพ.สต.ให้กับ อปท. ไปแล้วจำนวน 28 แห่ง นับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา และในปี 2556 จะมีการขยายเพิ่มอีก 11 แห่ง รวมเป็น 39 แห่งจากจำนวนทั้งสิ้น 9,762 แห่งทั่วประเทศ
“สถานการณ์ในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าการถ่ายโอนยังไม่มีความก้าวหน้ามากนัก จำเป็นต้องมีการวิจัย เพื่อนำประสบการณ์ บทเรียน ข้อคิดเห็นต่างๆ มาใช้ปรับปรุงกลไกการกระจายอำนาจที่เหมาะสมสำหรับบริบทประเทศไทยต่อไป ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับชุมชน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยให้ดียิ่งขึ้น” ผศ.ดร.จรวยพร กล่าว
ด้าน รศ.ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง ภาควิชาสังคมและสุขภาพ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และนักวิจัย สวรส. กล่าวถึงผลวิจัย ‘การประเมินผลท้องถิ่นกับการพัฒนาระบบสุขภาพในบริบทการกระจายอำนาจ: การสังเคราะห์บทเรียนและข้อเสนอเชิงนโยบาย’ ว่า การถ่ายโอน สอ. ตลอดระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ เปรียบได้กับการชิมลาง เพราะเมื่อการถ่ายโอนนั้น หมายถึงการโอนอำนาจและทรัพยากรต่างๆ จากส่วนกลางไปยังท้องถิ่น ส่วนกลางจึงรู้สึกเหมือนกับสูญเสีย ทั้งในมิติเงิน คน ทำให้มีแรงต้านเกิดขึ้น
“ขณะเดียวกันเมื่อ สอ. ย้ายไปสู่ท้องถิ่นก็พบปัญหาในเรื่องของการปรับตัว สอ.ต้องไปสังกัดหน่วยงานขนาดเล็ก บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานร่วมกับนักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งหากนักการเมืองขาดวิสัยทัศน์ก็จะมีปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้น และในบางพื้นที่นั้นบุคลากรถึงขั้นลาออกก็มี”
รศ.ดร.ลือชัย กล่าวถึงทิศทางของการถ่ายโอน การปรับตัวของท้องถิ่นในขณะนี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากภาคการเมืองเริ่มมองเห็นแล้วว่า การทำงานด้านสุขภาพเป็นเรื่องของการได้มาซึ่งคะแนนเสียง และการมี สอ. เป็นของตัวเองก็เป็นมีแต่ได้กับได้ ทำให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)หลายแหล่งในขณะนี้ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณเข้ากองทุน สปสช. มากกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้
"ส่วนในด้านผู้ปฏิบัติงานนั้น จากการสำรวจพบว่า เจ้าหน้าที่ยินดีถ่ายโอนไปยังท้องถิ่น เพราะมองว่า การทำงานอยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข เขียนรายงานส่งกระทรวง ไม่ตอบโจทย์ที่แท้จริงของชาวบ้าน"
รศ.ดร.ลือชัย กล่าวอีกว่า การกระจายอำนาจด้านสุขภาพ ความเป็นอยู่ไปยังท้องถิ่นนั้น เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นทิศทางที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ อีกทั้งหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมา เช่น ในช่วงมหาอุทกภัยปีก่อน สะท้อนให้เห็นแล้วว่า รัฐบาลกลางไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ ยิ่งในปัจจุบันปัญหาด้านสุขภาพมีความซับซ้อน ชุมชนมีความหลายหลาย วิถีชีวิตของผู้คนแตกต่างกันมากขึ้น จึงต้องเป็นเรื่องของชุมชน ที่ต้องร่วมมือกันในการจัดการปัญหาดังกล่าว และแนวทางนี้กำลังเกิดขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก
เมื่อถามถึงแนวโน้มการถ่ายโอน จะเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด รศ.ดร.ลือชัย กล่าวว่า ยังไม่แน่ใจ เพราะติดขัดด้านนโยบายที่ยังไม่มีความชัดเจน ยังไม่ได้รับไฟเขียวในเรื่องนี้ แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการทำงานของท้องถิ่นและ สอ.จะต้องมีการร่วมมือกันในการกำหนดทิศทางด้านสุขภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสอบถามความคิดเห็นผู้บริหารท้องถิ่นใน 3 พื่นที่ดังกล่าวถึงปัญหาและอุปสรรคในการถ่ายโอน สอ.ให้กับ อปท.พบความเห็นที่น่าสนใจดังนี้
นายนันทพล พงศธรวิสุทธิ์ นายกเทศมนตรีตำบลสันนาเม็ง กล่าวว่าการถ่ายโอน สอ.ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ดำเนินการไปได้เพียง 0.4% เท่านั้น สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการรับโอนนั้น สร้างภาระด้านงบประมาณให้กับท้องถิ่น โดยเฉพาะกรณีการรับโอนข้าราชการ ซึ่งหากเกิดกรณีข้าราชการที่รับโอนมาในช่วงแรก เกษียณอายุราชการ หรือเสียชีวิต ท้องถิ่นจะต้องตั้งงบใหม่ในตำแหน่งที่ว่างลงเอง
ขณะที่นายนพดล ณ เชียงใหม่ นายก อบต.ดอนแก้ว มองว่า สาเหตุที่การถ่ายโอนไม่ประสบความสำเร็จนั้น ปัจจัยสำคัญอยู่ที่อำนาจเพียงตัวเดียว เพราะตราบใดที่ส่วนกลางยังไม่คายอำนาจ กลัวสูญเสียในเรื่องผลประโยชน์ ก็ไม่มีทางจบ ไม่มีทางประสบความสำเร็จได้
“4-5 ปีที่ผ่านมา เราถ่ายโอน สอ.ได้เพียง 28 แห่ง ขณะที่ สอ.ทั่วประเทศมี 9,762 แห่ง ลองคิดดู ถ้าใช้เวลาขนาดนี้ 300 กว่าปีก็ยังถ่ายโอนไม่หมด” นายนพดล กล่าว และว่า ส่วนท้องถิ่นที่รับโอน สอ.มาแล้ว จะทำงานได้ผลมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายและความตั้งใจจริงของผู้บริหาร รวมถึงผู้ปฏิบัติงาน ถ้าขึ้นป้ายใหญ่ๆ แต่ไม่ได้ทำอะไรเลย คงไม่มีอะไรเกิดขึ้นแน่นอน
ส่วนนายธัญศักดิ์ แสงศรีจันทร์ นายกเทศมนตรีตำบลสุเทพ กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมามองว่าการถ่ายโอนนั้นมีปัญหา ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ พบว่า เมื่อถ่ายโอนมาจากส่วนกลางแล้วจะรู้สึกแปลกแยก เพราะต้องมาทำงานอยู่ภายใต้การปกครองของนักการเมืองท้องถิ่น ขณะเดียวกันหากมาเจอกับนักการเมืองท้องถิ่นที่ขาดวิสัยทัศน์ คิดแต่เรื่องคะแนนเสียงอย่างเดียว ก็ต้องถือเป็นความโชคร้าย เพราะพฤติกรรมของนักการเมือง สามารถทำให้อะไรต่างๆ ผิดผันไปได้มากมาย