"แนวร่วมกลับใจ" กับภารกิจใหม่ที่ต้องทำ
คณะกรรมการประสานงานและรณรงค์เพื่อยุติการต่อสู้ด้วยวิธีรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งตั้งขึ้นโดย พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค 4) ได้ประชุมนัดแรกกันไปแล้วเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 ก.ย.2555
การแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากกรณีมีกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 93 คนเข้าแสดงตัวกับแม่ทัพภาคที่ 4 ที่ จ.นราธิวาส เพื่อประกาศจุดยืนยุติการต่อสู้โดยใช้ความรุนแรง เมื่อวันอังคารที่ 11 ก.ย.2555 ทำให้แม่ทัพมีดำริว่าน่าจะมีคณะกรรมการฯที่เดินงานด้านนี้ต่อไป โดยดึงกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ซึ่งเคยเป็นแนวร่วมขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนมาร่วมเป็นคณะทำงานด้วย
คณะกรรมการชุดนี้มีกรรมการทั้งสิ้น 18 ราย มีทั้งทหารและตัวแทนกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ประกอบด้วย
1) พล.ต.ชรินทร์ อมรแก้ว เสนาธิการกองทัพภาคที่ 4 เป็นประธาน
2) พ.อ.ธิรา แดหวา รองประธาน
3) พ.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธาน
4) พ.อ.สิทธิพร มุสิกะสิน รองประธาน
5) นายมุกตาร์ ซีกะจิ ผู้ประสานงานกลุ่มผู้เห็นจากต่างรัฐ และโฆษกพรรคประชาธรรม เป็นกรรมการ
6) นายโมหะหมัดบักรี ตาเราะซี กรรมการ
7) นายมะรอโซ กาเด็งหะยี กรรมการ
8) นายสะแลแม กานา กรรมการ
9) นายอาลีปอ แมนา กรรมการ
10) นายอะหะมะ มะโระ กรรมการ
11) นายตอลิฟ สามะอาลี กรรมการ
12) นายสุอาน สะปูติง กรรมการ
13) นายสะแปอิง นาลี กรรมการ
14) นายสะอูดี อีแต กรรมการ
15) นายมะนาวี แยนา กรรมการ
16) นายอับดุลรอซะ ฆาเด อดีตจำเลยในคดีความมั่นคง และแกนนำผู้ต้องขังในเรือนจำจังหวัดนราธิวาส เป็นกรรมการ
17) นายไซด์ยิดอันวาร์ อัลอิดรุส เลขานุการ
18) นายประสิทธิ์ สันต์องค์ ผู้ช่วยเลขานุการ
ตั้งเป้าโน้มน้าวแนวร่วมป่วนใต้วางอาวุธ
สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานและรณรงค์เพื่อยุติการต่อสู้ด้วยวิธีรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็คือ รวบรวม ศึกษา วิเคราะห์ สภาพปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาตามความเหมาะสม โดยยึดหลักสันติวิธีและการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งเสริมการจัดตั้งและขยายเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนในการปฏิเสธการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดำเนินการรณรงค์โน้มน้าวให้กลุ่มบุคคลผู้ที่ยังคงต่อสู้กับรัฐได้ยุติบทบาทการต่อสู้ แล้วกลับออกมาร่วมแสดงตนเพื่อร่วมในการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีตามความเหมาะสม
ประสานการปฏิบัติในการนำพาจัดให้มีการอบรม เสวนา สัมมนา ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์เอกสารเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ปรับทัศนคติเกี่ยวกับประเด็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ว่าจะต้องแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยแนวทางสันติ ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ไข
พร้อมให้คำปรึกษา หารือ หรือเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานให้แก่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในกิจการที่เกี่ยวกับการเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความเห็นต่างกับรัฐและต้องการยุติการต่อสู้ด้วยวิธีรุนแรง ได้มีช่องทางในการออกมาแสดงตนเพื่อยุติการต่อสู้
ใช้อดีตแนวร่วมเป็น "ผู้ส่งสาร"
ด้าน พล.ท.อุดมชัย ซึ่งเดินทางไปรับฟังการประชุมนัดแรกที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี ด้วย กล่าวว่า คณะกรรมการชุดนี้จะไปสื่อสารว่าการต่อสู้เพื่อมวลชนนั้นมีหลายวิธีที่ไม่ต้องใช้ความรุนแรง และขณะนี้มวลชนส่วนใหญ่ก็ไม่ต้องการความรุนแรงแล้ว
"เราพยายามเร่งรัดส่งข่าวไปยังผู้ที่มีความประสงค์จะยุติการต่อสู้ด้วยความรุนแรงและออกมาต่อสู้ด้วยมวลชนในแนวทางสันติว่าจะต้องทำอย่างไร มีช่องทางไหน และถ้ามีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายจะทำอย่างไร คณะกรรมการคณะนี้จะมีการพูดคุยในรายละเอียด และคงจะมีข้อสรุปออกมาว่าจะดำเนินการเต็มระบบอย่างไร"
แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวต่อว่า แต่เดิมกรรมการหลายคนในคณะก็มีความสัมพันธ์กับกลุ่มคนที่ใช้ความรุนแรงอยู่ ก็จะใช้ความสัมพันธ์ที่ดีที่มีแต่เก่าก่อนทำความเข้าใจ เพราะความเข้าใจเป็นเรื่องใหญ่ และกรรมการเหล่านี้จะรับหน้าที่เป็นสื่อทำความเข้าใจกับน้องๆ ที่คิดว่าความรุนแรงเป็นสิ่งที่มวลชนต้องการ เพื่อให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องว่ามวลชนไม่ได้ต้องการความรุนแรง และมีวิธีให้กลุ่มคนเหล่านั้นออกมาพูดคุยกันได้อย่างไร
เตือนป่วนไม่เลิกจะถูกโดดเดี่ยว
"สิ่งที่สำคัญคือมวลชน เพราะคนที่ไปต่อสู้ก็บอกว่าต่อสู้เพื่อมวลชน แต่ตอนนี้คงเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ามวลชนไม่มีใครต้องการความรุนแรง ไม่ต้องการเห็นระเบิด ไม่ต้องการเห็นการยิงกัน ซึ่งตรงนี้เป็นจุดอิ่มตัวตั้งนานแล้ว แต่คนที่ต่อสู้นั้นยังใช้กลวิธีเก่าๆ เพื่อทำให้มวลชนหวาดกลัว ไม่กล้าให้ความร่วมมือกับรัฐ ซึ่งในส่วนนี้กำลังถึงจุดเปลี่ยน เพราะมีคนที่เคยใช้ความรุนแรง แต่ตอนนี้เขาออกมาพูดคุยในแนวทางสันติภาพทะยอยกันออกมาเรื่อย"
"สิ่งที่เราทำจะทำให้มวลชนเข้าใจว่าในเมื่อคุณอ้างว่าต่อสู้เพื่อมวลชน แต่มวลชนไม่เห็นด้วย ถ้ายังจะต่อสู้ด้วยความรุนแรงไปสักวันก็คงจะอยู่แบบโดดเดี่ยว เพราะในส่วนหนึ่งรัฐเองมีเครื่องมือในการบังคับใช้กฎหมายอยู่แล้ว ขณะนี้ที่เขายังอยู่ได้ก็คือมวลชนยังปกป้องอยู่ แต่วันใดที่มวลชนไม่ปกป้อง เขาคงไปไม่รอดแน่นอน"
สำหรับช่องทางการเข้าแสดงตัวและกลับคืนสู่สังคมอย่างปกติสุขนั้น พล.ท.อุดมชัย กล่าวว่า คนเหล่านี้บางส่วนไม่ได้เป็นอาชญากรโดยสันดาน ฉะนั้นรัฐควรหาวิธีให้ความเป็นธรรม แต่ขณะเดียวกันกฎหมายบ้านเมืองก็ยังมีความศักดิ์สิทธิ์ เท่าที่ตรวจสอบช่องทางก็พบหลายช่องทางที่สามารถดำเนินการได้ เช่น การใช้มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคง รวมทั้งมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
"ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา มีคนเข้ามาแสดงตัว และมีหมาย ป.วิอาญา (ออกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) เมื่อเขามอบตัวสู้คดีเราก็ให้ประกัน และทางตำรวจก็จะรวบรวมหลักฐาน ถ้าพยานหลักฐานมีไม่ครบก็อาจไม่ส่งฟ้อง แต่ถ้าใครยังเห็นว่าคดีมีความก้ำกึ่ง ก็อาจต้องรอประกาศเพื่อที่จะนำมาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคงมาใช้ก่อน" แม่ทัพภาคที่ 4 ระบุ
"แนวร่วมกลับใจ"กับภารกิจใหม่ที่ต้องทำ
ด้านความเห็นของกรรมการจากกลุ่มตัวผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ นายมะนาวี แยนา อดีตแนวร่วม กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการประสานงานและรณรงค์เพื่อยุติการต่อสู้ด้วยวิธีรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นแนวทางที่ดี และจะเดินหน้าขับเคลื่อนงานกับพรรคพวกอีกหลายๆ คน พร้อมให้ข้อเสนอแนะต่อทางการ เชื่อว่าเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่สันติสุขในพื้นที่ได้ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่อยากเจอเรื่องร้ายๆขึ้นในหมู่บ้าน
มะนาวี ยังกล่าวฝากไปถึงคนที่กำลังหลงผิดอยู่ด้วยว่า อยากให้เพื่อนๆ ที่หลงผิดอยู่ได้คิดดีๆ ว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ และถูกในแนวทางศาสนาหรือเปล่า ถ้าเป็นเมื่อก่อนช่วงที่ใช้แนวทางตามหลักศาสนาเป็นหลัก เชื่อว่าทุกคนพร้อมจะเดินหน้าต่อไป แต่สำหรับปัจจุบันมันไม่ใช่แล้ว เพราะเป้าของความรุนแรงไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่ แต่เป็นประชาชน รวมไปถึงเด็ก จึงอยากให้ทบทวนตรงจุดนี้
"ในอดีตเราเน้นย้ำเฉพาะเจ้าหน้าที่ แต่พอหลังๆ มันไม่ใช่แล้ว ก็อยากให้ตระหนักสักหน่อยว่า ถ้าเราก่อเหตุแล้วโดนใครมากกว่า จึงอยากให้ออกมาร่วมทำงานเพื่อความสงบของหมู่บ้าน สำหรับคนที่ติดหมาย ป.วิอาญา และยังมีความกลัวอยู่ ผมก็หวังว่าการที่เราเข้ามาร่วมเป็นกรรมการตรงนี้ จะทำให้ทุกคนกลับบ้านได้โดยไม่ต้องอยู่ในคุก"
ส่วนเรื่องการลงพื้นที่เพื่อทำงาน จะมีปัญหาหรือไม่นั้น มะนาวี กล่าวว่า ไม่มีปัญหา และยังคงลงพื้นที่อยู่เรื่อยๆ เพื่อพบปะเพื่อนฝูง ตอนนี้มองว่าการแก้ปัญหามาถูกทาง เพราะทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ก็จะหาคนมาร่วมทำงานด้วย (หมายถึงตั้งคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งคู่ขนานกัน ดูแลเรื่องความเป็นธรรรม) และคิดว่าสถานการณ์คงดีขึ้นตามลำดับ
วันเดียวกันนี้ ยังมีผู้ที่เห็นต่างจากรัฐจำนวน 18 คนจาก จ.ยะลา เข้าแสดงตัวต่อแม่ทัพภาคที่ 4 กลางวงประชุมคณะกรรมการประสานงานและรณรงค์เพื่อยุติการต่อสู้ด้วยวิธีรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้นัดแรกด้วย
นายคอเลด สาและ ผู้ร่วมแสดงตนจาก จ.ยะลา กล่าวว่า แนวทางการต่อสู้กับรัฐที่กำลังทำกันอยู่นั้นเข้าข่ายผิดกฎหมาย จึงหันกลับมาร่วมมือกับรัฐ เพื่อจะได้กลับมาใช้ชีวิตเหมือนคนธรรมดา จากเดิมที่ต้องอยู่ด้วยความหวาดระแวง
"อยากให้คนที่กำลังอยู่ในสถานการณ์ลำบากได้ออกมาร่วมพัฒนาประเทศต่อไป และหลังจากได้คุยกับเจ้าหน้าที่รัฐ ก็รู้สึกมั่นใจในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้นกว่าเดิม" นายคอเสด ระบุ
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 การประชุมคณะกรรมการประสานงานและรณรงค์เพื่อยุติการต่อสู้ด้วยวิธีรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นัดแรก ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี
2 มะนาวี แยนา (พรางภาพโดยฝ่ายศิลป์ ทีมข่าวอิศรา)
หมายเหตุ : ภาพทั้งหมดโดย สมศักดิ์ หุ่นงาม
อ่านประกอบ :
1 กก.รณรงค์แนวร่วมวางปืนนัดถก27ก.ย. "ประยุทธ์"ร่ายยาวเลิก-ไม่เลิก พ.ร.ก.
http://www.isranews.org/south-news/Academic-arena/45-2009-11-15-11-18-09/16627-27-qq-.html
2 เปิดแผนรัฐเลิก พ.ร.ก.ใต้ ลุยตั้ง "กก. 2 ชุด" รณรงค์แนวร่วมวางอาวุธ
http://www.isranews.org/south-news/scoop/38-2009-11-15-11-15-01/16569--2-.html