ชุมชนบ้านมั่นคงอ่างทองรับสิทธิ์ใช้ที่ดินสาธารณะ ร้องขอโฉนดชุมชนเพื่อความยั่งยืน
มหาดไทยมอบสิทธิใช้ประโยชน์ที่ดินสาธารณะให้ชาวบ้านมั่นคงอ่างทอง ชุมชนหวั่นอนาคตถูกไล่รื้อ เพราะไม่มีกรรมสิทธิ์ ชงขอโฉนดชุมชนจัดการตนเองยั่งยืน
วันที่ 28 ก.ย. 55 สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เทศบาลเมืองอ่างทอง เครือข่ายชุมชนด้านที่อยู่อาศัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดพิธีมอบเอกสารการใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณะชุมชนสุทธาวาส ณ ชุมชนสุทธาวาส ต.ตลาดหลวง อ.เมือง จ.อ่างทอง
นายวิศว ศะศิสมิต ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า การขับเคลื่อนชุมชนเมืองในอ่างทองนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินร่วมกับชาวบ้านที่เดือดร้อน เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะคำนึงถึงการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมจากฐานราก แม้อดีตชุมชนสุทธาวาสจะขาดความพร้อม โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย แต่เมื่อมีการรวมตัวกันแก้ไขปัญหาจริงจังด้านความไม่มั่นคงในที่ดิน ศึกษาดูงานพื้นที่ต่าง ๆ จนเกิดความเข้มแข็ง และแสดงให้หน่วยงานรัฐเห็นว่าหากอนาคตอนุญาตให้ชาวบ้านใช้ที่ดินสาธารณะจะเกิดประโยชน์ต่อชุมชนได้ ดังนั้นจึงเสนอขอใช้ที่ดินสาธารณะแปลงทุ่งตลาดหลวงต่อกระทรวงมหาดไทย เนื้อที่ 2 ไร่ 1งาน ให้กับผู้ได้รับประโยชน์ 33 ครัวเรือน ซึ่งสร้างเสร็จและมอบหนังสืออนุญาตการใช้ที่ดินชั่วคราว 5 ปี จำนวน 11 หลัง ก่อนที่จะก่อสร้างเฟส 2 ต่อไป
ด้านน.ส.น้ำอ้อย ยังประดิษฐ์ ประธานชุมชนสุทธาวาส กล่าวว่า ชุมชนสุทธาวาสเป็นชุมชนที่อาศัยอยู่บนที่ดินของวัดโล่ห์สุทธาวาส และที่ดินสาธารณะ ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง มีรายได้น้อย ดังนั้นจึงรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ และพัฒนากระบวนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย โดยขอเสนอใช้ที่ดินสาธารณะบริเวณทุ่งตลาดหลวงต่ออปท. ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดี โดยเฉพาะเทศบาลเมืองอ่างทอง ทั้งนี้ยืนยันว่าปัญหายาเสพติด ค้าประเวณี และขยะ ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตจะหมดไป เพราะขณะนี้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งแล้ว
นางกันยา มากสุวรรณ์ หนึ่งในผู้ได้รับสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณะ กล่าวว่า ตนประกอบอาชีพค้าขายอาศัยอยู่ในที่ดินสาธารณะแห่งนี้มาหลายสิบปี เพราะไม่มีที่อยู่อาศัย แต่เมื่อหน่วยงานรัฐ และองค์กรภาคีเครือข่ายช่วยเหลือตามโครงการบ้านมั่นคงจนมีบ้านขึ้น แม้จะไม่ได้ครอบครองกรรมสิทธิ์ถาวรก็ตาม โดยครัวเรือนต้องจ่ายค่าเช่าแก่เทศบาลเมืองอ่างทองปีละ 100 บาท แต่แอบหวั่นว่าอนาคตหลังพ้น 5 ปีแล้ว เทศบาลเมืองอ่างทองไม่ให้ต่อสัญญาจะลำบากอีก จึงจะพยายามยื่นขอโฉนดชุมชนต่อไป
น.ส.ทองสุข พุ่มสงวน ตัวแทนสอช. กล่าวว่า คนจนในเมืองมักถูกกล่าวหาว่าเป็นคนสลัม ทำให้บ้านเมืองสกปรก จึงตกเป็นจำเลยสังคม และกลายเป็นข้ออ้างในการไล่รื้อ บางครั้งถูกดำเนินคดี ขณะที่การช่วยเหลือของภาครัฐไม่เต็มที่ ประกอบกับกฎหมายที่ล้าหลังไม่สอดคล้องกับคุณภาพชีวิตปัจจุบัน ทั้งที่ครอบครัวในชุมชนบางแห่งอยู่มาหลายชั่วอายุคน แต่กลับโดนไล่รื้อ จึงรวมตัวกันเป็นเครือข่ายเพื่อยื่นข้อเสนอให้ชาวบ้านได้สิทธิในการใช้พื้นที่สาธารณะเพื่ออยู่อาศัย โดยจะไม่คิดครอบครองเป็นกรรมสิทธิ์ แต่จะดูแลให้อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน
ขณะที่นายชัยวิชญ์ภณ ตังกิจ ผู้จัดการภาคกลาง อพช. กล่าวว่า ชุมชนสุทธาวาสได้รับสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินสาธารณะสำเร็จ เพราะชุมชนมีความเข้มแข็ง ประกอบกับอปท. ให้การสนับสนุน เเต่ชาวบ้านทุกครัวเรือนจำเป็นต้องหาสาเหตุของปัญหาว่าเพราะอะไรตนเองถึงจนและไม่มีที่อยู่อาศัย จากนั้นจะต้องแก้ไขปัญหาด้วยตนเองก่อน มิใช่รอรัฐช่วยเหลือฝ่ายเดียว
นายเชาวลิต อาสนสุวรรณ์ เจ้าพนักงานที่ดินจ.อ่างทอง กล่าวว่า เอกสารการใช้ประโยชน์ฯ ดังกล่าวให้สิทธิการอยู่อาศัยเพียง 5 ปี ห้ามซื้อขายแลกเปลี่ยน หากมีการเรียกคืนพื้นที่ชาวบ้านจะไปอยู่ที่ไหน ดังนั้นทิศทางการขับเคลื่อนสู่การออกโฉนดชุมชนเป็นอีกหนึ่งทางออกที่ทุกชุมชนควรทำ เพราะสามารถจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน และไม่ต้องกังวลว่าจะโดนไล่รื้อ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การมอบหนังสือการใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐเป็นส่วนหนึ่งในโครงการบ้านมั่นคงที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาชุมชนแออัด คือ การมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ไม่ต้องถูกไล่รื้อ และสามารถอยู่ในที่ดินเดิมได้ โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 46 จากการสำรวจข้อมูลปี 51 โดยองค์กรชุมชนร่วมกับเทศบาล พบว่า มีผู้เดือดร้อนที่อาศัยในที่ดินสาธารณะ 738 ชุมชน 45,495 ครัวเรือน มีชุมชนอยู่ในกระบวนการแก้ไขปัญหา 92 ชุมชน รวม 5,837 ครัวเรือน โดยมีพื้นที่นำร่องในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในพื้นที่สาธารณะ 20 ชุมชน รวมพื้นที่ดำเนินการ 112 ชุมชน ทุกภูมิภาค
ซึ่งขณะนี้มีชุมชนที่ได้รับมอบหนังสือรับรองการใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐแล้ว 5 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนศาลาแดง จ.เชียงใหม่ ชุมชนโพรงมะเดื่อ จ.นครปฐม ชุมชนหนองตาเหล็ก จ.อุดรธานี ชุมชนเหล่าเกวียนหัก จ.ขอนแก่น และชุมชนสุทธาวาส จ.อ่างทอง.