กสทช.ล้อมคอก ออกประกาศสื่อทำแผนรองรับภัยพิบัติ
ประกาศ ทีวี-วิทยุ ทำแผนปฏิบัติการรองรับเหตุภัยพิบัติ ผ่าน กสทช.ชุดใหญ่แล้ว รอประกาศในราชกิจจาฯ 'สุภิญญา' เผยเป็นครั้งแรก ขอความร่วมมือสื่อมีแอกชั่นแพลน นำเสนอข่าวจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ ย้ำชัดเตือนภัยห้ามออกความเห็น
วันที่ 27 กันยายน นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวในเวทีเชิงวิพากษ์ "กรุงเทพฯ 2555 ท่วม/ไม่ท่วม : (นักข่าว) เอาอยู่ไหม?" ณ อาคารศูนย์เรียนรู้ ส.ส.ท. ถึงประกาศ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติงาน ของผู้ประกอบกิจการเสียงและกิจการโทรทัศน์ ในกรณีเกิดภัยพิบัติ หรือเหตุฉุกเฉิน ซึ่งประกาศ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2555 ขณะนี้อยู่ระหว่างการประกาศในราชกิจจานุเบกษา
นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า หากประกาศฉบับนี้ผ่านราชกิจจาฯ แล้ว ภายใน 30 วันทุกสถานีโทรทัศน์ ต้องทำ Actiom Plan ก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุภัยพิบัติ ส่งมายัง กสทช. ถึงการนำเสนอข่าวรับมือภัยพิบัติอย่างเป็นทางการ และต้องแต่งตั้งผู้รับผิดชอบ เพื่อมาประสานงานกับ กสทช.
“ตัวอย่าง เช่น ประกาศ ข้อ 11 ระบุ ว่า การแจ้งข่าว หรือเตือนภัยให้ประชาชนทราบ จะต้องเป็นรายงานข้อมูลที่จำเป็นจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ ด้วยความรอบคอบ และระมัดระวัง ไม่ก่อให้เกิดความตระหนกตกใจแก่ประชาชน ทั้งนี้ สำหรับการออกอากาศ แจ้งข่าวหรือเตือนภัย ในกิจการโทรทัศน์จะต้องมีคำบรรยายเป็นอักษรวิ่ง เพื่อแจ้งข้อมูลให้ประชาชนทราบเป็นอย่างน้อย” กรรมการ กสทช. กล่าว และว่า การรายงานข้อมูลลักษณะเตือนภัย ห้ามนำเสนอข้อมูลลักษณะแสดงความคิดเห็น เว้นแต่จะเป็นความคิดเห็นจากเจ้าหน้าที่รัฐ หรือนักวิชาการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ
ส่วนการรายงานเสียงจากผู้สื่อข่าวในท้องที่ เจ้าหน้าที่ หรือผู้ประสบภัย ไม่ว่าจะทางโทรศัพท์ หรือถ่ายทอดสดนั้น นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า จะต้องมีการบันทึกชื่อของผู้ให้ข้อมูล และจะต้องไปเป็นการรบกวนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ และหากการออกอากาศสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชน ผู้อำนวยการสถานี ผู้มีหน้าที่ควบคุมรายการของแต่ละช่องต้องตัดการออกอากาศ
กรรมการ กสทช. กล่าวถึงการหาแหล่งข้อมูลของสื่อ กูรู หรือนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติ นั้น ทางสถานีต้องใส่รายชื่อมาพร้อมกันใน Actiom Plan ด้วย
“ถิอเป็น ครั้งแรกทุกสถานีต้องทำแผนปฏิบัติการ เพื่อรองรับการเกิดเหตุภัยพิบัติ เฉกเช่นกับการสร้างตึก ต้องทำแผนหนีไฟ บอกทางออก หรือขึ้นเครื่องบิน แอร์โฮสเตส ยังต้องบอกให้ท่านต้องทำอย่างไร นี่ถือเป็นการบังคับการมีแผนสำรองการนำเสนอข่าวภัยพิบัติ”
เมื่อถามถึงการนำเสนอข่าวลือ ข่าวลอย ข่าวพูดกันมา นั้น กรรมการ กสทช. กล่าวว่า ตอบยากว่า มีความผิดหรือไม่ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับจรรยาบรรณของสื่อ หากไม่มีเรื่องร้องเรียนก็แล้วไป ส่วนภาพข่าวภัยพิบัตินั้น ตนอยากให้เป็นภาพปัจจุบัน หรือหากใช้ภาพเก่า เพื่อการรายงานย้อนหลัง ก็ควรมีตัวหนังสือบอกประกอบ จะเป็นการดีอย่างยิ่ง
และเมื่อถามถึงกรณีโทนการเสนอข่าวภัยพิบัติ แนวดราม่า นั้น นางสาวสุกัญญา กล่าวว่า แม้จะไม่ผิดกฎหมาย แต่สื่อแต่ละแห่งก็ควรมีแนว และกรอบของตัวเอง ตั้งอยู่บนจรรยาบรรณ อีกทั้งการนำเสนอข่าวภัยพิบัติ สื่อไม่ควรลืมกลุ่มคนพิการ ขอให้ทำตัววิ่ง ภาษามือ เสริมเข้าไปด้วย เพราะเป็นเรื่องที่กระทบต่อชีวิตคนกลุ่มนี้ด้วยเหมือนก้น
กรรมการ กสทช. กล่าวถึงหน่วยงานรัฐ ที่ดูแลเรื่องภัยพิบัติ และจัดการข้อมูลอย่างเป็นทางการด้วยว่า ปีที่แล้ว กสทช.ได้รับร้องเรียนเข้ามาจำนวนมาก ฉะนั้น หน่วยงานภาครัฐ ต้องปฏิรูประบบการสื่อสารช่วงภัยพิบัติก่อน โดยสื่อสารด้วยความชัดเจน ถูกต้อง คมชัด ไม่สับสน ไม่ว่าจะยกหน่วยงานไหน เป็นหน่วยงานโดยเฉพาะ
อย่างไรก็ตาม สำหรับสาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ วัตถุประสงค์ เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อวิทยุ โทรทัศน์ โดยขอความร่วมมือมิให้มีการนำเสนอข่าวที่ไม่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกกับประชาชน
รายละเอียด เช่น มีการกำหนดคำว่า ภัยพิบัติเหตุฉุกเฉิน มีการกล่าวถึงคำว่า สาธารณภัย แหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ โดยเฉพาะ กสทช.กำหนดแหล่งข้อมูล สื่อจะไปรับข้อมูลจากไหนมานั้น เพื่อป้องกันการตื่นตระหนก แหล่งข้อมูลนั้นต้องน่าเชื่อถือ ถูกต้อง เป็นต้น