แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
‘นิด้า’ ล่ารายชื่อ 127 นักวิชาการ ยื่น ศาล รธน.ล้มจำนำข้าว
นิด้า-เศรษฐศาสตร์ มธ. รวมกลุ่มยื่นร้องศาล รธน.ค้านจำนำข้าว เปิดรายชื่อมี บรรเจิด-พิชาย-พรายพล ลงชื่อด้วย ชี้ผิด ม.84 (1) คาดปีนี้มองเห็นความล้มเหลวชัดเจน
วันที่ 27 กันยายน กลุ่มนักวิชาการ คณาจารย์ บุคลากรและนักศึกษา รวม 127 คน นำโดย รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และคณาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงข่าวในการรวมตัวจัดทำหนังสือร้องเรียนต่อคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาใช้อำนาจตามกฎหมาย เพื่อขอให้ยับยั้งหรือยุติโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ด้วยเพราะการดำเนินการดังกล่าวเป็นการดำเนินงานที่ขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ในมาตรา 84 วงเล็บหนึ่ง
รศ.ดร.อดิศร์ กล่าวว่า หลักในการจำนำที่ถูกต้อง จะต้องให้ราคาจำนำที่ต่ำกว่าราคาตลาดในระดับที่เหมาะสม เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรไถ่ถอนคืนเพื่อนำไปขายในตลาดเมื่อราคาข้าวสูงขึ้น แต่โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลนี้ จงใจตั้งราคารับจำนำให้สูงกว่าราคาตลาดอย่างชัดแจ้ง โดยไม่ได้มีเจตน์จำนงหรือคาดการณ์ให้เกษตรกรไถ่ถอนคืนแต่อย่างใด ซึ่งการกระทำเช่นนี้ไม่ใช่การรับจำนำ แต่เป็นการทำตัวเป็นพ่อค้าข้าวรายใหญ่ที่สุดรายเดียวของประเทศ เป็นการผูกขาดตัดตอนที่ทำลายระบบการค้าของไทยที่อาศัยกลไกตลาดที่มีประสิทธิภาพ และยังส่งผลต่อระบบการผลิตข้าวที่บิดเบือนกลไกตลาดด้วย
“จุดที่บ่งชี้ถึงการผูกขาดตลาดข้าว เนื่องจากรัฐบาลตั้งราคารับจำนำ 15,000 บาทต่อตัน ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดโลกที่มีราคา 10,000 บาทต่อตัน โดยราคาที่ควรจะเป็นคือ 8,000 บาทต่อตัน เป็นช่องทางที่เปิดให้เกษตรกรไม่มาไถ่ถอนข้าวที่จำนำไว้ จึงไม่ใช่โครงการจำนำข้าวอีกต่อไป” รศ.ดร.อดิศร์ กล่าว และว่า โครงการดังกล่าวมีเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการ 1.2 ล้านครัวเรือน จาก 3.7 ล้านครัวเรือน โรงสีที่เข้าร่วมโครงการ นาปี 2554/55 925 แห่ง นาปรัง 2555 858 แห่ง ผู้ให้บริหาร เช่น ผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าว ผู้ประกอบการไซโล เหล่านี้คือผู้ได้รับประโยชน์ แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ผู้ประกอบการตลาดกลางท่าข้าว สหกรณ์การเกษตร โรงสีขนาดเล็กในชุมชนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ หยง (ผู้ประสานงานติดต่อ) ผู้ส่งออกและเกษตรกรที่ปลูกข้าวอินทรีย์
รศ.ดร.อดิศร์ กล่าวถึงข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือภาคเกษตรด้วยว่า ไม่ได้มีความต้องการให้รัฐบาลยุติโครงการ แต่รัฐบาลต้องลดราคาจำนำให้ใกล้เคียงกับราคาตลาด และจำกัดปริมาณและมูลค่าที่รับจำนำต่อครัวเรือน รวมทั้งส่งเสริมเกษตรกรให้มีความสามารถในการจัดการไร่นา เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ อันจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกระยะยาว และจัดทำเขตคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพของโครงการพื้นฐาน เช่น ชลประทาน ขนส่ง โรงสี พัฒนาการประกันความเสี่ยงสินค้าและพัฒนาตาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า
รศ.ดร.อดิศร์ กล่าวอีกว่า นอกเหนือจากความสูญเสียกว่าแสนล้านบาทจากการดำเนินโครงการแล้ว ยังเป็นการวางระเบิดเวลาให้แก่โครงการภาคเกษตรทั้งระบบอีกด้วย ทางนิด้าจึงขออาสามาขอให้ยับยั้งหรือยุติโครงการดังกล่าวเป็นอันดับต้นๆ และเชื่อว่าจะมีอีกหลายองค์กร หน่วยงานเห็นเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ หากการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ก็คงต้องพึ่งกลไกการอื่นๆ หรือองค์กรอิสระ เช่น ผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน
“คงไม่ห่วงว่าการร้องเรียนครั้งนี้จะเป็นทำได้หรือไม่มากน้อยเพียงใด เพราะอย่างไรก็ตามภายใน 1 ปีนี้ความสูญเสียของวงการข้าวและเศรษฐกิจจะค่อยๆ ปรากฏชัดขึ้น และความสูญเสียนั่นจะเป็นตัวบ่งชี้ความล้มเหลวของโครงการเอง”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มผู้ลงชื่อเพื่อขอให้ยับยั้งหรือยุติโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล จำนวน 127 คนนั้น ประกอบไปด้วย อาจารย์นิด้า 58 กว่าคน จากคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ คณะพัฒนาการสังคมและสิ่งแวดล้อม คณะรัฐประศาสนศาสตร์ และคณะนิติศาสตร์รวมทั้งนักวิชาการและเจ้าหน้าที่ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 27 คน และนักศึกษาอีก 42 กว่าคน เช่น รศ.ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต และศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ และรศ.สมพร อิศวิลานนท์ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจะมาพูดคุยและรวมกลุ่มกันมากขึ้นต่อจากนี้
โดยในวันนี้ (27 กันยายน 2555) ช่วงเวลา 14.00 น. ตัวแทนจากกลุ่มผู้ลงชื่อเพื่อขอให้ยับยั้งหรือยุติโครงการฯ จะไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญ ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 84 รัฐบาลต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ ดังต่อไปนี้
(1) สนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรม โดยอาศัยกลไกตลาด และสนับสนุนให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยต้องยกเลิกและละเว้นการตรากฎหมายและกฎเกณฑ์ที่ควบคุมธุรกิจซึ่งมีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจ และต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงแห่งรัฐ รักษาผลประโยชน์ส่วนรวม หรือการจัดให้มีสาธารณูปโภค
คำร้องเรียนและรายชื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้ยับยั้งหรือยุติโครงการรับจำนำข้าว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'อดิศร์' ปัดฝ่ายค้านนอกสภา ยันยื่นศาล รธน.ตีความยุติจำนำข้าวไร้ประโยชน์แอบแฝง http://www.isranews.org/index.php?option=com_flexicontent&view=items&cid=278:2011-02-24-04-31-20&id=16523:-28-&Itemid=45