สมัชชาสุขภาพแนะรื้อระบบอีไอเอ ลดโครงการพัฒนากระทบชุมชน
เวทีสมัชชาสุขภาพเตรียมดัน 3 นโยบายสาธารณะหวังผลปฏิบัติ แนะรื้อระบบประเมินผลกระทบชุมชน-สิ่งแวดล้อม-สุขภาพ ให้รัฐเร่งจัดการหมอกควัน-อปท.คุมโรงไฟฟ้าชีวมวล
วันที่ 26 ก.ย.55 สำนักงานคณะกรรมการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (สช.) แถลงข่าวการจัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 โดย ดร.ศิรินา ปวโรฬารวิทยา ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่าปัญหาด้านสุขภาพคนไทยปัจจุบันไม่ได้มาจากการดำเนินชีวิตประจำวันเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากมลพิษและสิ่งแวดล้อมที่เลวร้าย แม้การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญ แต่ควรทบทวนผลกระทบระยะยาวที่ต้องเผชิญกับโรคร้ายหลายอย่าง และที่น่าเป็นห่วงคือโครงการพัฒนาของรัฐและเอกชนที่ไม่ได้ประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(อีไอเอ-อีเอชไอเอ)ดีพอ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลที่สร้างมลพิษ การบุกรุกเผาป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่การเกษตร และหมอกควันที่ทวีความรุนแรงขึ้น
นางกรรณิการ์ บรรเทิงจิตร รองเลขาธิการ สช.กล่าวว่าสังคมไทยมีบทเรียนจากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ เช่น นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดที่ถูกชี้นำจากภาครัฐและขาดการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)อย่างรอบด้าน นำไปสู่ผลกระทบสุขภาพประชาชนในพื้นที่อย่างรุนแรง แม้ปัจจุบันจะมีกระบวนการกฎหมายเข้มงวดขึ้นแต่ยังมีช่องโหว่ จึงควรปฏิรูประบบอีไอเอ-อีเอชไอเอเพื่อบรรเทาปัญหา
น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยมูลนิธิบูรณะนิเวศน์ กล่าวถึงปัญหาการทำอีไอเอในปัจจุบันว่ามีการประเมินรายโครงการ ไม่มีการประเมินศักยภาพการรองรับของพื้นที่ที่เข้าไปลงทุน ดังนั้นจะนำเสนอให้ปฎิรูปอีไอเอและอีเอชไอเออย่างเป็นรูปธรรม โดยให้มีการจัดทำอีไอเอในภาพรวม และประเมินเชิงยุทธศาสตร์โดยไม่จำกัดเพียงมิติสิ่งแวดล้อม แต่รวมมิติเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน วิถีความเป็นอยู่ประชาชนในพื้นที่ด้วย
นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่าที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน การเผาไหม้ทำให้เกิดควันดำเขม่าฟุ้งกระจาย แต่หากมีการบริหารจัดการที่ดี โรงไฟฟ้าชีวมวลจะเป็นพลังงานทางเลือกที่ดี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรวางกฎระเบียบให้โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กต้องทำอีไอเอ และภาครัฐต้องมีมาตรการกำกับดูแลที่ดีเพียงพอ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีสะอาดได้มาตรฐานมาใช้ รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขการตั้งโรงไฟฟ้าให้ห่างจากชุมชน
"โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดต่ำกว่า 150 เมกะวัตต์ ใช้เชื้อเพลิงที่เผาไหม้ยาก สุดท้ายกลายเป็นสารเผาไหม้ไม่หมดถึงร้อยละ 10-38 เกิดมลพิษในรูปฝุ่นละอองขนาดเล็ก ซึ่งองค์การอนามัยโลกยืนยันว่าการสูดดมมีผลต่อโรคในระบบหายใจ โรคหัวใจ ผู้ที่เป็นโรคหอบหืดอยู่แล้วจับหืดบ่อยขึ้น" นพ.ณรงศักดิ์กล่าว
นางวิจิตรา ชูสกุล เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาอีสาน กล่าวว่าปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าชีวมวลจำนวนมากตามแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 10ปี (พ.ศ.2555-2564) ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กำหนดเป้าหมายใช้ชีวมวล 3,630 เมกะวัตต์ หรือร้อยละ25 ของปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ ปีที่ผ่านมามีโรงไฟฟ้าชีวมวลมากว่า 84 แห่ง อยู่ระหว่างขออนุมัติอีก 309 แห่ง หากไม่ควบคุมดีพอจะส่งผลกระทบสุขภาพ สิ่งแวดล้อม น้ำเสีย แย่งน้ำชุมชน ขณะนี้ผู้ประกอบการหลีกเลี่ยง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ที่กำหนดให้โรงไฟฟ้า 150 เมกะวัตต์ขึ้นไปทำอีไอเอ-อีเอชไอเอ ส่วนขนาดเล็กตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไปทำเฉพาะอีไอเอ มีการทำโครงการ 9.0-9.9 เมกะวัตต์หลายโครงการในบริเวณเดียวกันเพื่อเลี่ยงกฎหมาย โดยปี 2553 มี 281 โรงไฟฟ้าชีวมวลที่เสนอขายไฟฟ้า เป็นโครงการขนาด 9.0-9.9 เมกะวัตต์ 205 แห่ง โครงการเหล่านี้ใช้เทคโนโลยีประสิทธิภาพต่ำมลพิษสูง
ภาครัฐควรให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)กำกับดูแลแยกประเภทการลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวล กระทรวงสาธารณสุขควรประกาศให้โรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นกิจการอันตราย กระทรวงพลังงานควรทำแผนพลังงานจังหวัดโดยศึกษาว่าพื้นที่ใดมีศักยภาพทำโรงไฟฟ้าชีวมวลหรือไม่ ก่อนพิจารณาใบอนุญาต
ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ กล่าวว่าการบุรุกป่าเพื่อเผาทำพื้นที่เกษตร มีส่วนทำให้เกิดปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง ซึ่งมีสารเคมีเกษตรติดมาด้วย ขณะนี้สถานการณ์หมอกควันรุนแรงขึ้นทุกปี จึงต้องสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาระหว่างภาครัฐ อปท.และชุมชน ทั้งนี้มลพิษจากหมอกควันภาคเหนือมักจะรุนแรงที่สุดช่วง มี.ค. เกิดจาก 4 ปัจจัย1.การเผาป่าและเผาพื้นที่เพื่อทำเกษตร 2. การเผาขยะตามบ้านเรือน เพราะ อปท. ยังไม่สามารถให้บริการได้ทั่วถึงและไม่มีพื้นที่ฝังกลบดีพอ 3.การจราจรที่ขาดระบบขนส่งมวลชนที่ดีพอ 4.ภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ จากข้อมูลคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าหมอกควันทำให้เสี่ยง 4 โรคสำคัญคือ 1.โรคทางเดินหายใจ หอบหืด 2.โรคหัวใจและหลอดเลือด 3.โรคผิวหนัง 4.ผลกระทบต่อสมอง มีโอกาสทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองตีบ
ทั้งนี้การจัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 จะมีขึ้น 18-20 ธ.ค. ที่ศูนย์การประชุมไบเทคบางนา ปีนี้มี 9 วาระสำคัญ อาทิ การปฏิรูประบบวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การป้องกันและลดผลกระทบโรงไฟฟ้าชีวมวล การจัดการปัญหาหมอกควัน ขณะนี้คณะทำงานวิชาการได้จัดทำร่างข้อเสนอเชิงนโยบายทั้ง 9 วาระเสร็จสิ้นแล้ว และกำลังรับฟังความเห็นจากเครือข่ายต่างๆและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายช่วยกันพิจารณาอย่างรอบด้าน เพื่อให้ได้ข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมได้ .
ที่มาภาพ ::: http://news.phuketindex.com/features/phuket-1350-189594.html