นักวิชาการชี้ 4 ปท. CLMV ติดกับดักการผลิตซ้ำทางประวัติศาสตร์
กรมเอเชียตะวันออก กต. จัดเวที "บ้านใกล้เรือนเคียง : รู้เขาเพื่อก้าวข้ามอดีต" ปรัชญาเมธีด้านประเทศเพื่อนบ้าน ลงความเห็น "ภาษา วัฒนธรรม ความทรงจำในอดีต" ประเด็นอ่อนไหว หลายชาติก้าวไม่พ้นอดีตที่บาดหมาง
เมื่อวันที่ 25 กันยายน กระทรวงการต่างประเทศ จัดเวทีเสวนา เรื่อง "บ้านใกล้เรือนเคียง : รู้เขาเพื่อก้าวข้ามอดีต" ณ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี กรุงเทพฯ โดยนายธงชัย ชาสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กล่าวเปิดการเสวนา
จากนั้นมีเวทีเสวนาย่อย "ประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมสายสัมพันธ์ทางใจโยงใยกับประเทศเพื่อนบ้าน" โดย นักวิชาการผู้เป็นปรัชญาเมธีด้านประเทศเพื่อนบ้าน
ผศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมกัมพูชา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวถึงมุมมองต่อประเทศเพื่อนบ้าน อย่างกัมพูชา ซึ่งความสัมพันธ์ที่ใกล้เคียงกันบางมุมนั้น อาจกลายเป็นสิ่งที่อาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาได้ เช่น การใช้ภาษาไทยกับภาษากัมพูชา นำมาสู่ความไม่เข้าใจกันระดับประชาชน หรือแม้กระทั่งวัฒนธรรมบางอย่างอาจทำให้เกิดความรู้สึกขึ้นมาได้
"คนกัมพูชามีตำนานความทรงจำที่เกี่ยวกับไทย หลายตำนานฝังจิตฝังใจคนกัมพูชา เช่น ตำนานพระโคพระแก้ว ตำนานโพธิสัตว์ เรื่องราวในอดีต จึงยังเป็นปมปัญหาที่คาใจคนกัมพูชาที่มีทัศนคติกับไทยอยู่"ผศ. ดร. ศานติ กล่าว และว่า ขณะที่ไทย ในแบบเรียนประวัติศาสตร์ก็มีการตอกย้ำตลอดเวลาเกี่ยวกับตำนานพระยาละแวก ซึ่งแม้ว่าบางคนมองจะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับบางคนกลับกลายเป็นประเด็นที่สังคมไม่ควรละเลย
ผศ. ดร. ศานติ กล่าวว่า ภาพที่สะท้อนหลายๆความขัดแย้ง เวลามีการประท้วง คำบางคำคนกัมพูชาใช้เรียกคนไทย นั่นก็คือ เซียม(เสียม) หมายถึงสยาม เวลา 2 ประเทศนี้ ไม่มีปัญหา ดีๆ กัน คนกัมพูชาก็จะเรียกเราว่า ไทย หากมีประเด็นขัดแย้ง คนกัมพูชาจะเปลี่ยนมาเรียกเราว่า เซียม และคำนี้จะถูกยกขึ้นมาใช้ โดยความหมายถึงเชิงลบมากที่สุด หมายถึง โจร
"หรือกรณีปราสาทนครวัด คือ หัวใจ สัญลักษณ์ของความเป็นชาติ ปรากฏอยู่บนธงชาติทุกยุคทุกสมัย รวมถึงปราสาทหินทั้งหมดคนกัมพูชาถือว่าเป็นมรดกของบรรพบุรุษ จากนั้นได้กลายเป็นทัศนคติฝังอยู่ในจิตสำนึกชาวกัมพูชาทุกคน หากเราแตะเมื่อไหร่ พร้อมจะปะทุได้ทันที ฉะนั้น การพูดถึงอะไรในแง่กระทบความรู้สึกคนกัมพูชา"
ส่วนการจะก้าวข้ามอดีตไปได้อย่างไรนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมกัมพูชา กล่าวว่า เราต้องเปลี่ยนตัวเองก่อน มิเช่นนั้นจะไม่มีทางออก เช่น การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ไทยเบื้องต้น เมื่อเรารับรู้อยู่แล้วว่า สิ่งใดไม่ได้เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ ก็ควรเอาออกไป เช่น การใช้ภาษาปลุกระดม ปลุกเร้าความรู้สึกชาตินิยมแบบผิดๆ เป็นต้น
แนะไทย เข้าใจลาวแบบลาว อย่าเหมารวม
ขณะที่รศ. ดร. ศุภชัย สังห์ยะบุศย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านลาว คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวถึงโครงสร้างหลักที่นำมาสู้ปัญหา คือมุมมองไทยที่มีลาว "เราไม่ได้มองลาวอย่างเป็นลาว แต่เรามองลาวแบบไทย"
" เรามองลาวอย่างไทย เข้าใจในโครงสร้างใหญ่ๆ ไม่เข้าใจลงลึกไปถึงระดับของผู้คน ทั้งๆ ที่ลาวมีผู้คนสลับซับซ้อนมากที่สุดในโลก แม้จะมีประชากรแค่ 7 ล้านคน ความเป็นคนของลาว บอกอดีตส่วนไหนมีความหมายอย่างไร มีทั้งคนระบอบเก่า รุ่นเก่า อยู่ในซีกของช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง บางคนก็เป็นคนสองระบอบ มีคนพลัดถิ่น ลาวรุ่นใหม่ ลาวไฮไซ ลาวนักค้าขาย ดังนั้น เราต้องไม่มองแบบเหมารวม มิเช่นนั้นพลาด ทันที"
ผู้เชี่ยวชาญด้านลาว กล่าวถึงมิติความสัมพันธ์กับไทยกับลาว ด้านเศรษฐกิจไทย-ลาว ผูกพันกันสูงมาก รายได้เศรษฐกิจของลาวอยู่ที่ไทยจำนวนมาก ดังนั้นเราต้องทำความเข้าใจระดับรัฐ หากไทยไม่ซื้อไฟฟ้าจากลาว เศรษฐกิจของลาวทรุด หากลาวไม่ปล่อยไฟฟ้าให้ไทย 1 ใน 3 ของประเทศ แทบไม่มีไฟฟ้าใช้ ส่วนความเข้าในระดับประชาชน ที่มีการไปมาหาสู่ ทำมาค้าขายกัน ตามพรมแดน 1,810 กิโลเมตร ถือได้ว่า เป็นพรมแดนที่มีพลวัตรทางเศรษฐกิจสูงที่สุด ฉะนั้น การทำความเข้าใจอดีตระหว่างเรากับลาว มองอนาคตของเราร่วมกันภายใต้บริบทต่างๆ เพื่อทำให้วันนี้เราวางยุทธศาสตร์ วางเป้าหมาย วางจิตนาการร่วมกัน และก้าวข้ามผ่านอดีตที่มีปัญหากัน
"ทุกครั้งที่เรามีความสัมพันธ์ระดับชาติ เราต้องคำนึงถึงความเป็นชาติ เพราะมีความอ่อนไหวอยู่ แตกต่างจากการคุยกันหรือแลกเปลี่ยนกันในรัฐชาติไทย"
ส่วนผศ. วิรัช นิยมธรรม รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ และผู้อำนวยการศูนย์พม่าศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวถึงปัจจุบันความเชื่อฝังลึกของคนพม่าที่มีต่อไทย ส่วนใหญ่เป็นไปในด้านบวก ดูได้จากค่านิยมวันนี้ เด็กเก่งพม่าจะมาเรียนภาษาไทย มีหลักสูตรอบรม 3 เดือน ให้คนในกองทัพ ข้าราชการพม่า และมีการเปิดหลักสูตรภาษาไทยระดับปริญญาตรี เปิดเป็นปีที่ 2 แล้ว
ผศ. วิรัช กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันพม่ามองไทยในเรื่องรายได้เป็นหลัก มองเรื่องอาชีพ มองเมืองไทยมหาวิทยาลัยนอกระบบ ได้วิชาชีพกลับไป ซึ่งเคยมีการสำรวจพบว่า คนพม่ารู้ภาษาไทยระดับดี 1 ใน 3 สามารถเป็นผู้ประกอบการที่ดีได้ในอนาคต
สุดท้ายดร.ธัญญาทิพย์ ศรีพนา ผู้เชี่ยวชาญด้านเวียดนามและอินโดจีน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความขัดแย้ง 3 ประเด็นใหญ่ ไทย-เวียดนาม ก็เช่น ไทยไปสนับสนุนยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ช่วงสงครามเวียดนาม ปัญหากัมพูชาที่เวียดนามเข้าไปคงกองกำลังไว้ และประเด็นการปฏิบัติของรัฐบาลไทยในอดีตต่อชาวญวนอพยพ
"แต่ปัจจุบันนี้เวียดนามมีความสามารถในการบริหารจัดการความคิด ความรู้สึก ปรับความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ที่ขัดแย้งกันได้ จนกระทั่งก้าวข้ามวิกฤติ"ดร.ธัญญาทิพย์ กล่าว และว่า ฉะนั้นความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม เมื่อเทียบกับ พม่า ลาว กัมพูชา ถือว่า ไทย-เวียดนาม มีความสัมพันธ์ที่ดีมาก