สื่อยุคหลอมรวม โอดธุรกิจอยู่รอดยาก ทำ 'ข่าว-เพลง' ไม่ได้เงิน
"อดิศักดิ์" เผยกลยุทธ์เครือเนชั่นใช้โซเชียลมีเดีย ประคับประคองสื่อเก่า-ดึงคนอ่านข่าวกลับมา ด้านผู้บริหารจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ เชื่อยุคระทึกขวัญของสื่อยังไม่จบ ชี้ 3G เกิดต้องปรับตัวอีกเพียบ
วันที่ 25 กันยายน สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จัดเสวนาหัวข้อ “ทำไม: ต้องหลอมรวมสื่อ” ในงานครบรอบ 15 ปีสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โดยมีนายธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (สายธุรกิจบรอดแคสติ้ง) บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) นายโฆสิต สุวินิจจิต ประธานกรรมการบริษัท สปริง คอร์ปอเรชั่น จำกัด นายวริษฐ์ ลิ้มทองกุล ผู้อำนวยการเว็บไซต์ www.manager.co.th และนายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี ร่วมเสวนา
นายอดิศักดิ์ กล่าวถึงการหลอมรวมสื่อเกิดขึ้นจากพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน ที่มีความใจร้อน จึงต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้เนื้อหาไปถึงผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งการหลอมรวมสื่อของเนชั่นนั้นเกิดขึ้นในหลายระดับ เริ่มตั้งแต่การหลอมรวมในตัวของนักข่าวเอง (convergent reporter) สามารถทำข่าว ถ่ายรูป ตัดต่อได้ภายในคนๆ เดียว ส่วนในระดับองค์กรเนชั่น ได้หลอมรวมเป็นคอนเวอร์เจนท์นิวส์รูม (convergent newsroom) เพื่อผลิตสื่อที่สามารถนำเสนอได้ในหลายช่องทาง ทั้งทางทวิตเตอร์ หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์และเว็บไชต์ โดยมีบรรณาธิการทำหน้าที่เป็นเหมือนคอนดักเตอร์ (conductor) ที่เชื่อมประสานและคัดเลือกข่าวว่าจะนำเสนอในช่องทางใด เพื่อสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค
ขณะที่การใช้สื่อใหม่ หรือโซเชียลมีเดียในเครือเนชั่นนั้น นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า ใช้เพื่อประคับประคองสื่อเก่า ให้คนเข้ามาอ่านข่าวบนหน้าเว็บไซต์ โดยปัจจุบันนักข่าวในเครือเนชั่นใช้ทวิตเตอร์ประมาณ 400 บัญชีรายชื่อ ซึ่งเชื่อว่าคนที่ลงทะเบียนทวิตเตอร์ในประเทศไทยทั้งหมด อย่างน้อยต้องติดตามนักข่าวเครือเนชั่น 1 คน ทวิตเตอร์จึงทำหน้าที่เป็นโทรโข่ง บอกเล่าเนื้อหาที่น่าสนใจ และหากมีการแนบลิ้ง (link) ก็เหมือนกับจูงมือคน เข้ามาอ่านข่าวทางหน้าเว็บไซต์ทันที ซึ่งในส่วนนี้ตนเห็นว่า หากนักข่าวรุ่นเก่าสามารถปรับตัวได้ เชื่อว่าจะมีข้อได้เปรียบอย่างมาก เพราะมีจุดแข็งทั้งด้านประสบการณ์และคลังข้อมูล
สปริงนิวส์ เสนอหลอมรวมกลุ่มสื่อ
ขณะที่นายโฆษิต กล่าวถึงการปรับตัวของสื่อว่าเกิดขึ้นมานานแล้ว เพียงแต่ในระยะแรกยังไม่ได้เรียกว่าการหลอมรวมสื่อ เป็นการขยายประเภทสื่อออกไป เช่น ผลิตสื่อโทรทัศน์หนึ่งชิ้นสามารถขยายไปเป็นสื่อประเภทอื่นได้อีก เพื่อลดต้นทุนการผลิด ใช้ขายโฆษณา รวมถึงรักษาตลาด แต่เมื่อตลาดไอทีมีการเปลี่ยนแปลง เกิดคู่แข่งใหม่ๆ รวมถึงโซเชียลมีเดีย เริ่มตั้งแต่ไฮไฟ เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ทำให้ผู้บริหารสื่อต้องคิดและขยับตาม จะทำแต่หนังสือพิมพ์ โดยไม่ทำทีวีคงไม่ได้อีกต่อไป อย่างไรก็ตามตนเห็นว่า ในปัจจุบันนอกจากจะมีการพูดถึงเรื่องการหลอมรวมสื่อแล้ว น่าจะต้องมองไปไกลกว่าถึงเรื่องการหลอมรวมกลุ่มสื่อด้วย
“สื่อโทรทัศน์รวมกันได้หรือไม่ แทนที่จะต่างคนต่างแข่งขัน ซึ่งเรื่องนี้สภาการหนังสือพิมพ์ฯ น่าจะเป็นเจ้าภาพ เพราะการหลอมรวมกลุ่มสื่อนั้น เพื่อให้เกิดพลังอำนาจในการแข่งขัน โดยเฉพาะเมื่อมีอาเซียนเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ต้องคิดว่าเราจะอยู่ตรงไหนของอาเซียน หรือในเวทีโลก ดังนั้นจึงอยากให้สื่อใส่เสื้อประเทศไทยเหมือนกัน” นายโฆษิต กล่าว และว่า สำหรับการหลอมรวมกลุ่มสื่อนั้น นัยยะหนึ่งเปรียบได้กับการหลอมรวมประเทศไทย ซึ่งหากได้รับการสนับสุนนจากรัฐบาล ร่วมวางแผนให้การหลอมรวมกลุ่มสื่อ กำหนดเป็นยุทธศาสตร์ชาติได้ เชื่อว่าสื่อจะมีพลังอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทางสร้างสรรค์
ด้านนายธนา กล่าวว่า การหลอมรวมสื่อเกิดขึ้นมานาน โดยในระยะเริ่มแรกที่มีอินเตอร์เน็ตเกิดขึ้น ธุรกิจเพลง เป็นสื่อดิจิตอลแรกๆ ที่มีต้องเผชิญชะตากรรม ใครจะหยิบไฟล์ไปก็ได้ ตัวอย่างเช่นกรณีล่าสุดที่มีการนำเพลงไปลงในยูทูป พอไปปิดยังโดนด่า ซึ่งในมิตินี้เชื่อว่าหนังสือพิมพ์ น่าจะมีชะตากรรมคล้ายคลึงกัน หากลองไปห้ามไม่ให้เนื้อหาของหนังสือพิมพ์ปรากฏในรายการเล่าข่าว ก็คงถูกด่าเช่นกัน ดังนั้นถึงไม่ได้ตั้งใจจะหลอมรวม ก็คงต้องถูกหลอมรวมอยู่ดี ทางออกคือ ต้องหาช่องทางที่ทำให้อยู่ได้อย่างสมดุลระหว่างธุรกิจและงาน แม้จะเป็นเรื่องยากมาก แต่ก็ต้องดิ้นรนกันไป
ขณะที่ความระทึกขวัญในการปรับตัวของสื่อนั้น นายธนา กล่าวว่า เชื่อว่ายังไม่หมด เพราะหากมี 3G เกิดขึ้น ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว อัตราเร่งของความหงุดหงิดง่าย ต้องการอ่านต้องการดูของคนในทันที ขัดใจไม่ได้ยิ่งมีมากขึ้น ทำให้สื่อต้องปรับตัวตาม และนอกจากธุรกิจเพลงและหนังสือพิมพ์ที่ต้องปรับตัวแล้ว ในอนาคตอันใกล้นี้ภาพยนตร์ และสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทอื่นๆ เชื่อว่าก็คงต้องปรับตัวตามเช่นกัน
หลอมรวมสื่อ ไฟล์บังคับ
ส่วนนายวริษฐ์ กล่าวถึงการหลอมรวมสื่อว่า ถือเป็นไฟล์บังคับของทุกองค์กรสื่อ เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพราะสถานการณ์ข่าวในปัจจุบันว่า เป็นยุคที่คนอ่านข่าวฟรี หนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับมีต้นทุนอยู่ที่ 30-50 บาท ขณะที่ราคาขายอยู่ที่ 8-20 บาท หนังสือพิมพ์จึงอยู่ได้ด้วยพึ่งโฆษณา เช่นเดียวกับหลักการของเว็บไซต์ที่ทุกอย่างแจกฟรีหมด แต่หากเจอสถานการณ์ที่ข่าวถูกก๊อบบี้ หรือนำไปเล่าข่าว บริษัทจะไม่ได้ประโยชน์อะไร โดยเฉพาะค่าโฆษณา ดังนั้นหากไม่เปลี่ยนก็มีแต่ตายแน่นอน
“ค่าโฆษณาในไทยวงเงินประมาณปีละ 100,000 ล้านบาทในวันนี้ 80% ตกอยู่กับโทรทัศน์ ส่วนอีก 20% ที่เหลือหนังสือพิมพ์ นิตยสารก็แบ่งกันไป ซึ่งถือว่าน้อยมาก การหาเงิน การอยู่รอดในยุคนี้จึงเป็นไปอย่างยากลำบาก ทำให้การหลอมรวมสื่อเกิดขึ้น เพื่อลดต้นทุนการผลิต ขณะเดียวกันสื่อต้องหมุนไปตามเทคโนโลยี เพราะไม่เช่นนั้นจะตกยุคทันที โดยเฉพาะเมื่อการโฆษณามีรูปแบบที่เปลี่ยนไป เช่น จ้างให้ดารานักแสดงโฆษณาสินค้าผ่านอินเตอร์แกรม ดึงค่าโฆษณาจากสื่อหลัก ตรงนี้จึงเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตสื่อเองต้องตระหนัก และนอกจากผลิตเนื้อหาอย่างเดียวแล้ว อนาคตอาจต้องคิดถึงเรื่องการผลิตแอพพิเคชั่นเพิ่ม เพื่อรองรับกับเทคโนโลยีและคู่แข่งที่เพิ่มขึ้นด้วย” นายวริษฐ์ กล่าว