‘ชัชชาติ’ เสนอครม.เคาะ แผนแก้น้ำท่วมขัง-รถติด กทม.-เหลื่อมเวลาทำงาน
ชัชชาติ เสนอยุทธศาสตร์แก้น้ำท่วมขัง-รถติด สั่งหน่วยราชการหาแก้มลิงรองรับพร่องน้ำ อนุมัติให้เหลื่อมเวลาเข้างาน-เลิกงานก่อนกำหนด ด้านสำนักงบฯ เผยงบฟื้นฟู ไม่สัมพันธ์ผลดำเนินงาน
วันที่ 25 กันยายน ภายหลังการประชุม ครม.ครั้งที่ 39/2555 โดยมีนายเฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่รักษาการประธานการประชุม นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลง ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาลว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรองประธานคณะกรรมการ กำหนดร่างขอบเขตของการดำเนินงานหรือ ทีโออาร์ นำเสนอแผนงานและหายุทธศาสตร์แก้ปัญหาการระบายน้ำที่ท่วมขัง และการจราจรที่ติดขัดในหลายพื้นที่ของ โดยให้มียุทธศาสตร์ภายใน 7 วัน (มีผล ครม.หน้า)
ทั้งนี้ นายชัชชาติ ได้ชี้แจงแผนดังกล่าวว่า จะออกมาตรการ 3 แนวทาง ได้แก่
1.ให้ทุกหน่วยงานราชการตรวจตราและจัดหาพื้นที่แก้มลิง เช่น คลอง บึงในหน่วยงาน เพื่อเตรียมรองรับการพร่องน้ำ แต่จะต้องไม่เพิ่มภาระแก่ส่วนกลาง
2.แต่เดิมมีมติ ครม.ให้สามารถเหลื่อมเวลาเข้าทำงานของทุกหน่วยงานราชการได้ เพื่อแบ่งเบาสภาพปัญหาการจราจรที่ติดขัดจากการเข้างานพร้อมกัน โดยให้ผู้อำนวยการแต่ละหน่วยงานสั่งการ
3.ให้ทุกหน่วยงานติดตามข่าวสารและการพยากรณ์อากาศ เช่น หากพบว่าในช่วงเวลา 17.30 น.ของวัน จะมีฝนตกหนัก ให้สามารถเลิกงานได้เร็วกว่ากำหนด แต่ต้องมีช่วงเวลาทำงานทดแทนและต้องไม่กระทบการงานที่ทำและการบริการประชาชน ในส่วนการแก้ปัญหาจราจร ได้จัดตั้ง Command Center และกำชับให้ตำรวจบริการประชาชนในทุกพื้นที่ที่ประสบปัญหาอย่างเคร่งครัด
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ติดตามอุทกภัยในพื้นที่ อ.กบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ทั้งด้านการติดตาม ป้องกันและช่วยเหลือ โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์นี้ที่ทั้ง 2 พื้นที่จะมีฝนตกหนักและมีความเสี่ยงอุทกภัย
เปิดข้อมูลการเบิกจ่ายงบฟื้นฟู ไม่สัมพันธ์การดำเนินงาน
ขณะที่นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงมติ ครม.ในส่วนที่สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรีและกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้รายงานสถานะความก้าวหน้าการดำเนินงานตามโครงการภายใต้งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการเยียวยา ฟื้นฟูและป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยอย่างบูรณาการ (วงเงิน 120,000 ล้านบาท) และการจัดสรรเงินกู้โครงการเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 (วงเงิน 350,000 ล้านบาท) ว่า ในส่วน กรอบวงเงิน 120,000 ล้านบาท สำนักงบประมาณได้จัดสรรสุทธิ เป็นเงิน 119,096.2994 ล้านบาท ลงนามในสัญญาหรือดำเนินการเองแล้ว เป็นเงิน 111,742.7256 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 12 กันยายน 2555 เป็นเงิน 1,094.7304 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.98 สำหรับผลการเบิกจ่ายจากระบบ GFMIS เป็นเงิน 94,616.8438 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 79.45 จากยอดจัดสรร (ข้อมูล ณ วันที่ 19 กันยายน 2555)
ขณะนี้ ผลการดำเนินงาน ในส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยอื่นของรัฐที่ผลการดำเนินงานสูงกว่าร้อยละ 80 มีจำนวน 9 กระทรวง ที่เหลือมีผลการดำเนินงานต่ำกว่าร้อยละ 80 จำนวน 9 กระทรวง ในรายจังหวัดที่มีผลการดำเนินงานสูงกว่าร้อยละ 80 มีจำนวน 46 จังหวัด ส่วนจังหวัดที่เหลือมีผลการดำเนินงานต่ำกว่าร้อยละ 80 จำนวน 27 จังหวัด
ทั้งนี้ ยังพบว่า ส่วนราชและจังหวัดบางแห่งมีสถานะผลการเบิกจ่ายไม่สัมพันธ์กับผลการดำเนินงาน จึงได้มีหนังสือแจ้งให้ส่วนราชการดำเนินการปรับปรุงข้อมูล และบันทึกข้อมูลผลการดำเนินงานในระบบรายงานแผน/ผลการฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบภัยของสำนักงบประมาณให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงต่อไป
สำหรับการส่งคืนเงินงบประมาณและการใช้จ่ายจากเงินที่แจ้งส่งคืน ทางส่วนราชการได้ส่งคืนในระบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS) เป็นเงิน 5,6000.5986 ล้านบาท และเงินที่ส่วนราชการจะใช้จ่ายจริงน้อยกว่ากรอบวงเงินที่ ครม.อนุมัติ เป็นเงิน 139.0060 ล้านบาท รวมเป็นเงินที่จะจัดสรรเพิ่มเติมได้ จำนวน 5,739.6046 ล้านบาท ซึ่ง ครม.มีมติอนุมัติให้ใช้จ่ายจากเงินที่ส่วนราชการส่งคืนงบประมาณรวม 7 ครั้ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 5,313.5449 ล้านบาท ดังนั้น คงเหลือวงเงินที่ ครม.จะอนุมัติเพิ่มเติมได้อีก เป็นเงิน 426.0597 ล้านบาท
กล่าวถึง กรอบวงเงินกู้โครงการเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 (350,000 ล้านบาท) ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2555 วันที่ 5 มิถุนายน 2555 วันที่ 10 กรกฎาคม 2555 วันที่ 21 สิงหาคม 2555 และวันที่ 28 สิงหาคม 2555 อนุมัติวงเงินรวมทั้งสิ้น 29,836.7926 ล้านบาท
โดยที่สำนักงบประมาณจัดสรรเงินกู้ฯ ให้ส่วนราชการ จำนวน 22,061.7348 ล้านบาท คงเหลือ จำนวน 7,775.0578 ล้านบาท ได้แก่ 1.กระทรวงคมนาคม จำนวน 4,004.1440 ล้านบาท 2.กระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 3,236.6940 ล้านบาท 3.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 196.8043 ล้านบาท 4.กระทรวงมหาดไทย จำนวน 128.9700 ล้านบาท 5.กระทรวงกลาโหม จำนวน 19.8500 ล้านบาท 6.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 17.1250 ล้านบาท 7.กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 171.4705 ล้านบาท