'เทพชัย' กระตุ้น ต้องแคร์คอป.พิพากษา สื่อสร้างความขัดแย้งให้สังคม
ผอ.ไทยพีบีเอส ยก 3 เหตุการณ์ใหญ่สั่นสะเทือนวงการสื่อ ทัวร์ยุโรป ป.ป.ช.ฟันสรยุทธ์ แปลกใจรายงานคอป.พิพากษาสื่อ ไร้คนสนใจ ทั้งๆที่ สื่อมีส่วนสำคัญทำให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้นในเหตุการณ์นั้น
เนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จัดงาน “จริยธรรมสื่อยุคหลอมรวม” เป็นวันที่สอง ณ ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิร์ลด์ โดยนายเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพ สาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ ส.ส.ท. (ไทยพีบีเอส) กล่าวทอล์คโชว์ในหัวข้อ “อนาคตจริยธรรมสื่อไทย”
นายเทพชัย กล่าวถึงจริยธรรมไม่ใช่เป็นหลักการการหรือกฎเกณฑ์ที่ทำให้คนทำสื่อเป็นคนดี เพราะคนทำสื่อก็คือคนธรรมดาที่มีอคติ มีความชอบ ความรัก ความเกลียด เหมือนคนทั่ว ๆ ไป แต่จริยธรรมจะเป็นกลไกหรือหลักประกันที่ทำให้คนในสังคมมั่นใจได้ว่า ข้อมูลข่าวสารที่ตนได้รับ ได้ผ่านกระบวนการกลั่นกรอง ที่ทำให้ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือ เป็นข้อมูลที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อทำให้ใครได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ หรือทำให้สังคมเกิดความแตกแยก
"จริยธรรมไม่ใช่เรื่องของคนทำสื่ออย่างเดียว แต่สังคมจะต้องช่วยกันดูแลให้สื่อมีจริยธรรมด้วย ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรง การพัฒนาทางเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทำให้คนมีโอกาสแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในทุกช่องทางมากขึ้น ทำให้คำถามเกี่ยวกับจริยธรรมสื่อดังมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถ้าไปสำรวจความคิดเห็นของคนทั่วไปอาจจะได้พบคำถามที่ว่า สื่อยังเป็นสถาบันที่คนยังเชื่อใจได้เหมือนเดิมอยู่หรือไม่"
นายเทพชัย กล่าวอีกว่า เมื่อ 7 - 8 ปีก่อน สถาบันพระปกเกล้าได้สำรวจความคิดเห็นของคนทั่วไปที่มีต่อสถาบันหลัก ๆ ในสังคม พบว่า สถาบันสื่อมวลชนมีความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับเดียวกับสถาบันตำรวจ แต่เมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมามี 3 เหตุการณ์ใหญ่ที่สั่นสะเทือนความศรัทธาของคนที่มีต่อสื่ออย่างมาก ที่สื่อควรให้ความสำคัญมากกว่าแค่รายงานเหตุการณ์แล้วผ่านไป ได้แก่
1.เรื่องประธานสภาผู้แทนราษฎรพาสื่อมวลชนไปดูงานที่ยุโรป ประเด็นสำคัญคือสื่อมวลชนต้องตอบให้ได้ถึงหลักการรักษาระยะห่างระหว่างสื่อมวลชนกับแหล่งข่าว ควรจะมีแค่ไหน การไปดูงานต่างประเทศไม่น่าจะเป็นเรื่องเสียหายถ้ามีวาระงานและประเด็นชัดเจน แต่รูปแบบที่ไป สภาพการณ์ที่เชิญไป ความสัมพันธ์ระหว่างคนที่เชิญกับคนที่ถูกเชิญมีความสำคัญมากกว่า
"ผมเชื่อว่าสื่อมวลชนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาในอดีตคงจะรู้ว่า ฝ่ายการเมืองมักจะมองสื่อมวลชนด้วยความรู้สึก ความต้องการ หรือวาระ แตกต่างจากที่สื่อมวลชนมองนักการเมืองอย่างแน่นอน นี่จึงเป็นคำถามที่นำไปสู่จริยธรรมเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชนกับแหล่งข่าว การที่สื่อมวลชนกับแหล่งข่าวฝ่ายการเมืองมีความใกล้ชิดกันมาก เมื่อถึงจุดที่สื่อมวลชนต้องตรวจสอบคนเหล่านี้ สื่อจะทำได้มากน้อยแค่ไหน"
2. เรื่องที่ ป.ป.ช. มีมติที่จะเอาผิดพิธีกรข่าวชื่อดังและบริษัทในข้อหายักยอกเงิน 138 ล้านบาทจาก อสมท นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของการโกงหรือไม่โกงอย่างเดียว ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า บทบาทที่ควรจะเป็นของสื่ออยู่ตรงไหน ถ้าเราลองมองย้อนกลับไป เราจะยอมรับได้แค่ไหนกับการที่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ หรือนักข่าวหนังสือพิมพ์ไปเป็นคนขายโฆษณาด้วย
"ทุกวันนี้ทำไมคนที่เป็นพิธีกรข่าวและมีภาพลักษณ์ว่าเป็นตัวแทนสื่อ สามารถทำสองอย่างพร้อมกันได้ ทั้งการรายงานข่าว วิเคราะห์ข่าว ขณะเดียวกันก็ไปขายโฆษณาเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้สินค้า มีสองมาตรฐานบางอย่างที่เกิดขึ้น ถ้าเรายึดหลักจริยธรรมสื่ออย่างเคร่งครัด จะไปด้วยกันไม่ได้เลยระหว่างบทบาทของการเป็นสื่อในการรายงานข่าวตรวจสอบสังคม แต่อีกด้านก็ไปขายโฆษณาหารายได้จนร่ำรวยขึ้นมา ส่วนเรื่องไปยักยอกเงินหรือโกงนั่นก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง อย่างไรก็ตามสองกรณีที่ยกมาเป็นเรื่องของตัวบุคคลเสียมากกว่า"
3. เกี่ยวข้องกับองค์กรสื่อทั้งหมดโดยตรง แต่น่าแปลกที่สื่อไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าไหร่ ทั้งที่เป็นสิ่งท้าทายบทบาทของสื่อทั้งในปัจจุบันและอนาคตมาก มีรายงานฉบับสมบูรณ์ของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาข้อเท็จจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่ออกมาเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว ที่ให้ความสนใจต่อเรื่องชายชุดดำ การใช้กระสุนจริงกระสุนปลอมมาก
"แต่รายงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของสื่อ และข้อเสนอต่อสื่อของคอป.สื่อให้ความสำคัญน้อยมาก ถ้าไปอ่านให้ดีจะพบว่า สื่อมีส่วนสำคัญทำให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้นในเหตุการณ์นั้น" ผอ.ส.ส.ท. กล่าว และว่า นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้ยินองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสื่อบนพื้นฐานข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง
วอนสื่อแคร์เสียงวิพากษ์ คอป.
สำหรับสิ่งที่ คอป.วิพากษ์วิจารณ์นั้น นายเทพชัย กล่าวว่า ว่า คนทำสื่อคงจะตกใจ ถ้าเป็นสื่อที่แคร์กับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของสังคม คอป. บอกว่า
- การนำเสนอข้อมูลของสื่อเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการกระตุ้นให้เกิดความแตกแยก และทำให้ความขัดแย้งในสังคมยกระดับเป็นความรุนแรง โดยเฉาะอย่างยิ่งการนำเสนอข้อมูลและการใช้ภาษาที่มีการปลุกเร้าและกระตุ้นให้เกิดความเกลียดชัง คอป.ใช้คำว่า hate speech คือถ้อยคำที่ทำให้เกิดความเกลียดชัง และ propaganda คือการโฆษณาชวนเชื่อ ก็คือคอป.สรุปว่า สื่อมีบทบาทในการใช้ภาษาที่ทำให้เกิดความเกลียดชังขึ้นในสังคม และเป็นการโฆษณาชวนเชื่อให้กับฝ่ายที่เป็นศัตรูกัน
- ยิ่งไปกว่านั้นคอป.ยังบอกว่า สื่อได้สร้างความแตกแยกในสังคมไทยให้ร้าวลึกมากยิ่งขึ้น การเผยแพร่ข้อมูลเท็จ บิดเบือน และไม่รอบด้าน ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดของคนในสังคม คอป.จึงมีความห่วงใยอย่างยิ่ง ต่อบทบาทและการทำหน้าที่ของสื่อโดยขาดจรรยาบรรณและความรับผิดชอบต่อสังคม
"นี่เป็นเหมือนคำพิพากษา ในสายตาของคอป.ที่เขาติดตามการทำหน้าที่ของสื่ออย่างใกล้ชิดในช่วงนั้น คอป.ยังประเมินว่าสื่อยังขาดความระมัดระวังในการนำเสนอข้อมูล และมีส่วนกระตุ้นให้ความขัดแย้งขยายวงกว้าง สื่อถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเรียกร้องทางการเมือง โดยเป็นช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลโจมตีฝ่ายตรงข้าม ในลักษณะที่บิดเบือนความจริง มากกว่าที่จะทำหน้าที่ตามจรรยาบรรณ วิชาชีพ"
ผอ.ส.ส.ท. กล่าวว่า คนทำสื่อถ้าได้อ่านแบบนี้แล้วถ้าเราไม่โต้เถียงหรือโต้แย้งเราก็ต้องกลับมาคิดว่า ในยามที่ประเทศชาติวิกฤตที่สุด ที่ทุกคนคาดหวังว่าสื่อจะทำหน้าที่ช่วยลดความขัดแย้งโดยการหาทางออกให้สังคม ซึ่งนี่คือคำพิพากษาว่าสื่อได้ทำหน้าที่ตรงตามวิชาชีพ ตรงตามจรรยาบรรณที่มีอยู่มากน้อยแค่ไหน โดยลองนำสิ่งที่คอป.เสนอ ไปเปรียบเทียบกับหลักการพื้นฐานของสื่อ ยึดตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
"นอกจากนี้ คอป.ยังมีข้อเสนอต่อบทบาทของสื่อ ที่องค์กรและสภาวิชาชีพต่าง ๆ ควรนำไปขยายความและหาทางออกร่วมกัน ได้แก่
1.องค์กรวิชาชีพควรให้ความรู้แก่ประชาชนว่า การกระทำลักษณะใดเป็นการละเมิดจรรยาบรรณ และประชาชนสามารถร้องเรียนต่อสภาวิชาชีพได้
2.เปิดช่องทางให้มีการตรวจสอบและร้องเรียนการกระทำของสื่อโดยประชาชน และสร้างรากฐานความรู้ของการรับสื่ออย่างมีวิจารณญาณให้แก่ประชาชน
3.เพิ่มบทบาทในการคลี่คลายวิกฤตความขัดแย้งโดยทำหน้าที่เป็นพื้นที่สาธารณะ หรือเป็นสื่อกลางสำหรับทุกฝ่าย
ผมมีความเชื่อเหมือนคอป.ว่าถ้าสื่อได้ทำหน้าที่เป็นพื้นที่สาธารณะมากกว่าที่ผ่านมา เราคงมีโอกาสหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าที่นำไปสู่ความรุนแรงและนองเลือดได้
4.กระตุ้นให้สังคมช่วยแสวงหาทางออกอย่างสร้างสรรค์และมีเหตุผล
เหล่านี้คือข้อเสนอต่อสื่อของคอป.ที่ผมคิดว่ามีน้ำหนักและน่าสนใจ"
ส่วนความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการสื่อสารในปัจจุบันที่คนทุกคนสามารถเป็นสื่อได้นั้น นายเทพชัย กล่าวว่า ยุคปัจจุบันที่ข้อมูลข่าวสารไหลทะลัก สื่อไม่สามารถเป็นผู้รักษาประตูข่าวสาร (gate keeper) ได้อีกต่อไป ก็มีส่วนทำให้ความหมายของจริยธรรมที่มีมาแต่เดิมเบลอไปได้ และความหมายของคำว่า สื่อกระแสหลักก็เปลี่ยนไป ผู้มีชื่อเสียงบางคนอาจมีผู้ติดตามในสื่อสังคมออนไลน์มากกว่าหนังสือพิมพ์บางฉบับเสียอีก ดังนั้นสื่อกระแสหลักดั้งเดิมควรมีหน้าที่ทำให้คนเข้าใจในเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง แค่รายงานให้รับรู้รับทราบไม่พอ ต้องทำให้สังคมรู้ที่มาที่ไปของเหตุการณ์นั้นด้วย
เรื่องการขยายตัวของสื่อใหม่ ที่ปัจจุบันผู้สื่อข่าวมืออาชีพขององค์กรต่าง ๆ จำนวนมากหันมาใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ในการรายงานข่าว บทบาทของการใช้สื่อเหล่านี้ในฐานะปัจเจก กับในฐานะคนขององค์กรไม่สามารถแยกกันได้ชัดเจนขนาดนั้น ผอ.ส.ส.ท. กล่าวว่า เพราะการกระทำในฐานะปัจเจกจะส่งผลต่อบทบาทในฐานะคนทำงานให้องค์กรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการใช้สื่อใหม่ก็ควรจะใช้หลักจริยธรรมเช่นเดียวกับสื่อดั้งเดิมมากำกับ
"บทเรียนจากวิกฤตที่เกิดขึ้น สื่อต้องช่วยสังคมในการหาทางออก ไม่ใช่มีหน้าที่แค่รายงานสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะกลไกปกติที่มีอยู่ในสังคมไม่ทำงาน ทำให้สื่อเป็นสถาบันที่มีคนคาดหวังว่าต้องทำมากกว่าการรายงานข่าว ถือเป็นบทบาทที่มีความท้าทายของสื่อเป็นอย่างยิ่ง.
พร้อมกันนี้ นายเทพชัย ยังเสนอแนะภารกิจของสื่อ คือ
1.สื่อต้องรายงานข้อเท็จจริง
2.การตอบสนองต่อผลประโยชน์สาธารณะ
3.มีความเป็นอิสระในการรายงานข่าวและการตรวจสอบ
4.เป็นช่องทางสำหรับแสดงความเห็นสาธารณะ
5.ทำให้ประเด็นที่มีความสำคัญและเป็นสาระ มีความน่าสนใจและมีความหมาย
6.มีความรอบด้านและรักษาความสมดุล
7.มีความรับผิดชอบ มีสามัญสำนึกและมีจริยธรรม
"อนาคตของจริยธรรมสื่อ ผมมีความหวัง ว่าการปฏิวัติทางเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร จะทำให้สังคมใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ เพื่อนำมาตรวจสอบสื่อมากขึ้น อยากเห็นคนในวงการสื่อตรวจสอบกันเองมากขึ้นด้วย และอยากเห็นคนรุ่นใหม่ใช้ช่องทางสื่อใหม่ของตัวเองตรวจสอบสื่อในวงการทั้งหมด"
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง:ขอแค่ 9 ข้อ? คอป.ฝากถึง "สื่อไทย" ไม่บิดเบือน-ไม่ยั่วยุ-ไม่ผลักคนเลือกข้าง