เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯชายแดนใต้ได้จริงไหม?
ผมเข้าใจถึงเหตุผลและความจำเป็นของการต้องใช้ "กฎหมายพิเศษ" ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะ "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ" เพราะคดีความที่เกิดขึ้นจากความรุนแรงมักไม่มีประจักษ์พยาน และคนร้ายไม่ได้ก่อเหตุด้วยมูลเหตุจูงใจตามปกติ แต่เป็นมูลเหตุจูงใจพิเศษ การใช้ ป.วิอาญา เพียงอย่างเดียวในการคลี่คลายคดีเหมือนคดีอาญาทั่วไปจึงแทบเป็นไปไม่ได้
ส่วนที่พูดกันหล่อๆ ว่าต้องใช้ "นิติวิทยาศาสตร์" และการข่าวที่แม่นยำนั้น ในความเป็นจริงเป็นเรื่องยากมาก ต้องมีความพร้อมทั้งบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ และงบประมาณมหาศาล
แต่ผมก็เห็นเหมือนกับอีกหลายๆ คนว่า ฝ่ายความมั่นคงใช้ "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ" มานานเกินไปแล้ว คือใช้ต่อเนื่องกันกว่า 7 ปี ขยายเวลาครั้งละ 3 เดือนมาถึง 29 ครั้ง
พฤติกรรมการใช้จึงกลายเป็นสิ่งสวนทางกับชื่อกฎหมายในแง่ความรู้สึก เพราะอะไรที่มัน "ฉุกเฉิน" มันควรจะทำให้จบด้วยความรวดเร็ว หากยืดเยื้อยาวนานย่อมกลายเป็นความ "ชาชิน" ไม่ใช่ "ฉุกเฉิน"
ประเด็นที่ต้องพิจารณาในเรื่องนี้มีอยู่ 2 ประเด็นก็คือ หนึ่ง หากจะเลิก "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ" ตามที่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ว่าที่เลขาธิการ สมช.กล่าวเอาไว้เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (22 ก.ย.) ในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน จะมีวิธีการอย่างไร
กับ สอง หากฝ่ายความมั่นคงโดยเฉพาะทหารต้องการใช้ "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ" ต่อไป พวกเขาควรจะทำอะไรเพื่อให้เกิดความชอบธรรมในการใช้กฎหมายพิเศษ
ประเด็นแรก ต้องเริ่มจากการทำให้ฝ่ายความมั่นคงยอมรับความจริงก่อนว่า แม้ปัจจุบันจะมี "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ" ใช้อยู่ ก็แทบไม่ได้ทำให้ชาวบ้านที่ชายแดนใต้มีความมั่นใจในความปลอดภัยมากขึ้นสักเท่าไหร่
ไม่ต้องย้อนกลับไปนาน เอาแค่เหตุคาร์บอมบ์ที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (21 ก.ย.) หลายเสียงตั้งคำถามว่า "ระบบด่านตรวจ-ด่านสกัด" ของเจ้าหน้าที่มีประสิทธิภาพจริงหรือ เพราะรถที่คนร้ายใช้ทำ "คาร์บอมบ์" นั้น ติดป้ายทะเบียนปลอม แถมป้ายด้านหน้ากับป้ายด้านหลังยังตัวเลขต่างกัน และหมวดจังหวัดก็ต่างกัน แต่เหตุใดถึงรอดด่านมาได้
ขณะที่ก่อนหน้านั้นราวๆ 1 เดือน เกิดเหตุที่ฝ่ายทหารอ้างว่าเป็นการ "ยิงปะทะ" ในท้องที่ อ.กาบัง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 20 ส.ค. (วันรายอวันแรก) และในท้องที่บ้านกาลอ ต.กาลอ อ.รามัน จ.ยะลา ในอีก 4 วันต่อมา มีผู้เสียชีวิตเหตุการณ์ละ 1 ราย โดยเหตุการณ์ที่ อ.กาบัง เหยื่อเป็นวัยรุ่นอายุแค่ 16 ปี ส่วนที่บ้านกาลอ เหยื่อเป็นชายอายุ 30 ปี และยังมีผู้บาดเจ็บอีก 2 คน
เหตุการณ์ที่กาบัง เจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นการยิงปะทะกับกลุ่มติดอาวุธ แต่เสียงจากชาวบ้านและครอบครัวของผู้เสียชีวิตยืนยันว่าเด็กวัยรุ่นคนนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับขบวนการก่อความไม่สงบ
ส่วนกรณีที่บ้านกาลอ รายงานของฝ่ายทหารอ้างว่าเป็นการยิงปะทะกับกลุ่มต้มน้ำใบกระท่อม แต่เสียงจากชาวบ้านก็ดังเซ็งแซ่ว่า การต้มน้ำใบกระท่อมต้องใช้กองกำลังติดอาวุธด้วยหรือ และแค่ต้มใบกระท่อมต้องฆ่าแกงกันเลยหรืออย่างไร
นี่คือผลแห่งปฏิบัติการทางทหารภายใต้ "กฎหมายพิเศษ" ซึ่งผมไม่ได้ชี้ว่าฝ่ายไหนผิดฝ่ายไหนถูก แต่ต้องยอมรับว่ายังคงมีการเรียกร้องความเป็นธรรมกันอยู่บ่อยครั้งเมื่อมีการปฏิบัติการทางทหารเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเหตุยิงปะทะ หรือปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม แม้ระยะหลังจะไม่ค่อยเป็นข่าวทางสื่อแล้วก็ตาม
ทว่าเมื่อไม่มีข่าวผ่านสื่อกระแสหลัก ก็จะเกิดข่าวลือปากต่อปากโดยที่เจ้าหน้าที่รัฐกลับไม่ได้ใส่ใจชี้แจงว่าความจริงเป็นอย่างไร และนั่นย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นของเจ้าหน้าที่รัฐเอง และสะเทือนถึงการใช้กฎหมายพิเศษอย่าง "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เสียงร้องเรียนลักษณะนี้มีมาเนิ่นนาน และกลายเป็นเหยื่ออันโอชะของขบวนการต่อต้านรัฐที่นำไปขยายผลขยายแนวร่วมเมื่อเกิดความไม่ชัดเจนในปฏิบัติการทุกๆ กรณี
ฉะนั้นหากคิดในมุมนี้ คือยิ่งใช้ยิ่งก่อปัญหา ยิ่งใช้ยิ่งเสียมวลชน ผมว่าน่าจะลองเลิก "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ" ดู อาจจะใช้เวลาสัก 3 เดือน แล้วประเมินว่าสถานการณ์ในพื้นที่เป็นอย่างไร แต่หากเกิดความรุนแรงขนาดใหญ่ขึ้นก่อนครบ 3 เดือน ก็อาจประกาศใช้ใหม่เลยโดยไม่ต้องรอให้ครบเงื่อนเวลาก็ได้ และไม่ต้องรอประชุมคณะรัฐมนตรีด้วย เพราะกฎหมายเขียนเปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีประกาศใช้ไปก่อน แล้วค่อยขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในภายหลังไม่เกิน 3 วัน
สำหรับวิธีการที่เคยเสนอให้เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือเลิกทีละอำเภอ โดยยึดเอาสถิติการเกิดเหตุรุนแรงมาเป็นเกณฑ์ แต่วิธีการนี้หลายฝ่ายไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะผิดหลักการการใช้กฎหมายพิเศษที่ประกาศใช้คลุมทุกพื้นที่ แล้วยกเลิกเป็นจุดๆ แต่วิธีที่ถูกคือควรเลิกทั้งหมดก่อน แล้วเลือกประกาศใช้เป็นจุดๆ มากกว่า เพราะการใช้กฎหมายที่กระทบสิทธิประชาชนควรใช้แบบจำกัด ไม่ใช่ใช้แบบกว้างขวาง แล้วเลิกใช้แบบจำกัด
ส่วนวิธีอื่นๆ ที่มีการเสนอกันก็เช่น เลิกเป็นจังหวัด เพื่อไม่ให้กระทบกับยุทธการที่ต้องอิงกับความเชื่อมโยงของพื้นที่ หรือเลิกโดยใช้เงื่อนไขจำนวนแนวร่วมที่เข้ามอบตัวหรือแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งก็เป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ
เมื่อเลิกใช้ "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ" แล้ว การตั้งด่านของทหารก็ยังทำได้ปกติ เพราะยังคงประกาศกฎอัยการศึกอยู่ เพียงแต่อำนาจการควบคุมตัวน้อยลงเหลือแค่ 7 วันตามกฎอัยการศึก จากเดิมที่คุมตัวได้ 30 วันตามอำนาจ พ.ร.ก.
ประเด็นต่อมา หากฝ่ายความมั่นคงยังต้องการใช้ "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ" ต่อไป ผมคิดว่าต้องตั้งเกณฑ์ที่เป็น "ตัวชี้วัด" ขึ้นมา โดยต้องเป็น "ตัวชี้วัด" ที่คนในพื้นที่ยอมรับด้วย เช่น หากจะขยายเวลาการใช้ครั้งต่อไป ต้องลดเหตุรุนแรงลงได้กี่เปอร์เซ็นต์ หรือการใช้กฎหมายพิเศษสามารถยับยั้งเหตุรุนแรงได้กี่เหตุการณ์
ดังที่คนใน กอ.รมน.เองอย่าง พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 (ศปป.5) ก็เคยให้สัมภาษณ์แสดงผลงานเอาไว้ เช่น คนร้ายวางระเบิด 30 ลูก เจ้าหน้าที่กู้ได้ 29 ลูก ระเบิดจริงแค่ 1 ลูก ฯลฯ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง...ไขปมทำไมไฟใต้เดือด ทำอย่างไรไฟใต้ดับ http://www.isranews.org/south-news/special-talk/53-2009-11-15-11-15-38/8052-2012-08-03-13-05-49.html)
ข้อมูลลักษณะนี้ถ้ามีจริงต้องนำมาขยาย นำหลักฐานมาแสดงให้สังคมได้รับรู้ เพื่อชี้ให้เห็นว่าการมีกฎหมายพิเศษช่วยระงับยับยั้งเหตุรุนแรงได้อย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ เพื่อความชอบธรรมในการใช้ต่อไป
ไม่ใช่แค่พูดลอยๆ ซ้ำๆ ว่าสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งๆ ที่ชาวบ้านเขาชินชาจนเลิกฉุกเฉินไปตั้งนานแล้ว!
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การตั้งด่านตรวจทั้งด่านหลักและด่านลอยซึ่งมีอยู่มากมายในพื้นที่กำลังถูกตั้งคำถามว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน
หมายเหตุ :
1 ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์ ปรับแต่งโดยฝ่ายศิลป์ ทีมข่าวอิศรา
2 บางส่วนของบทความชิ้นนี้ ตีพิมพ์ในคอลัมน์ "แกะรอย" หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หน้าโฟกัส ฉบับประจำวันอังคารที่ 25 ก.ย.2555 ด้วย