สื่อเลือดใหม่วิพากษ์ กรณีสรยุทธ “ถ้าผมเป็นเขา ผมคงเลิกทำงานสื่อ”!
เวที 15 ปี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ หยิบยกประเด็นเผ็ดร้อน กรณีประธานสภาฯ นำคณะสื่อมวลชนไปศึกษาดูงานที่ยุโรป และกรณีบริษัทไร่ส้ม ขึ้นมาวิพากษ์ โดยสื่อเลือดใหม่ ปิดท้ายงานวันแรก
วันที่ 24 กันยายน สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติจัดงาน “จริยธรรมสื่อยุคหลอมรวม” เนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โดยในช่วงบ่ายมีการกล่าวบรรยายพิเศษจากรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในหัวข้อ “นโยบายรัฐบาลกับสื่อ” โดยนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวถึงนโยบายด้านสื่อมวลชนที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 มีสาระสำคัญได้แก่ นโยบายข้อ 8.3 การส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสรับรู้ข้อมูลจากทางราชการ ผ่านสื่อมวลชนและสื่อสาธารณะทุกประเภทได้อย่างกว้างขวาง รวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรม ซึ่งมีข้อย่อย อาทิ ส่งเสริมพัฒนาช่องทางในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างสื่อมวลชนในอาเซียนและสื่อมวลชนของโลก ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคให้สื่อมีอิสรเสรีภาพมากขึ้น ส่งเสริมให้สื่อสารมวลชนเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาประเทศ และการร่วมมือกับ กสทช. ในการส่งเสริมให้เปลี่ยนระบบโทรทัศน์จากระบบอะนาล็อกเป็นระบบดิจิตอล
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า หน้าที่ของตนคือการดูแลสื่อสารมวลชนหลัก ๆ 2 ช่อง คือ การสั่งการดูแลช่อง 11 และช่อง อสมท ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจที่กำหนดไว้ในกฎหมาย และในฐานะเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ส่วนสิ่งอื่นนอกเหนือจากนี้ตนไม่สามารถเข้าไปสั่งการได้
นอกจากนี้ นายนิวัฒน์ธำรง ยังได้ยกตัวเลขการจัดอันดับประเทศที่สื่อมวลชนมีเสรีภาพ ที่จัดทำโดยองค์กร Freedom House ระบุว่า ในภูมิภาคอาเซียน สื่อมวลชนในประเทศไทยมีเสรีภาพเป็นอันดับที่ 3 รองจากฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคเป็นอันดับที่ 58 และเป็นอันดับที่ 61 ของโลก
“คนรุ่นใหม่วิพากษ์สื่อ”
จากนั้นวงสนทนากลุ่มได้พูดคุยกันในเรื่อง “คนรุ่นใหม่วิพากษ์สื่อ” โดยมีผู้สื่อข่าวมืออาชีพจากสื่อมวลชนกระแสหลักและนิสิตนักศึกษาด้านนิเทศศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชื่อดังร่วมแลกเลี่ยนความคิดเห็น
โดยวงสนทนาได้หยิบยกเอาเหตุการณ์ที่มีประเด็นเกี่ยวกับจริยธรรมสื่อมวลชน 2 เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นมาเป็นกรณีศึกษา คือ กรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรนำคณะสื่อมวลชนไปศึกษาดูงานที่ยุโรปแต่พ่วงท้ายด้วยการชมฟุตบอลพรีเมียร์ลีก และกรณีบริษัทไร่ส้มโดยนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ทุจริตค่าโฆษณา อสมท กว่า 138 ล้านบาท
นายนภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ ผู้สื่อข่าวภาคสนาม สำนักข่าวเนชั่น กล่าวว่า ตนเองเป็นคนหนึ่งที่เกือบจะตัดสินใจร่วมไปทัวร์ยุโรปในครั้งนี้ แต่รู้สึกถึงความไม่ถูกต้องบางอย่างจึงปฏิเสธไม่ไป แต่ไม่อยากให้ตัดสินว่าสื่อมวลชนที่ร่วมไปกับทริปนี้ว่าเป็นสื่อที่ไม่ดี แต่ควรพิสูจน์กันในระยะยาวว่า สื่อมวลชนเหล่านั้นกลับมาแล้วนำเสนอข่าวจากที่ได้ไปมาอย่างไรบ้าง หรือท่าทีและมาตรฐานการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของสื่อนั้น ๆ เปลี่ยนไปอย่างไร
ขณะที่นางสาวฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ช่วยบรรณาธิการ ข่าว 3 มิติ สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 มองว่า กรณีนี้เป็นทริปไปดูงานปกติทริปหนึ่ง ที่มีโปรโมชั่นเสริมเป็นการดูฟุตบอล แต่สื่อมวลชนที่ไปต้องยึดหลักการว่า ไปแล้วได้ข่าวอะไรที่เป็นประโยชน์กลับมาเสนอต่อประชาชน เพราะโอกาสที่สื่อมวลชนจะได้เดินทางไปต่างประเทศมีไม่บ่อย ไม่ใช่ไปแล้วกลับมาทำแต่ข่าวประชาสัมพันธ์คนที่พาไป
“ข่าวที่เรานำเสนอออกไปจะเป็นตัวตรวจสอบเรา ว่าเรามีผลประโยชน์ทับซ้อนกับหน่วยงานที่พาเราไปหรือเปล่า ส่วนสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นคนพาไปก็จะต้องถูกตรวจสอบโดยกลไกของสภาฯเอง ต้องชี้แจงให้ได้ว่าไปแล้วประชาชนได้ผลประโยชน์อะไร และเรายังมีวิธีทำตัวเองให้ปลอดภัยจากโครงการที่สุ่มเสี่ยงเช่นนี้ อาจจะด้วยการออกค่าใช้จ่ายเอง หรือการตัดตัวเองออกมา หรือถ้าดูออกตั้งแต่แรกแล้วว่าโครงการไหนไม่เหมาะก็ไม่ต้องไป” ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าว 3 มิติ กล่าว
ส่วนนายนิติธร สุรบัณฑิต นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เราควรดูจุดประสงค์เป็นหลักว่าการไปดูงานครั้งนี้คืออะไร สื่อมวลชน และสภาผู้แทนราษฎรต่างก็เป็นสถาบันหลักที่สำคัญของสังคม เป็นปกติของสถาบันที่ย่อมมีการประสานงานกันบางอย่างเพื่อให้สังคมเดินหน้า จึงไม่ผิดที่สื่อสามารถเดินทางไปดูงานต่างประเทศร่วมกับรัฐบาลหรือองค์กรไหนได้ ส่วนตนคิดว่าตอบยาก ว่าการไปดูฟุตบอลหลังการไปดูงานรัฐสภา เป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่ ถ้าการไปดูบอลไม่ได้ทำให้จุดประสงค์ของการไปดูงานเสียไป มันก็ไม่น่าจะผิด
นางสาวสุชาดา นิ่มนวล นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เห็นว่า การที่รัฐสภาพาสื่อมวลชนไปดูงานแล้วแถมด้วยการดูฟุตบอลเป็นเรื่องไม่สมควร เพราะไม่ใช่หน้าที่ของสื่อมวลชน เป็นเพียงผลพลอยได้ส่วนตัวของสื่อมวลชน ไม่ใช่ผลประโยชน์โดยตรงที่สังคมจะได้รับจากสื่อ
สื่อน้องถามถึงสื่อพี่ กับความรับผิดชอบ
เมื่อถามถึงกรณีบริษัทไร่ส้ม ทุจริตค่าโฆษณา อสมท กว่า 138 ล้านบาท นั้น นายนภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ กล่าวว่า “เรื่องนี้มองได้หลายแง่มุม แต่การทุจริตคดโกงก็ยังเป็นการคดโกงอยู่วันยังค่ำ
"ในฐานะตัวบุคคล ถ้าผมเป็นเขา ผมคงเลิกทำงานสื่อ หรือไม่ก็ไปทำด้านอื่นไปเลย เช่น ไปทำข่าวกีฬา ไม่ต้องมาอยู่ในสมรภูมิของการตรวจสอบคนอื่นแบบนี้อีก แต่อย่างไรก็ตามเขาก็อาจจะยังอยู่ในจุดที่จะตรวจสอบคนอื่นได้อยู่ เพราะคนโกงอาจจะตรวจสอบคนโกงเก่งก็ได้” ผู้สื่อข่าวภาคสนาม สำนักข่าวเนชั่น กล่าว
นายนภพัฒน์จักษ์ กล่าวอีกว่า ในอีกมุมหนึ่ง นายสรยุทธเป็นบุคคลที่มีบทบาททางสังคมสูง เพราะมีพื้นที่สื่อที่มีคนดูมากทั่วทั้งประเทศ ส่งผลให้คนบางส่วนยึดเขาเป็นแบบอย่าง การทำอะไรก็ตามจะมีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจเป็นบรรทัดฐานใหม่ มีผลกระทบให้สังคมเปลี่ยนไปก็ได้ อย่างไรก็ตามผู้ชมก็ยังมีอำนาจบางอย่างอยู่ในมือ ที่จะเลือกดูหรือไม่ดูใคร แล้วให้เขามีอิทธิพลกับตัวเอง
ส่วนนางสาวฐปณีย์ มองว่า ข่าวของนายสรยุทธก็มีลักษณะเป็นข่าว ๆ หนึ่ง ตามหลักการความสมดุลของข่าว สองฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ควรจะได้ชี้แจง เพียงแต่นายสรยุทธชี้แจงตัวเองผ่านทางรายการของตัวเอง เป็นเรื่องของวิธีการ และเป็นหน้าที่ของนักข่าวและสังคมเช่นกันที่ควรจะไปถามว่า ในฐานะที่นายสรยุทธเป็นสื่อมวลชนแต่มาเกี่ยวข้องกับเรื่องทุจริต จะรับผิดชอบต่อเรื่องนี้อย่างไร สื่อทำหน้าที่ตรวจสอบคนอื่น แต่เมื่อวันหนึ่งสื่อทำผิดเสียเอง ก็ต้องพร้อมที่จะให้สังคมตรวจสอบได้เช่นกัน
นายนิติธร กล่าวว่า นายสรยุทธมีสิทธิที่จะชี้แจงตนเองถึงกรณีอื้อฉาวของตนเอง และเขาได้เลือกสิทธิใช้ช่องทางรายการเล่าข่าวชี้แจงไปแล้ว เป็นเรื่องปกติที่คนเราจะพูดถึงแต่ด้านดีของตัวเอง แต่ที่สำคัญกว่า คือ ผู้ชมควรจะไปฟังจากสื่ออื่นหลาย ๆ ช่องทางว่า วิพากษ์วิจารณ์สรยุทธว่าอย่างไร
“สมมติว่าสรยุทธทำถูก 100% เขาก็ไม่ควรจะพูดเรื่องของตัวเองอยู่แล้ว ควรปล่อยให้เป็นเวทีอื่น สื่อช่องอื่นมาวิพากษ์วิจารณ์จะดีกว่า” นิสิตนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว
นอกจากนี้นายนิติธร เสนอเพิ่มเติมว่า เราต้องกรณีนี้มาเป็นกรณีศึกษา นายสรยุทธเป็นแค่ส่วนหนึ่งของปัญหา ที่เกิดจากระบบสื่อที่ผูกโยงอยู่กับระบบทุน-การโฆษณา เราควรจะตั้งคำถามต่อจากกรณีนี้ว่า สื่อมวลชนจะมีจรรยาบรรณที่ดีขึ้นได้อย่างไร
นางสาวสุชาดา มองว่า แม้สรยุทธจะมีสิทธิใช้รายการของตัวเองมาชี้แจงเรื่องของตัวเอง ก็ไม่เหมาะสมอยู่ดี เพราะเป็นการเบียดบังเอาเวลาของผู้ชมที่ควรจะได้รับรู้ข่าวสาร จากกรณีนี้จึงควรจะเป็นมาตรฐานสำหรับอนาคตได้ว่า นายสรยุทธควรจะเปิดพื้นที่ให้กับฝ่ายต่าง ๆ ที่ขัดแย้งกันในประเด็นใดประเด็นหนึ่งได้มีโอกาสชี้แจงผ่านสื่อของตัวเองอย่างเท่าเทียมกันเช่นกัน