ชาวนายังไม่รวย!! นายกสมาคมฯ ชี้ 1 ปี จำนำข้าว ทำค่าเช่านา ค่าแรง ปุ๋ย แพงขึ้น
'ประสิทธิ์ บุญเฉย' เผยโครงการรับจำนำ ชาวนาพอใจราคา แต่ไม่ใช่ทางแก้ยั่งยืน ฉะดึงค่าเช่านา-ปุ๋ยสูงขึ้น ไม่สมดุลรายรับ มอง รบ.ไม่มีนโยบายช่วยชีวิตชาวนา-ภาคเกษตรที่ชัดเจน
โครงการรับจำนำข้าวเปลือกจากเกษตรกร เป็นนโยบายสำคัญลำดับต้นๆ ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่มีความมุ่งมั่นยกระดับราคาสินค้าเกษตรและสร้างความมั่นคงทางด้านรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวนาไทย แม้ 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจะโชว์ผลงานว่า เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีรายได้เพิ่มขึ้นทั้งระบบถึงกว่า 200,000 ล้านบาท จนทำให้รัฐบาลมั่นใจเดินมาถูกทางแล้ว และพร้อมเดินหน้าต่อโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56 นั้น
ศูนย์ข่าวสารนโยบายสาธารณะ สำนักข่าวอิศรา สัมภาษณ์ตัวแทนชาวนาถึงนโยบายจำนำข้าว โดยนายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า ในรอบปีที่ผ่านมาชาวนาขายข้าวในความชื้นปกติ 22% ได้ในราคาประมาณ 12,000 – 12,500 บาท แต่ถ้าความชื้นสูงถึง 25-27% จะเหลือประมาณ 11,000 บาท นี่คือราคาที่ชาวนาได้จริงจากโครงการ
"ถามว่าราคานี้ชาวนาพอใจหรือไม่ ชาวนาค่อนข้าวพอใจ แต่คงไม่ได้ทำให้ชาวนารวยขึ้น หรือมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะชาวนาขายข้าวไมได้ราคา 15,000 บาท อย่างที่รัฐบาลกำหนดเพดานเอาไว้"
นายประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับชาวนาแล้วหากรัฐบาลกำหนดราคาสุทธิตันละ 10,000 บาท ก็น่าพอใจแล้ว มุมกลับกันเมื่อรัฐบาลตั้งเพดานไว้สูง ก็ทำให้ชาวนาที่เช่านาทำกว่า 75-80% ได้รับผลกระทบ มีต้นทุนสูงขึ้น จากเดิมในช่วงที่ราคาข้าว 9,000 – 10,000 บาท ราคาเช่านาจะอยู่ที่ 800 บาทต่อหนึ่งรอบ แต่ปัจจุบันเมื่อราคาจำนำสูงถึง 15,000 บาท ราคาเช่านาปรับขึ้นมาเป็น 1,000 บาทต่อรอบ รวมถึงปัจจัยการผลิตต่างๆ ทั้งปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืช ราคาก็สูงขึ้นตามไปด้วย
"เมื่อราคาต้นทุนสูงขึ้น ค่าแรงคนงานที่จ้างหว่านและเก็บเกี่ยวก็สูงขึ้นตาม จากที่เคยจ้างวันละ 200-300 บาท ทุกวันนี้ไม่มีใครรับจ้างราคานี้ เป็นการเพิ่มรายจ่ายให้พี่น้องชาวนา คำถามจึงอยู่ที่ว่า สิ่งที่ชาวนาได้รับกับสิ่งที่ต้องจ่ายออกไปนั้นสมดุลกันหรือไม่ นี่คือสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากและอยากให้รัฐบาลมองเรื่องนี้ในหลายๆ มุม มากกว่าแค่ว่า ชาวนาได้ประโยชน์แล้ว"
นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวต่อว่า รัฐบาลต้องไม่ลืมราคาค่าเช่านา และปัจจัยการผลิตต่างๆ เมื่อปรับขึ้นแล้ว ไม่มีทางลดลง ขณะที่หากต่อไปมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล หรือเปลี่ยนแปลงนโยบายปรับราคาซื้อข้าวให้ต่ำลงกว่าที่เป็นอยู่นี้ ถามว่า ชาวนาจะได้รับผลกระทบขนาดไหน ตัวชี้วัดเหล่านี้ก็พอมองเห็นแล้วว่า อนาคตชาวนาไทยจะเป็นอย่างไร รายได้ของชาวนาต้องลดลงอย่างแน่นอน จากนี้ไม่ว่าใครจะเข้ามากำหนดนโยบาย กำหนดราคาก็ต้องคิดให้หนักกว่าเดิม เพราะครั้งนี้กำหนดเพดานเอาไว้สูงมาก
"ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดไหน มีนโยบายหรือโครงการใดๆ ประชาชนหรือชาวนาก็ต้องยอมรับทั้งนั้น แต่เมื่อรับแล้ว สำคัญที่ว่า เป็นนโยบายที่สร้างความยั่งยืนให้ชาวนาหรือไม่ ทำให้ชีวิตชาวนาดีขึ้นหรือไม่ มองการพัฒนาพี่น้องชาวนาอย่างจริงจัง เพื่อการแข่งขันในตลาดอาเซียนอย่างยั่งยืนหรือไม่ ซึ่งเท่าที่ติดตามเห็นว่า รัฐบาลยังไม่มีแนวทางและนโยบายที่ชัดเจนในการทำให้ชีวิตชาวนาดีขึ้นและให้ภาคเกษตรเจริญก้าวหน้า"
เมื่อถามว่า แม้ขณะนี้จะดูเหมือนชาวนาจะพอใจในราคาที่ได้นั้น นายประสิทธิ์ กล่าวว่า แต่ก็พบปัญหาจะได้ราคานี้ตลอดไปหรือไม่ เพราะเท่าที่ทราบปัจจุบันมีชาวนาเกินกว่าร้อยรายที่ได้รับใบประทวนแล้ว แต่ไม่สามารถเบิกเงินจาก ธกส.ได้ เนื่องจาก ธกส.ไม่มีเงินจ่าย ต้องรอรัฐบาลโอนเข้ามาให้ เช่น ชาวนาที่ปทุมธานี ชัยนาท และสุพรรณบุรี จึงมีความหวั่นวิตกว่า หากอนาคตรัฐบาลไม่มีเงินเข้าโครงการจะทำอย่างไร ยิ่งในโครงการรับจำนำข้าวนาปีชุดใหม่จะมีการปรับเกณฑ์ ลดโควตาลง ไม่เป็นไปตามนโยบายเดิมอย่างที่เคยเสนอไว้ว่าจะรับจำนำทุกเม็ด สุดท้ายพอเริ่มมีปัญหาชาวนาจะลำบากที่สุด
ในส่วนข้อกล่าวหาต่างๆ ที่ว่าชาวนาโกงการรับจำนำนั้น นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า วิธีการโกง เช่น โกงใบประทวน แจ้งพื้นที่เกินและโกงความชื้น เกิดวนเวียนอยู่ตลอด ขึ้นอยู่กับการหาช่องว่างต่างๆ แต่หากจะหาคนผิดต้องชี้แจงว่า ผิดทั้งกระบวนการ เพราะการโกงไม่สามารถทำผู้เดียวได้ มีการสมรู้ร่วมคิดกันทั้งโรงสี ธกส. ชาวนา และเจ้าหน้าที่ราชการด้วย