‘ธุรกิจบัณฑิตย์โพลล์’ เผยจ.ตากเสี่ยงสุดรับผลกระทบค่าแรงขั้นต่ำ 300 บ. ปี 56
ม.ธุรกิจบัณฑิตย์เผยแนวโน้ม 10 จังหวัดเสี่ยงรับผลกระทบขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บ. ปี 56 พบจ.ตากเสี่ยงสุด แนะเอสเอ็มอีสำรองเงิน 3 เดือนแรกเสริมสภาพคล่อง
วันที่ 24 ก.ย. 55 นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผอ.ศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (ธุรกิจบัณฑิตโพลล์) เปิดเผยผลการศึกษาคาดการณ์ผลกระทบที่เกิดจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท โดยธนาคารโลกและองค์การแรงงานระหว่างประเทศให้ข้อเสนอว่า สำหรับประเทศกำลังพัฒนาจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำควรพิจารณาถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและความพร้อมของพื้นที่ รวมถึงระดับค่าแรงเฉลี่ยในพื้นที่ ซึ่งในต่างประเทศพบว่า หากค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นจนเกินกว่า 40% ของค่าแรงเฉลี่ย เช่น ถ้าค่าแรงเฉลี่ยเท่ากับ 500 บาทต่อวัน 40% ของค่าแรงเฉลี่ยจะเท่ากับ 200 บาทต่อวัน จะเกิดปัญหาเลิกจ้างอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการเลิกจ้างแรงงานที่เป็นเยาวชน และแรงงานของธุรกิจเอสเอ็มอี นอกจากนี้ยังเสนอว่าการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำควรกำหนดตามกลุ่มอายุและกลุ่มอาชีพ
ผอ.ศูนย์วิจัยฯ กล่าวต่อว่า สำหรับไทยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั้งประเทศ จะทำให้ค่าแรงขั้นต่ำคิดเป็น 58.7% ของค่าแรงเฉลี่ยของประเทศ ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูงมาก และจะกระทบกับสภาพเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่และภาพรวมของประเทศในช่วง 18 เดือนหลังจากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปีหน้า อาจสร้างความกังวลภาพรวมการจ้างงานได้ นั่นคือ แม้ว่าอัตราการว่างงานของไทยในช่วงก.ค. 55 จะต่ำเพียง 0.6% แต่ตัวเลขนี้ไม่ได้สะท้อนภาวะที่แท้จริงของตลาดแรงงาน ซึ่งโดยปกติการวิเคราะห์ผลกระทบของนโยบายที่มีต่อการจ้างงาน จะใช้อัตราการว่างงานตามนิยามปกติเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีการวิเคราะห์อัตราการว่างงานโดยใช้นิยามการว่างงานอย่างกว้างซึ่งเรียกว่า U-6 ประกอบด้วย ซึ่งหากใช้นิยาม U-6 มาคำนวณ (ผู้ว่างงาน+ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะตกงาน +ผู้ที่มีชั่วโมงทำงานต่ำ) จะพบว่า อัตราการว่างงานของไทยจะสูงถึง 5.9% คิดเป็น 10 เท่าของอัตราการว่างงานตามนิยามปกติ
ทั้งนี้คาดว่า 70 จังหวัดที่มีสัดส่วนค่าแรงขั้นต่ำต่อค่าแรงเฉลี่ยสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ นราธิวาส (83.9%) ตาก (79.8%) ลำพูน (78.9%) สระแก้ว (75.9%) ราชบุรี (75.4%) ประจวบคีรีขันธ์ (75.3%) ปัตตานี (74.3%) ลพบุรี (72.7%) หนองบัวลำพู (72.0%) และอ่างทอง (71.9%) อย่างไรก็ตาม เมื่อนำลักษณะโครงสร้างทางเศรษฐกิจของพื้นที่และเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่มาพิจาณาด้วยแล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับจังหวัดนราธิวาสและปัตตานีอาจจะไม่รุนแรงมากไปกว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมากนัก
ส่วนจังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ นครพนม (42.5%) ยโสธร (42.6%) ร้อยเอ็ด (45.9%) สกลนคร (47.2%) น่าน (47.6%) กาฬสินธุ์ (48.4%) พัทลุง (49.4%) มุกดาหาร (50.0%) ศรีสะเกษ (50.9%) และพังงา (51.1%)
นายเกียรติอนันต์ ยังกล่าวถึงการเตรียมตัวช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี โดยเสนอให้กับภาครัฐในพื้นที่พูดคุยกับผู้ประกอบการเกี่ยวกับแนวทางการปรับตัว รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความช่วยเหลือที่ผู้ประกอบการต้องการ เพราะผลการศึกษาการปรับตัวของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใน 7 จังหวัด แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการมีความสามารถในการปรับตัวได้พอสมควร สำหรับผู้ประกอบการ ต้องใช้กลยุทธ์ ลด เสริม คล่อง ซึ่งหมายถึง การลดความสูญเสียในกระบวนการผลิตและการทำงานในภาพรวม ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกิจให้ต่ำลงได้ และต้องทำควบคู่ไปกับการเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้กับพนักงาน เพื่อให้การปรับกระบวนผลิตและการทำงานสามารถทำได้สำเร็จลุล่วงทันเวลา นอกจากนี้ผู้ประกอบการควรจะเตรียมสำรองเงินสดหรือวงเงินสินเชื่อไว้สำหรับในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2556 ซึ่งจะเป็นช่วงที่สภาพคล่องจะได้รับผลกระทบมากที่สุด
ขณะที่ด้านแรงงาน จะต้องพัฒนาทักษะในการทำงานที่ทำอยู่เป็นประจำให้สูงขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะและความรู้ใหม่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับบริษัทและต่อการหางานทำในกรณีที่ถูกเลิกจ้าง รวมทั้งควรสำรองเงินสดไว้ใช้จ่ายบ้าง เพราะผลกระทบสำคัญที่จะเกิดขึ้นหลังการปรับขึ้นค่าแรง คือ การเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพ ซึ่งหากพิจารณาจากข้อมูลการเพิ่มขึ้นและแนวโน้มของดัชนีราคาผู้บริโภคเฉพาะในส่วนที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน จะพบว่า อำนาจซื้อที่แท้จริงของค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท จะลดลงเหลือเพียงประมาณ 285 บาทในเดือนมกราคมปีหน้า และจะลดลงไปอย่างต่อเนื่องในช่วง 11 เดือนที่เหลือของปี 2555
“ประสบการณ์จากละตินอเมริกา อเมริกา อังกฤษ และยุโรป ชี้ให้เห็นว่านอกจากปัญหาการเลิกจ้างและการเพิ่มขึ้นค่าครองชีพแล้ว การชะลอการจ้างงานเพิ่มและโอกาสได้งานทำของเยาวชนก็เป็นเรื่องไม่ควรมองข้าม เพราะปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของแรงงานที่ต้องการทำงาน แต่หางานทำไม่ได้ ที่สำคัญการปล่อยให้มีแรงงานกลุ่มนี้มากขึ้นยังหมายถึงการเพิ่มขึ้นของภาระทางการคลังของรัฐบาล และการลดลงของขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว” ผอ.ศูนย์วิจัยฯ กล่าว.