ครูอังคณาใช้เวที 15 ปี สภาการฯ ฟ้องสื่อ ปัดร่ำรวยจากงานอีเวนท์
นักวิชาการชี้ กรณีครูอังคณา เป็นกรณีศึกษาที่สะท้อน ช่องทางการสื่อสารไม่ได้จำกัดอยู่แค่สื่อเดิมแล้ว ด้านนักกม. มองการรายงานข่าว สื่อไม่ควรนำเสนอในลักษณะเพิ่มความขัดแย้ง
วันที่ 24 กันยายน สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จัดงานจริยธรรมสื่อยุคหลอมรวม ที่ศูนย์การค้าเซ้นทรัลเวิลด์ โดยในช่วงบ่ายมีการเสวนาเรื่อง “ครูอังคณาจัดระเบียบสื่อ” โดยมีนายสัก กอแสงเรือง นายกสภาทนายความ นางอังคณา แสบงบาล โรงเรียนกระทุ่มแบนวิเศษสมุทคุณ และ ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม ร่วมเสวนา
นางอังคณา หรือครูอังคณา กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงหลังตกเป็นข่าวว่า การนำเสนอของสื่อนั้น มีทั้งข้อเท็จและข้อจริง หนังสือพิมพ์บางฉบับลงข้อความที่ตนไม่ได้พูดหรือแสดงความคิดเห็น มีการลงเนื้อหาทำนองว่าตนร่ำรวยจากการออกงานอีเว้นส์ ซึ่งไม่เป็นความจริง ทำให้ได้ข้อคิดที่นำไปสอนเด็กนักเรียนในเรื่องการรู้เท่าทันสื่อต่อไปว่า การอ่านข่าวใดๆ นั้นต้องมีการตรวจสอบจากสื่อหลายฉบับ อย่าเชื่อเพียงฉบับใดฉบับหนึ่ง อีกทั้งการจะโพสต์ข้อความอะไรนั้น ก็ต้องใช้ความระมัดระวัง เพราะสื่อในปัจจุบันสามารถแตกประเด็นไปได้มากมาย
ขณะที่ผศ.ดร.วรัชญ์ กล่าวถึงกรณีครูอังคณาว่า เป็นกรณีศึกษาที่สะท้อนให้เห็นว่า ช่องทางการสื่อสารไม่ได้จำกัดอยู่แค่สื่อเดิม แต่เป็นการหลอมรวม และเชื่อมโยงเข้ากับโซเชียลมีเดีย ทำให้เกิดการกระจายของข้อมูล โดยเฉพาะหากเป็นคำพูดที่แรง หรือสะใจก็จะยิ่งถูกแชร์ต่อกันมาก
สำหรับสถานการณ์สื่อในยุคหลอมรวมนั้น ผศ.ดร.วรัชญ์ กล่าวว่า มีการหลอมทั้งในแง่เนื้อหา และบทบาทของผู้รับสารและผู้ส่งสาร เฉพาะในส่วนของเนื้อหานั้นมีการขยายได้หลากหลายมิติ บางครั้งข่าวเดียวกันสื่อในเครือเดียวกันยังแตกต่างกัน ขณะที่เรื่องบางเรื่องไม่ควรเป็นข่าวก็เป็นข่าว ฉะนั้น สื่อจะต้องระมัดระวังในเรื่องคุณค่าของข่าวด้วย นอกจากนี้อยากตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อสื่อคือองค์กรบริษัท สื่อไม่ได้มีจิตวิญญาณในตัวเอง แต่ต้องขึ้นอยู่กับเจ้าของธุรกิจจะกำหนดให้ดำเนินตามจริยธรรมเข้มข้นเพียงใด จึงอยากให้เห็นบทบาทองค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ กสทช.เข้ามามีส่วนรวมและตรวจสอบในเหล่านี้ด้วย เพราะสื่อในปัจจุบันมีรูปแบบที่หลากหลาย และวัตถุประสงค์ต่างกันออกไป
ขณะที่นายสัก กล่าวถึงบทบาทและหน้าที่ของสื่อมวลชน ตามกฎหมายสื่อมวลชนมีสิทธิและหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญให้กับการรับรองไว้ แต่การทำหน้าที่ของสื่อนั้นต้องอยู่ในกรอบของความถูกต้อง ความเป็นธรรม กรอบจริยธรรมวิชาชีพ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในเชิงธุรกิจ
ส่วนการรายงานข่าวนั้น นายสัก กล่าวว่า ไม่ควรนำเสนอในลักษณะเพิ่มความขัดแย้ง เพิ่มความเกลียดชังในสังคม การพาดหัวข่าวต่างๆ ต้องไม่ชี้นำ หรือตัดสินล่วงหน้า พร้อมกับมองว่า การสร้างกลไกตรวจสอบเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมาก
เมื่อถามถึงข้อควรระวังในการรายงานข่าวของสื่อมวลชน เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกฟ้องร้อง นายสัก กล่าวว่า แม้สื่อจะมีกฎหมายที่ให้สิทธิ แต่ก็ยังมีความรับผิดชอบทางอาญา หมิ่นประมาท คดีละเมิด ฯ ซึ่งหลักในการนำเสนอไม่ให้ถูกฟ้องร้องนั้น หลักการคือ ใช้มาตรฐานของวิญญูชน นั่นคือมีความรับผิดชอบ ไม่ละเมิดศีลธรรมอันดี คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม ประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้ง ถ้าข่าวผิดจากนี้ก็ไม่ควรนำเสนอ
จากนั้นในเวที เปิดให้แสดงความคิดเห็น ซึ่งมีผู้ร่วมรับฟังเสวนารายหนึ่ง ลุกขึ้นตั้งคำถามอย่างดุเดือดถึงพฤติกรรมและการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน กรณีที่ร่วมเดินทางไปทัวร์ยุโรปกับประธานรัฐสภาว่า เป็นการเลือกโดยเฉพาะ มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันหรือไม่ อย่างไร หรือกรณีของพิธีกรเล่าข่าว ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด แต่อ่านข่าวได้อยู่ ทำไมถึงไม่ยุติบทบาท
นายสัก ในฐานะตัวแทนวิทยากร กล่าวว่า ตนขอปฏิเสธที่จะตอบคำถาม เนื่องจากขณะนี้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งของภาครัฐ องค์กรวิชาชีพ และฝ่ายนิติบัญญัติ เตรียมที่จะดำเนินตรวจสอบอยู่ ดังนั้นอยากให้รอฟังผลการวินิจฉัยตัดสินต่างๆ ออกมาก่อนที่จะมีการวิพากษ์วิจารณ์ต่อไป