“องคมนตรี” แนะหลอมรวมจริยธรรม เข้ากับธรรมาภิบาล หวังองค์กรสื่อโปร่งใส ตรวจสอบได้
15 ปี สภาการหนังสือพิมพ์ “องคมนตรี” แนะผนึกหลอมรวมจริยธรรม เข้ากับธรรมาภิบาล หวังองค์กรสื่อโปร่งใส ตรวจสอบได้
วันที่ 24 กันยายน สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จัดงาน “จริยธรรมสื่อยุคหลอมรวม” เนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ณ ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
โดยนายจักรกฤษ เพิ่มพูน ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า ในโอกาสครบรอบ 15 ปี และก้าวเข้าสู่ปีที่ 16 ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ ที่ก่อตั้งขึ้นโดยใช้หลักจริยธรรมในการควบคุมกันเอง จะยึดหลักความเที่ยงธรรมในการกำกับดูแล โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการละเมิดจริยธรรมโดยเคร่งครัด เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคข่าวสารและความเชื่อถือในสื่อทั้งระบบ โดยเฉพาะในยุคสื่อหลอมรวมเช่นในปัจจุบัน พร้อมกันนี้ยังคงจะส่งเสริมความร่วมมือกับองค์กรภายนอกและสนับสนุนองค์กรสื่อมวลชนให้เข้ามามีส่วนรวมและมีบทบาทในการทำหน้าที่ของหนังสือพิมพ์ ซึ่งจะทำให้องค์กรสมาชิกทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นได้ภาคภูมิในการปฏิบัติงาน การเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ยึดมั่นในจริยธรรม
จากนั้น มีปาฐกถาพิเศษหัวข้อ“จริยธรรม...ยุคหลอมรวม” โดยนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ องคมนตรี กล่าวตอนหนึ่งถึงการที่สภาการฯ จัดงานในครั้งนี้เพื่อกระตุ้น ปลูกจิตสำนึกของประชาชนคนไทยในเรื่องจริยธรรม หลักธรรมาภิบาลนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นเรื่องที่ทันสมัย เพราะปัจจุบันมีคนบางกลุ่มไปเข้าใจผิดว่า การทุจริตคอร์รัปชั่น การซื้อสิทธิ์ขายเสียง การพูดเท็จได้ในบางครั้งบางคราวนั้น เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ ทั้งที่ในความจริงแล้วขัดต่อหลักจริยธรรมของสังคมไทย รวมถึงหลักศาสนาพุทธ ที่พุทธศาสนิกชนต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่หลอกลวง ไม่กล่าวความเท็จ
องคมนตรี กล่าวถึงการควบคุมสื่อในประเทศไทยว่า พบมีการควบคุมสื่อโดยรัฐบาล ตั้งแต่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิ์ราชย์ ส่วนการทำหนังสือพิมพ์ของไทยในช่วงแรกๆ ก็ยังไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องคุณธรรมจริยธรรมมากนัก เนื่องจากหนังสือพิมพ์ยังไม่มีอิทธิพลมากพอ และยังไม่เป็นที่แพร่หลายในหมู่ประชาชน หรือกระทั่งต่อมาในช่วงที่มีการก่อตั้งองค์กรวิชาชีพขึ้นแล้ว เช่น สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์ก็ยังพบว่า มีกฎหมาย พระราชบัญญัติการจัดแจ้งการพิมพ์เข้ามาควบคุมสื่อ โดยให้เจ้าพนักงานการพิมพ์มีบทบาทมีอำนาจมาก สามารถข้อดูเนื้อหาก่อนตีพิมพ์ได้ ทำให้การถอนใบอนุญาต การปิดโรงพิมพ์เกิดขึ้นได้ง่าย ทั้งที่ในช่วงเวลาดังกล่าวสื่อจะคำนึงถึงถึงเรื่องจริยธรรม มีจริยธรรมมากขึ้นแล้วก็ตาม แต่ในขณะนั้นกลับไม่มีใครพูดถึงคุณธรรมจริยธรรมของรัฐบาลที่เข้ามาควบคุมสื่อเลย
“ สื่อในยุคปัจจุบัน เป็นสื่อที่ได้รับสิทธิเสรีภาพมากกว่ายุคก่อน เห็นได้จากรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ให้สิทธิเสรีภาพ การพูด การสื่อความหมาย ห้ามไม่ให้มีการจำกัดเสรีภาพ ที่อาจไปกระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพของคนอื่น การสั่งปิดโรงพิมพ์ทำไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสื่อหลอมรวม สิ่งเหล่านี้จึงเป็นหลักประกันให้กับสื่อหนังสือพิมพ์มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เป็นองค์กรอิสระมีหน้าที่ควบคุมกันเอง ส่งเสริมผู้ประกอบวิชาชีพให้ประพฤติปฏิบัติตามจริยธรรมอย่างเคร่งครัด”
เปิดธรรมนูญ สื่อควบคุมกันได้จริง
นายชาญชัย กล่าวต่อว่า ในส่วนของการควบคุมกันเองของสื่อนั้น ก็เกิดความกังวล เกิดการตั้งข้อสงสัยเช่นกันว่า สื่อควบคุมกันเองได้จริงหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด หากพบกรณีที่สื่อบางคน บางฉบับใช้สิทธิเสรีภาพเกินขอบเขต ล่วงละเมิดผู้อื่น หรือเอนเอียงเข้าข้างผ่านใดผ่านหนึ่ง ซึ่งตนก็มีความกังวลในเรื่องนี้เช่นกัน จึงได้ไปศึกษาธรรมนูญของสภาการฯ พบว่า การกำหนดสัดส่วนของคณะกรรมการสภาการฯนั้น นอกจากตัวแทนที่มาจากผู้บริหารสื่อแล้ว ยังมีการกำหนดให้มีสัดส่วนคณะกรรมการที่มาจากบุคคลภายนอก เข้ามาร่วมเป็นกรรมการในการบริหาร ดูแลควบคุมจริยธรรมของสื่อหนังสือพิมพ์ ตรงนี้จึงเชื่อว่าจะทำให้ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิได้รับความเป็นธรรม เพราะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากภายนอกก็มีความน่าเชื่อถือ เป็นตัวแทนของสาธารณชน
“นอกจากนี้ การลงนามที่จะปฏิบัติตามจริยธรรมของสภาการฯนั้นยังมาจากความสมัครใจของเจ้าหนังสือพิมพ์ ไม่ได้เป็นไปโดยถูกบังคับ ทำให้ยิ่งมีความศักดิ์สิทธิและความน่าเชื่อถือมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น ในความเห็นส่วนตัวมองว่า สื่อหนังสือพิมพ์ ต้องมีหลักธรรมาภิบาลควบคู่ไปด้วย เพื่อให้มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้”
องคมนตรี กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า การปฏิบัติหน้าที่ของนักหนังสือพิมพ์นั้น มีความสำคัญอย่างมากต่อการการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หากทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมด้วยความสุจริต ตั้งตนอยู่บนคุณธรรมและมีความรับผิดชอบอยู่เป็นนิจ ก็จะเป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชนที่ดีได้ ส่วนการทำหน้าที่ของสภาการฯนั้น ระยะเวลา 15 ปีเศษ หากเปรียบเป็นคนก็ยังอยู่ในวัยแรกรุ่น ผลงานต่างๆ คงต้องใช้เวลาในการวัดในการติดตามต่อไปอีกประมาณ 2 เจเนอเรชั่น เพราะตามคำโบราณ หากจะดูลูกวันนี้ ก็ต้องดูไปถึงพ่อแม่เช่นกัน