เปิดแผนรัฐเลิก พ.ร.ก.ใต้ ลุยตั้ง "กก. 2 ชุด" รณรงค์แนวร่วมวางอาวุธ
เปิดแผนรัฐบาลเล็งเลิก "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ" ชายแดนใต้บางพื้นที่ หลังข้อมูลสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบระบุชัด ความรุนแรงกระจุกตัวแค่ 257 หมู่บ้านจาก 1,609 หมู่บ้าน หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ของพื้นที่ทั้งหมด ขณะที่อีก 1,352 หมู่บ้านไม่เคยเกิดเหตุร้าย ทุ่มงบ 300 ล้านให้ ศอ.บต.พัฒนาคุณภาพชีวิต "หมู่บ้านสีขาว" พร้อมตั้งคณะกรรมการ 2 ชุดรณรงค์แนวร่วมกลับใจ ดึงอดีตอาร์เคเคร่วมทีม ขณะที่ "สุชาติ" เตรียมชง ครม.บรรจุครูใต้เพิ่มร้อยละ 10
รายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชนที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เมื่อวันเสาร์ที่ 22 ก.ย.2555 ได้มีการนำรัฐมนตรีและผู้บริหารหน่วยงานด้านความมั่นคงมาอธิบายถึงแผนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล หลังจากถูกวิจารณ์ในแง่ลบมาโดยตลอด
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งมีมติแต่งตั้งเป็นเลขาธิการ สมช.คนใหม่ กล่าวตอนหนึ่งว่า ในปี 2556 จะมีการยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่งอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.) ในบางพื้นที่ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นมีอยู่ประมาณร้อยละ 12-15 ของพื้นที่ทั้งหมด ส่วนอีกร้อยละ 85 ไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น สะท้อนว่ารัฐบาลยังควบคุมสถานการณ์ได้
ทั้งนี้ ข้อมูลที่ พล.ท.ภราดร นำมากล่าวในรายการ เป็นข้อมูลจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่ได้จัดทำเสนอ ครม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ในปีงบประมาณ 2556 ในชื่อยุทธศาสตร์ "การเสริมสร้างความเข้มแข็งของหมู่บ้านชุมชนในการร่วมสร้างสันติสุข"
รายละเอียดของยุทธศาสตร์ดังกล่าวกำหนดเป้าหมายว่า "สันติสุขหรือชัยชนะอยู่ที่หมู่บ้านและชุมชน" โดยใช้พลังมวลชนผ่านผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา ผู้นำตามธรรมชาติ และผู้นำชุมชนกลุ่มต่างๆ ในการสร้างหมู่บ้านและชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ประชาชนมีความปลอดภัย ลดความหวาดระแวง และมีสันติสุข
ข้อมูลที่เก็บรวบรวมโดย ศอ.บต.ระหว่างวันที่ 1 ต.ค.2554 ถึง 31 ส.ค.2555 ระบุว่า ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำนวน 32 อำเภอจาก 33 อำเภอ มีจำนวนหมู่บ้านทั้งสิ้น 1,609 หมู่บ้าน แต่พบว่ามีหมู่บ้านที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเพียง 257 หมู่บ้าน หรือคิดเป็นร้อยละ 15.97 ของจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด และมีจำนวนหมู่บ้านที่ไม่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเลย จำนวน 1,352 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 84.03 (อ่านรายละเอียดได้ใน ศอ.บต.กางสถิติเหตุรุนแรงเกิดแค่ 257 หมู่บ้านจาก 1,609 หมู่บ้าน! http://www.isranews.org/south-news/stat-history/49-2009-11-17-18-22-35/16568--257-1609-.html)
ทุ่ม 282 ล้านพัฒนาหมู่บ้านสีขาว
ยุทธศาสตร์ของ ศอ.บต.ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานในหมู่บ้านที่ไม่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบจำนวน 1,352 หมู่บ้าน โดยจะสนับสนุนให้ใช้พลังของภาคประชาชนผ่านกลไกผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัด โดยมีเป้าหมายการดำเนินงานและตัวชี้วัดที่สำคัญ 5 ด้าน คือ 1.การแก้ปัญหายาเสพติด 2.การศึกษาและอาชีพ (การว่างงาน) 3.ด้านคุณภาพชีวิต สาธารณสุข 4.ด้านความยุติธรรม การอำนวยความเป็นธรรม เยียวยาและลดความขัดแย้ง และ 5.ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2556 ศอ.บต.ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อให้ดำเนินการในเรื่องนี้เป็นเงิน 282 ล้านบาท โดยจะสนับสนุนให้จังหวัดและอำเภอดำเนินการในระดับตำบลเพื่อแก้ไขปัญหาตามตัวชี้วัดดังกล่าวต่อไป (อ่านประกอบ ส่ง"ภาณุ"กลับใต้ เปิดมหาดไทยส่วนหน้า http://www.isranews.org/south-news/special-talk/53-2009-11-15-11-15-38/16567-qq-.html)
เปิด 2 แนวทางยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
แหล่งข่าวจากหน่วยงานความมั่นคง เปิดเผยเพิ่มเติมว่า พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีทั้งหมด 33 อำเภอ (ไม่รวม 4 อำเภอของ จ.สงขลา) ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาแล้วนานกว่า 7 ปี ตั้งแต่เดือน ก.ค.2548 และขยายเวลาประกาศถึง 29 ครั้ง จึงเห็นสมควรให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในบางพื้นที่
อย่างไรก็ดี ยังคงมีแนวทางที่ต้องหารือกันต่อไปว่าจะยกเลิกเป็นรายอำเภอหรือครอบคลุมทั้งจังหวัด เพราะที่ผ่านมาในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้ยกเลิกไปแล้ว 1 อำเภอ คือ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ซึ่งถือเป็นการพิจารณายกเลิกเป็นรายอำเภอ แต่ก็มีเสียงท้วงติงว่าไม่ถูกต้องตามหลักยุทธวิธี เนื่องจากการใช้มาตรการตามกฎหมายพิเศษต้องใช้ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย หากเลิกเพียงบางอำเภอก็เปรียบเสมือน "ฟันหลอ" ไม่สามารถใช้มาตรการตามกฎหมายพิเศษได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
กระนั้น หากจะใช้การพิจารณาเป็นรายอำเภอ ก็สามารถใช้สถิติการเกิดเหตุรุนแรงเป็นเงื่อนไขในการยกเลิกได้ ซึ่งในรอบปีงบประมาณ 2555 (1 ต.ค.2554 ถึง 31 ส.ค.2555) มีอำเภอไม่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเลย 2 อำเภอ ได้แก่ อ.กาบัง กับ อ.เบตง จ.ยะลา นอกจากนั้นยังมีอำเภอที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในระดับต่ำมาก เช่น อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี 1 ครั้ง อ.แว้ง จ.นราธิวาส 1 ครั้ง และ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส 2 ครั้ง เป็นต้น ซึ่งอำเภอเหล่านี้อาจเข้าเกณฑ์การยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ
ส่วนเงื่อนไขการเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกวิธีหนึ่งที่มีการหารือกัน ก็คือการวัดจากจำนวนแนวร่วมก่อความไม่สงบที่ยอมเข้าแสดงตัวหรือมอบตัวกับรัฐ ซึ่งหากเลือกใช้วิธีนี้ก็ต้องวางหลักเกณฑ์ที่รัดกุมต่อไป
ลุยตั้ง กก.2 ชุดดึงแนวร่วมวางอาวุธ
ด้านแหล่งข่าวจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เปิดเผยว่า หลังจากกลุ่มผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ หรือแนวร่วมก่อความไม่สงบจำนวน 93 คนได้เข้าแสดงตัวต่อ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ที่ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมานั้น ล่าสุดทั้ง พล.ท.อุดมชัย และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้เตรียมตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด ใช้ชื่อว่าคณะกรรมการประสานการณรงค์เพื่อยุติการต่อสู้ด้วยวิธีรุนแรง เพื่อเดินหน้ากระบวนการดึงกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงให้วางอาวุธ แล้วหันมาร่วมแก้ไขปัญหากับรัฐโดยใช้สันติวิธีต่อไป
"เหตุการณ์คาร์บอมบ์ที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา เห็นชัดว่ากลุ่มที่ยังเลือกใช้ความรุนแรงพยายามตอบโต้กระบวนการแสดงตัวและวางอาวุธของกลุ่มที่หันหลังให้ขบวนการก่อความไม่สงบแล้ว ฉะนั้นเราจึงเห็นว่าน่าจะมีคณะกรรมที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยจะดึงกลุ่มอดีตแนวร่วมที่วางอาวุธแล้ว รวมถึงภาคประชาชนมาเป็นกรรมการด้วย" แหล่งข่าว ระบุ
และว่าการดำเนินการดังกล่าวเพื่อกดดันให้กลุ่มที่ยังเลือกใช้ความรุนแรงอยู่ได้เห็นว่า ตนเองคือกลุ่มเดียวที่ยังสร้างปัญหาในพื้นที่ ทั้งๆ ที่ประชาชนและอดีตแนวร่วมล้วนต้องการความสงบสุข ส่วนช่องทางการรับมอบตัวของกลุ่มที่ต้องการวางอาวุธนั้น จะใช้มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) ซึ่งรัฐบาลได้สั่งการให้กระทรวงยุติธรรมเป็นเจ้าภาพพิจารณาแก้ไขเพื่อให้กระบวนการตามมาตรา 21 กระชับขึ้นกว่าเดิม เพื่อจูงใจให้บรรดาแนวร่วมตัดสินใจเข้ากระบวนการ
ศธ.ชง ครม.เพิ่มครูชายแดนใต้อีก 10%
รายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชนในวันเดียวกัน นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยังกล่าวถึงยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ได้เตรียมเสนอ ครม.ให้บรรจุข้าราชการครูในพื้นที่เพิ่มอีก 10% ตลอดจนส่งเสริมทุนการศึกษาแก่ทายาทผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ความสูญเสียจากเหตุการณ์คาร์บอมบ์ในเขตเทศบาลตำบลตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อวันศุกร์ที่ 21 ก.ย.2555 ซึ่งฝ่ายความมั่นคงมองว่าเป็นความพยายามตอบโต้การแสดงตัวของแนวร่วมก่อความไม่สงบ 93 คนเพื่อประกาศจุดยืนยุติการก่อเหตุรุนแรงก่อนหน้านี้ (ภาพโดย สุเมธ ปานเพชร)
หมายเหตุ : บางส่วนของสกู๊ปชิ้นนี้ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 23 ก.ย.2555 หน้า 1 และหน้า 4 ด้วย