‘ไพโรจน์ พลเพชร’ : มือเขียนกฎหมาย ใจฟังเสียงประชาชน
“เราน่าจะเป็นคนหนึ่งที่ทำหน้าที่รื้อฟื้นคุณค่าความเป็นคนของทุกชีวิต” ‘ไพโรจน์ พลเพชร’ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าวอิศราถึง 30กว่าปีของภารกิจชีวิตบนเส้นทาง ‘นักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน’ และล่าสุดคือคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
กว่า 30 ปีในฐานะนักกฎหมายและเอ็นจีโอที่ทำงานต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน เคียงข้างคนเล็กคนน้อยที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมทางสังคม วันนี้ในวัย 57 ปี เขาคือหนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย หรือ คปก. องค์กรใหม่อายุเพิ่งขวบปีที่มีภารกิจปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและเสนอแนะรัฐบาล
บนเส้นทางภารกิจชีวิต ‘นักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน’
เพราะเป็นลูกชาวนาพัทลุง ทำให้‘ไพโรจน์’ เติบโตมาสัมผัสความทุกข์ยากคนชั้นล่างในสังคมชนบท กอปรกับเมื่อเป็นนักศึกษานิติศาสตร์ในรั้วแม่โดมธรรมศาสตร์ เขาทำกิจกรรมพัฒนาที่ออกไปสัมผัสชีวิตกรรมกรและเกษตรกรในถิ่นทุรกันดาร ความศรัทธาในสิทธิมนุษยชนจึงค่อยๆบ่มเพาะพอกพูนขึ้น
“ผมเรียนอยู่ช่วงหลัง 14 ตุลา 16 มีการเผยแพร่ความคิดทางการเมืองใหม่ หนึ่งในนั้นแนวคิดสังคมนิยม ซึ่งเป็นเหมือนอุดมคติคนรุ่นหนุ่มสาวยุคนั้นรวมทั้งผม แต่ถึงที่สุดผมได้เข้าใจว่าสังคมนิยมหรือทุนนิยมในระบบเศรษฐกิจ ลึกๆแล้วคือการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ มองคนเป็นสินค้า ใช้คนเป็นเครื่องมือสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ จึงค่อยๆสั่งสมจากการเรียนรู้และประสบการณ์จากการทำงานจนพัฒนาแนวคิดมาเป็นสิทธิมนุษยชน เป็นนักมนุษย์นิยมที่ทำหน้าที่รื้อฟื้นคุณค่าชีวิตคน”
หลังเรียนจบ‘ไพโรจน์’ เริ่มงานแรกเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายของสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย (ส.พ.ท.) จากนั้นก้าวมาทำงานด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มตัวในสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) มีหน้าที่ความช่วยเหลือทางกฎหมาย การให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนแก่เกษตรกรและกรรมกร รวมทั้งร่วมมีบทบาทร่วมผลักดันนโยบายและกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น กฎหมายประกันสังคมออกในปี 2533 เขายังทำงานให้กับองค์กรพัฒนาเอกชน(เอ็นจีโอ)หลายแห่ง โดยเคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
เมื่อถามถึงบทบาทเอ็นจีโอที่คนส่วนหนึ่งมองว่าดีแต่คัดค้านไม่เคยสนับสนุนงานพัฒนาของรัฐบาล ‘ไพโรจน์’ให้มุมมองว่า “ปณิธานการเกิดเอ็นจีโอมาจากความไม่เห็นด้วยกับแนวทางการพัฒนาของรัฐ เราเป็นส่วนหนึ่งที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ และนำเสนอทางเลือกอื่นที่แตกต่างจากแนวทางการพัฒนาที่รัฐยึดถือจนกลายเป็นแนวทางหลักของสังคม เช่น เอ็นจีโอเชื่อว่าการแก้ปัญหาน้ำอย่างยั่งยืนคือการสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กที่ไม่ใช่เขื่อนขนาดใหญ่อย่างที่รัฐต้องการ เราต้องต่อสู้กับความคิดกระแสหลักในสังคมด้วย เช่น เราเสนอว่าต้องกระจายการถือครองที่ดิน เอามาปลูกพืชอาหารสร้างความมั่นคงทางอาหารก่อน แต่กระแสหลักบอกว่าควรนำที่ดินไปลงทุนปลูกพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้มากกว่า เช่น ปาล์มน้ำมัน”
แม้เป็นคนละบทบาทแต่ ‘ไพโรจน์’ มองว่าการเป็นนักกฎหมายกับเอ็นจีโอของเขาก็ไม่ได้แตกต่างกันนัก เพราะทุกบทบาทคือการทำงานเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในสิทธิที่พึงมีให้แก่ประชาชน หรือคือการทำงานสิทธิมนุษยชนนั่นเองและวันนี้ในฐานะ คปก.เขายังคงทำภารกิจนั้น และมุ่งไปที่การผลักดันปรับปรุงกฎหมายซึ่งเป็นหัวใจขององค์กร
คปก. กับความหวังใหม่ในการผลักดันกฎหมายประชาชน
คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เป็นองค์กรที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 50 ตามมาตรา 81 บัญญัติให้รัฐต้องดำเนินการตามนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐด้านกฎหมายและการยุติธรรม โดยจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อปรับปรุงและพัฒนากฎหมาย โดยรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายด้วย คปก.จึงถูกแต่งตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ.2553 และคณะกรรมการได้เข้าปฏิบัติหน้าที่เมื่อเดือนพฤษภาคม2554 ซึ่ง‘ไพโรจน์’ บอกว่า
“กฎหมายที่ผ่านมาผลิตขึ้นจากหน่วยงานของรัฐและมีแนวโน้มให้อำนาจรัฐเป็นใหญ่ มีอำนาจควบคุม บังคับ และกำกับทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับประชาชนในหลายกรณี ดังนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญปี 40 และปี50 เปลี่ยนแนวคิดไปเน้นสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย กระบวนทัศน์ของกฎหมายจึงต้องเปลี่ยน จึงต้องมีคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย”
การทำหน้าที่ปรับปรุงกฎหมายของ คปก.อยู่ภายใต้หลักองค์ความรู้สองอย่าง หนึ่ง-องค์ความรู้จากการศึกษาสังเคราะห์งานวิจัยจากทุกภาคส่วน สอง-องค์ความรู้ที่สำคัญที่สุด คือ องค์ความรู้จากของประชาชน โดยการรับฟังเสียงและปัญหาของประชาชน รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชนในฐานะเจ้าของปัญหาตัวจริง
“สิ่งที่หายไปในการสร้างกฎหมายของสังคมไทยคือองค์ความรู้จากประสบการณ์ชีวิตประชาชน บางครั้งเราต้องสลดใจและเจ็บปวดเพราะกว่าจะได้มาซึ่งองค์ความรู้นี้เพื่อแก้ไขกฎหมายหาทางป้องกันเยียวยา ต้องใช้ชีวิตคนเป็นเดิมพันมากมาย เช่น กรณีชาวบ้านคลิตี้ จ.กาญจนบุรี ที่ต้องดื่มน้ำจากลำห้วยซึ่งมีสารพิษตกค้างจากเหมืองแร่ตะกั่วมาหลายสิบปี หรือ กรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ก็มีชาวบ้านเป็นโรค ซึ่งใช้ชิวิตอย่างทุกข์เข็ญ คปก.จึงต้องจัดเวทีฟังปัญหาของประชาชนอยู่เสมอ โดยสังเคราะห์ออกมาเป็นหลักการทางกฎหมาย”
ดังนั้นภารกิจหนักของคปก.คือการทำให้กฎหมายเป็นกฎหมายของสังคมอย่างแท้จริง ‘ไพโรจน์’ เล่าว่า คปก.ต้องอธิบายและสื่อสารกับผู้คนอย่างมากถึงคุณค่าของกฎหมายบางอย่างที่จำเป็นต่อสังคม และต้องต่อสู้กับกระบวนทัศน์เก่าของสังคมอยู่เสมอ โดยเชื่อว่าสิ่งสำคัญคือประชาชนต้องตระหนักในสิทธิของตนเอง ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนมีความตื่นตัวมากขึ้นโดยเฉพาะคนชายขอบ อย่างไรก็ดีความตื่นตัวนี้ก็ยังจำกัดอยู่ในวงของผู้ได้รับผลกระทบเท่านั้น
กว่า1 ปีที่ผ่านมาของคปก. เขาบอกว่าคือช่วงก่อร่างสร้างตัวปรับปรุงโครงสร้างภายใน ศึกษาวิจัยและรับฟังความเห็นของประชาชนที่เสนอกฎหมายเอง รวมทั้งกฎหมายที่เสนอโดยรัฐบาล ส.ส. หรือองค์กรอื่นของรัฐ เพื่อเสนอความเห็นของคปก.ต่อกฎหมายดังกล่าว จึงอาจไม่เห็นกฎหมายใดถูกผลักออกมาเป็นรูปธรรมนัก แต่ที่เป็นรูปธรรมบังคับใช้แล้วคือ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2555 ว่าด้วยเรื่องคนไทยพลัดถิ่น และมีอีกหลายฉบับที่อยู่ระหว่างพิจารณา เช่น กฎหมายว่าด้วยคนพิการ, กฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย, กฎหมายว่าด้วยองค์กรอิสระคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม กฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ปีหน้าจะได้เห็นกฎหมายที่คปก.ผลักดันออกมามากขึ้น
ดัน พรบ.สิทธิชุม-แก้ กม.ทรัพยากร-กระจายอำนาจท้องถิ่น-รื้อหลักสูตรนิติศาสตร์
เมื่อถามถึงกฎหมายสำคัญที่ต้องการให้แก้ไขโดยเร่งด่วน นักสิทธิมนุษยชนวัย 57 ปีในฐานะกรรมการคปก.ถอนหายใจยาว ก่อนตอบว่า กฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทุกฉบับคือสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไข และเรื่องนี้คือยุทธศาสตร์แรกที่สำคัญ ใน 4 ยุทธศาสตร์ที่คปก.ต้องทำ
“โลกเราและประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตระบบนิเวศจากฝีมือมนุษย์ที่กลับมาทำร้ายมนุษย์เอง ฉะนั้นไม่ว่ากฎหมายที่เกี่ยวกับดิน ป่าไม้ น้ำ หรือสิ่งแวดล้อม ต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลง เพราะนอกจากเราจะเผชิญกับภัยพิบัติแล้ว ยังมีความไม่เป็นธรรมอยู่ในการจัดการกับทรัพยากรธรรมชาติด้วย เพราะคนส่วนน้อยได้ใช้ประโยชน์และเข้าถึงทรัพยากร แต่การใช้ประโยชน์นั้นส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและคนส่วนรวม”
ยุทธศาสตร์ที่สอง คือ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยรัฐธรรมนูญปี 40 และปี 50 วางแนวทางให้ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีบทบาทในการจัดการทรัพยากร งบประมาณและวางแผนการพัฒนาได้ด้วยตนเอง โดยอาจเป็นไปในรูปแบบจังหวัดจัดการตนเอง ซึ่งถือเป็นการกระจายอำนาจประชาธิปไตยลงสู่ระดับล่างอย่างแท้จริง
“ทุกวันนี้บางจังหวัดส่งเงินกลับมาที่ส่วนกลางหมดจนท้องถิ่นไม่เหลืออะไร ใครๆจึงอยากเข้าสู่อำนาจส่วนกลางเพื่อหาผลประโยชน์และคอรัปชั่น การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจึงเป็นการพัฒนาประชาธิปไตยที่สำคัญก้าวหนึ่งที่ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจเรื่องการพัฒนาไม่ใช่ฟังแต่เสียงของรัฐ”
คปก. จึงผลักดันร่างพ.ร.บ.สิทธิชุมชน เพื่อชาวบ้านได้มีส่วนร่วมตัดสินใจในโครงการพัฒนาต่างๆของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน และเพื่อให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมจัดการทรัพยากรท้องถิ่นเอง เรื่องนี้มีการถกเถียงในประเด็น “ประโยชน์สาธารณะ กับสิทธิชุมชน ซึ่งมักสวนทางกัน” ซึ่งไพโรจน์มองว่า
“รัฐธรรมนูญกำหนดว่าชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรได้ภายใต้หลักการ 2 อย่าง คือ สมดุลและยั่งยืน แต่การใช้ทรัพยากรของรัฐมักมีแนวโน้มเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ขณะที่การใช้ประโยชน์โดยชุมชนมีแนวโน้มรักษาระบบนิเวศ แม้ชุมชนจะได้ประโยชน์แต่ส่วนรวมก็ได้ใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนด้วย จึงต้องตั้งคำถามกับเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมักอ้างประโยชน์สาธารณะว่าถึงที่สุดแล้วการใช้ทรัพยากรเป็นไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมหรือเอื้อประโยชน์กลุ่มทุน เช่น การสร้างโรงไฟฟ้า อาจเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจจริง แต่ทำลายธรรมชาติที่ไม่อาจดำรงรักษาไว้ให้คนรุ่นต่อไปใช้ได้อย่างยั่งยืนได้ นี่คือเส้นแบ่งที่สำคัญ”
ยุทธศาสตร์ที่สาม คือ กระบวนการยุติธรรม หมายรวมทั้งสถาบันตุลาการ หน่วยงานตำรวจ อัยการ และตัวกฎหมาย “ไพโรจน์’ มองว่า “แนวโน้มการบังคับใช้กฎหมายไทยที่เราเห็นมาตลอดเป็นการเลือกบังคับใช้กับคนที่ยากไร้และคนชายขอบมากกว่าคนมีอำนาจหรือมีฐานะทางเศรษฐกิจ ในมิติการตีความของศาลยังมักเป็นไปในลักษณะที่ให้คุณค่าของกฎหมายลูกมากกว่ารัฐธรรมนูญซึ่งถือเป็นกฎหมายสูงสุด เช่น เรื่องสิทธิชุมชนซึ่งเป็นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ศาลก็เพิกเฉยโดยอ้างว่ายังไม่มีกฎหมายลูกมารองรับ”
คปก.จึงมติเห็นชอบให้ปฏิรูประบบการเรียนการสอนนิติศาสตร์ในประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาการตีความและปรับกระบวนทัศน์ในการใช้กฎหมายใหม่ให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมากยิ่งขึ้น (ดู ‘คปก.เสนอรื้อหลักสูตรนิติศาสตร์ แก้กระบวนการยุติธรรมบกพร่อง’ http://bit.ly/Prg8EL )
และยุทธศาสตร์ที่สี่ คือ สวัสดิการสังคม ‘ไพโรจน์’ กล่าวว่า ระบบสวัสดิการสังคมไทยยังมีความเลื่อมล้ำอยู่มาก เช่น การเข้าถึงการรักษาพยาบาล ที่มีมาตรฐานและคุณภาพต่างกันในแต่ละกลุ่มคน โดยเฉพาะสวัสดิการผู้สูงอายุซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ต้องเร่งผลักดันกฎหมายรองรับสร้างความเท่าเทียมก่อน
ความรุนแรงทางการเมืองต้องพิสูจน์ความจริง- วอนสื่ออย่าผลิตซ้ำความเกลียดชัง
ในสายตาของนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน “ไพโรจน์” ยังมองปรากฏการณ์ความขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างเป็นห่วงว่า
“กฎหมายไม่สามารถเขียนให้คนดีกัน แต่แก้ได้ด้วยการทำความจริงให้ปรากฏ ไม่ใช่ความจริงของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เช่น ฝ่ายหนึ่งบอกว่าเจ้าหน้าที่รัฐยิงประชาชน อีกฝ่ายบอกว่ามีเสื้อดำอยู่ แต่ต้องมีเป็นความจริงที่ยอมรับร่วมกันโดยพิสูจน์ผ่านกระบวนการยุติธรรมก่อนเยียวยา ก็จะคลายความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ซึ่งการเยียวยาเพียงให้เงินที่ทำอยู่ไม่ใช่ทางที่เหมาะสม ต้องเยียวยาไปถึงกระบวนการที่ผิดพลาดด้วย เช่น การใช้กำลังทหารผิดพลาดไหม การติดอาวุธผิด การชุมนุมผิดพลาดไหม สังคมไทยผ่านความรุนแรงมาหลายรอบ แต่เราไม่เคยจัดการด้วยกระบวนการเหล่านี้ได้เลย ชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะจัดการกับความขัดแย้งรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าห่วงที่ฉุดรั้งการพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตผู้คน”
“แต่เรื่องที่ผมกังวลที่สุดคือ สื่อทุกวันนี้เลือกข้างทางการเมือง เผยแพร่อุดมการณ์ทำลายฝ่ายตรงข้าม ผลิตสร้างแต่ความโกรธแค้นทางการเมืองให้ทุกคนจมอยู่กับความเกลียดชัง โดยที่ไม่รับผิดชอบต่อเนื้อหา ซึ่งผิดหลักสิทธิมนุษยชนว่าการสื่อสารต้องมีความรับผิดชอบต่อชีวิต ชื่อเสียงและประเทศชาติโดยรวมเพื่อความสงบสุข ฉะนั้นสื่อต้องมีจรรยาวิชาชีพ ไม่ทำให้เกิดความเกลียดชัง ซึ่งนำไปสู่การทำร้ายชีวิตมนุษย์ด้วยกันในที่สุด” แต่สื่อยุคทุนนิยมวันนี้ไม่อาจหลุดพ้นอำนาจนายทุนและการเมือง จึงยากที่จะไม่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง ‘ไพโรจน์’ บอกว่า “สื่อต้องกล้ากบฏบ้าง” กล้ากบฏทางความคิดและหาวิธีการสื่อสารที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นสื่อก็ไม่อาจจรรโลงสังคมที่สงบสุขไว้ได้
ไม่มีกฎหมายใดสมบูรณ์แม้แต่รัฐธรรมนูญ แต่ต้องตอบโจทย์ได้ว่าเพื่อใคร
‘ไพโรจน์’ มองว่าการขาดแคลนกฎหมายที่ดีที่ให้สิทธิเสรีภาพประชาชน กับการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เสมอภาค จะยังเป็นปัญหาสำคัญในสังคมไทยที่ต้องหาทางแก้ไขต่อไป รวมทั้งรัฐธรรมนูญที่ก็ยังต้องมีการแก้ไขกันต่อ เนื่องจากแต่ละฉบับต่างมีข้อบกพร่อง กระนั้นตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 40 กระทั่งรัฐธรรมนูญปัจจุบันมีการรองรับสิทธิเสรีภาพประชาชนชัดเจนอย่างไม่เคยมีมาก่อนซึ่งคือนิมิตหมายอันดีที่ทำให้เขาเชื่อว่าต่อไปในอีก 10 ปีข้างหน้า กฎหมายจะช่วยพัฒนาระบอบประชาธิปไตยและกระจายอำนาจสู่ประชาชนมากขึ้น แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าทำเพื่ออะไร ต้องวิจัยข้อดีข้อด้อย มิใช่อาศัยแต่ความเชื่อโดยขาดโดยขาดศึกษาใช้ปัญญาอย่างที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน
…….....
ก่อนจบการสนทนา “ไพโรจน์ พลเพชร” เอ่ยถึงสิ่งที่เขาประทับใจที่สุดในชีวิตการทำงาน คือ การมีส่วนผลักดันให้เกิด 'คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ' ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลที่ว่า “การมีสถาบันนี้อยู่เท่ากับเรื่องสิทธิมนุษยชนได้ถูกตั้งหลักปักฐานอยู่ในสังคมไทยอย่างยั่งยืนแล้ว”
และสำหรับตัวเขาเอง การแบกรับความรับผิดชอบเพื่อสิทธิและคุณค่าในชีวิตของผู้อื่น คือ งานที่สร้างความสุข .
ภาพประกอบ :::
http://www.oknation.net/blog/setth/2009/10/10/entry-3
http://tnews.teenee.com/politic/50814.html