นักเศรษฐศาสตร์ทุกสำนักฟันธงประชานิยมไม่ยั่งยืน - คิดใหม่ตามแนวพระราชดำริฯ
นักเศรษฐศาตร์ทุกสำนักฟันธงประชานิยมไม่ยั่งยืน ‘ดิศนัดดา’ ชี้ต้องเดินตามแนวพระราชดำริฯ ‘ดร.โกร่ง’ แนะชาวบ้านไม่โง่ อย่าปิดกั้นโอกาสทางการเมือง
วันที่ 23 ก.ย. 55 ที่สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ มีงานเสวนาในหัวข้อ ‘ประชานิยม ชนบทได้หรือเสีย’ โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงหลักคิดในการพัฒนาชนบทว่า ความไม่รู้เป็นศัตรูสำคัญที่สุดของความยากจน ประชาชนในชนบทบางแห่งยังไม่รู้จะวิธีบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการทำมาหากิน ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องเร่งสร้างโอกาสทางการศึกษาและการเข้าถึงแหล่งความรู้แก่คนในชนบทให้ทัดเทียมคนในเมือง
อย่างไรก็ดีปัจจุบันนี้คุณภาพชีวิตของคนต่างจังหวัดส่วนใหญ่มีความใกล้เคียงกับคนกรุงเทพฯทั้งด้านเศรษฐกิจและการศึกษา ทำให้กระแสการเมืองต่างจังหวัดถูกปลุกเร้าขึ้น คนต่างจังหวัดต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น อย่างไรก็ดีคนเมืองส่วนหนึ่งยังเห็นว่าเสียงของคนต่างจังหวัดเป็นเสียงที่ไม่มีคุณภาพทางการเมือง ซึ่งเป็นอคติที่ควรแก้ไข
นายกิตติศักดิ์ พรหมรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า นโยบายประชานิยมที่ดีต้องตอบโจทย์การพัฒนาได้ 3 ประการ ได้แก่ 1.เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน 2.ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและรายได้ และ 3.ปรับโครงสร้างความสมดุลเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ
โดยกรุงเทพโพลล์ ได้สำรวจความคิดเห็นความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ 70 คนซึ่งเป็นตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาต่อนโยบายประชานิยมของรัฐบาลชุดปัจจุบัน พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ร้อยละ 58.6 ระบุว่านโยบายประชานิยมของรัฐบาลไม่เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ขณะที่ร้อยละ 38 ระบุว่าช่วยสร้างขีดความสามารถการแข่งขันแต่ไม่ยั่งยืน โดยร้อยละ 47.1 เห็นว่าประชานิยมไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และร้อยละ 50 ระบุว่าช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้บ้างแต่ไม่ยั่งยืน ทั้งนี้ไม่มีนักเศรษฐศาสตร์คนใดเลยที่ระบุว่านโนบายประชานิยมของรัฐบาลช่วยแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน แสดงให้เห็นว่านโยบายประชานิยมไม่ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาว
นอกจากนี้จากการสำรวจความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ต่อโครงการประชานิยมของรัฐบาล 16 โครงการนี้ พบว่า โครงการประชานิยมซึ่งให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการ เช่น โครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค หรือ สัญญาณอินเตอร์เน็ตฟรีในที่สาธารณะ เป็นโครงการที่ดีและได้ประโยชน์ โดยมีความเห็นว่าโครงการประชานิยมที่ไม่เกิดผลดีได้แก่ โครงการที่เน้นสนับสนุนการบริโภคและป้อนความช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว เช่น โครงการรถยนต์คันแรก จำนำข้าว บัตรเครดิตชาวนา ทั้งนี้มีโครงการที่มีผลดีแต่ดำเนินการไม่ถูกต้อง เช่น โครงการค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท เป็นต้น เนื่องจากรัฐบาลทำเพียงการปรับขึ้นรายได้ แต่ไม่ได้ควบคุมราคาสินค้า ทั้งนี้ภายใน 2 ปี ตัวเลขเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 16 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้มีรายได้ต่ำ
ด้านดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อาจารย์ประจำศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ชนบทที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมคือเอกลักษณ์สำคัญซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทย แต่ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมากระบวนการที่เข้าไปพัฒนาชนบทแม้จะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่วิถีชีวิตและวัฒนธรรมพื้นบ้านเสื่อมถอยลง ทั้งนี้เกษตรกรยังมีหนี้สินเพิ่มขึ้นทุกปี
โดยการแก้ปัญหาและพัฒนาชนบทต้องอยู่บนพื้นฐานความต้องการและการมีส่วนร่วมของประชาชน นโยบายประชานิยมโดยหลักการแล้วมีความจำเป็น แต่ในทางปฏิบัติมีการบิดเบือนและไปไม่ถึงเป้าหมาย โดยตอบสนองความต้องการของคนบางกลุ่มในบางเรื่องเท่านั้น
“ยกตัวอย่างเช่น การรับจำนำข้าว เกษตรกรในภาคอีสานอาจไม่ค่อยได้ประโยชน์สักเท่าไหร่ เพราะอีสานนาแปลงเล็กและโดยมากปลูกข้าวไว้กินเองในครัวเรือน แต่คนที่ปลูกข้าวเพื่อค้าขายส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลาง ประชานิยมโดยหลักการเลือกปฏิบัติจึงมีจุดอ่อนซึ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ดังนั้นประชานิยมที่ดีจึงต้องใส่ใจเรียนรู้ปัญหาและความต้องการของคนทุกกลุ่ม โดยควรมีแนวทางที่หลากหลายให้ประชาชนตัดสินใจเลือก เช่น เกษตรกรบางพื้นที่อาจเลือกเข้าโครงการประกันราคาข้าว ในขณะที่บางแห่งเลือกเข้าโครงการการรับจำนำได้ ”
ทั้งนี้ก่อนการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 58 รัฐบาลต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันในประชาชนในชนบทให้สามารถปกป้องทรัพยากรของตน โดยควรกระจายอำนาจการปกครองลงสู่ท้องถิ่นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเพิ่มอำนาจต่อรอง และเพิ่มโอกาสทางการศึกษา-การเข้าถึงข้อมูลแก่ชุมชน เพื่อให้ประชาชนในชนบทอยู่รอดได้
ขณะที่ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดของนโยบายประชานิยมที่ดีคือคำว่า ‘ยั่งยืน’ นโยบายประชานิยมส่วนใหญ่ของทุกรัฐบาลที่ผ่านมาให้ผลดีเพียงระยะสั้นแต่เสียหายในระยะยาว โดยรัฐบาลควรดำเนินนโยบายประชานิยมตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ คือ ต้องพัฒนาประชาชนในชนบทให้มีความพร้อมและพอมีพอกินเบื้องต้นก่อนจึงค่อยเสริมสร้างความเจริญและสถานะทางเศรษฐกิจทีหลัง
แต่นโยบายประชานิยมทุกวันนี้ คือการยัดเยียดความเจริญโดยที่ชุมชนยังไม่พร้อมและยังพึ่งพาตนเองไม่ได้ ทำให้ปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมไม่ทัน ซึ่งถือเป็นการเพิ่มช่องว่างระหว่างชนชั้นมากยิ่งขึ้น