จากเวทีโลกถึงเวทีไทย...เรื่องจริงในเงามืดของผู้หญิงมลายูชายแดนใต้
สถานการณ์ของ "ผู้หญิงมลายู" ได้รับการพูดถึงอย่างจริงจังและตรงไปตรงมาเมื่อไม่นานนี้จาก 2 เวทีระดับโลกและระดับชาติ ทั้งในแง่ของการถูกเลือกปฏิบัติ และอุปสรรคในการเข้าถึงความยุติธรรม
เวทีแรกคือเวทีที่ผู้แทนรัฐบาลไทยเข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณารายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ซึ่งนำเสนอต่อ คณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (ICERD Committee) ตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination - CERD) ซึ่งไทยเป็นภาคีสมาชิก โดยการประชุมดังกล่าวมีขึ้นที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 9-10 ส.ค.2555 สมัยประชุมที่ 81 (อ่านเพิ่มเติมการเสนอรายงานหลักและรายงานเงาได้ใน เก็บตกเวทีเจนีวา"ขจัดเลือกปฏิบัติเชื้อชาต" ไทยเจอซักหนัก"คดีโลกร้อน-รุกป่า-ไฟใต้" http://www.isranews.org/south-news/Academic-arena/45-2009-11-15-11-18-09/15806--qq-q-q.html )
หลังจบการประชุม ICERD Committee ได้จัดทำข้อสังเกตเชิงสรุปต่อรายงานของรัฐบาลไทย ซึ่งมีทั้งแง่มุมเชิงบวก และข้อกังวล รวมทั้งข้อเสนอแนะ (คัดมาเฉพาะที่เกี่ยวกับปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้) ดังนี้
หนุนจัดสรรงบเยียวยาเหยื่อไฟใต้
เริ่มจากแง่มุมเชิงบวก คณะกรรมการฯ (ICERD Committee) ยินดีกับมาตรการด้านกฎหมายและอื่นๆ ที่รัฐภาคี (ไทย) ได้ปฏิบัติ ดังนี้
(ก) การรับรองยุทธศาสตร์แก้ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองทั้งระบบ
(ข) การรับรองพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ซึ่งเปิดโอกาสให้บุคคลทุกคนที่เกิดในรัฐภาคีสามารถจดทะเบียนการเกิดได้โดยไม่คำนึงถึงความเป็นมาหรือสถานภาพของบิดามารดา
(ค) การจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าชดเชยแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ และการปฏิบัติตามแผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2552–2555
(ง) การรับรองพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551
ส่วนข้อกังวลและข้อเสนอแนะ มีหลายประเด็น ได้แก่
- ความเสี่ยงต่อการสูญหายของภาษาถิ่น
คณะกรรมการฯรับฟังด้วยความกังวลว่า ภาษาถิ่นบางภาษาในรัฐภาคีมีความเสี่ยงที่จะสูญหายไป นอกจากนั้น เมื่อพิจารณาถึงโครงการนำร่องตามที่รัฐภาคีประกาศเพื่อสอนภาษาถิ่นในโรงเรียน คณะกรรมการฯก็ยังคงกังวลว่าลูกหลานกลุ่มชาติพันธุ์มีโอกาสจำกัดที่จะได้เล่าเรียนในภาษาของตน
คณะกรรมการฯเรียกร้องให้รัฐภาคีพยายามมากขึ้นเพื่อคุ้มครองและอนุรักษ์ภาษาถิ่น และจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อส่งเสริมการสอนภาษาถิ่นในโรงเรียน
- ภาพเหมารวมและอคติในทางลบ
คณะกรรมการฯแสดงข้อกังวลต่อภาพเหมารวมและอคติในทางลบที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ และมีการเผยแพร่ผ่านทางสื่อมวลชนต่างๆ จึงเสนอแนะให้รัฐภาคีดำเนินมาตรการเพื่อขจัดภาพเหมารวมในทางลบเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ และให้สร้างจิตสำนึกในบรรดาผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อสารมวลชนให้ตระหนักถึงความรับผิดชอบของตนที่จะไม่เผยแพร่ภาพเหมารวมและอคติ และให้หลีกเลี่ยงการเสนอข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ในลักษณะที่สร้างตราบาปให้กับกลุ่มทั้งกลุ่ม
ห่วงเลือกปฏิบัติหญิงมลายู - ทบทวนการใช้ ก.ม.พิเศษ
- สถานการณ์ของผู้หญิงเชื้อสายมลายู
คณะกรรมการฯกังวลต่อรายงานที่ว่าผู้หญิงเชื้อสายมลายูกำลังเผชิญการเลือกปฏิบัติซ้ำซ้อน ทั้งในพื้นที่การเมืองและชีวิตทางสังคม จึงเสนอให้คำนึงถึงความเหลื่อมล้ำของชาติพันธุ์และศาสนาในบางสถานการณ์ พร้อมกระตุ้นรัฐภาคีให้ดำเนินมาตรการที่จำเป็น รวมทั้งมาตรการด้านกฎหมาย เพื่อประกันให้มีการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและไม่ให้ปฏิบัติอย่างแยกแยะต่อผู้หญิงเชื้อสายมลายู ทั้งนี้ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฯ
- การบังคับใช้กฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนใต้
แม้ว่ารัฐภาคีจะนำมาตรการต่างๆ มาใช้ อย่างเช่น การเผยแพร่คู่มือสิทธิมนุษยชนและการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในบางพื้นที่ คณะกรรมการฯยังกังวลอย่างยิ่งต่อการเลือกปฏิบัติอันเป็นผลมาจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งรายงานว่ามีการตรวจลักษณะทางชาติพันธุ์และจับกุมบุคคลโดยอาศัยการคัดกรองจากลักษณะทางชาติพันธุ์ (racial profiling) รวมทั้งรายงานว่ามีการซ้อมทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายซึ่งเกิดขึ้นกับคนไทยเชื้อสายมลายู
คณะกรรมการฯกังวลต่อไปถึงความเสี่ยงของการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงอันเป็นผลมาจากการบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้ รวมทั้งการขาดกลไกกำกับดูแลในการปฏิบัติ จึงขอให้ระลึกถึงข้อเสนอแนะว่าด้วยการป้องกันการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในการปกครองและการปฏิบัติหน้าที่ของระบบยุติธรรมทางอาญา คณะกรรมการฯกระตุ้นรัฐภาคีให้ใช้มาตรการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อขจัดการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลและการจับกุมโดยอาศัยการคัดกรองจากลักษณะทางชาติพันธุ์ในระหว่างการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนใต้
และคณะกรรมการฯยังเสนอแนะต่อไปว่า นอกจากการเยียวยาชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนใต้ รัฐภาคียังจะต้อง
(ก) ประเมินความจำเป็นของกฎหมายพิเศษและกำหนดให้มีกลไกอิสระที่กำกับดูแลการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง
(ข) ทบทวนกฎหมายพิเศษโดยมีเจตจำนงเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกฎบัตรที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการซ้อมทรมาน
(ค) ให้สอบสวนข้อกล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่ และให้นำตัวผู้รับผิดชอบมาลงโทษ
คณะกรรมการฯขอให้รัฐภาคีแจ้งในรายงานตามวาระฉบับต่อไปเกี่ยวกับผลกระทบของยุทธศาสตร์ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) นำมาใช้ รวมทั้งแผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2552–2555 ที่ครอบคลุมการหาแนวทางออกสำหรับความขัดแย้งในพื้นที่
สิทธิของผู้หญิงมลายู...เสรีภาพในเงามืด
เวทีที่ 2 คืองานเปิดตัวรายงานฉบับสมบูรณ์เรื่อง "การเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิง: สำรวจอุปสรรคและการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น" เมื่อวันพุธที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยงานจัดขึ้นที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ
นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ (Justice for Peace Foundation) และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรี กล่าวในงานตอนหนึ่งว่า มีอุปสรรคบางประการขัดขวางการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิง และมีอิทธิพลต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ผู้หญิงต้องเผชิญในลักษณะที่แตกต่างกัน โดยการเข้าถึงความยุติธรรมก็มีความหมายที่แตกต่างเช่นกัน โดยเฉพาะในบริบทของกลุ่มคนที่เป็นผู้มีส่วนได้เสีย
นอกจากนั้น ยังมีการกำหนดขอบเขตการมีส่วนร่วมของผู้หญิงไทยในหลายเรื่อง เนื่องจากประเทศไทยไม่ค่อยคำนึงถึงเรื่องชาติพันธุ์ สัญชาติ และสถานะทางกฎหมายของผู้หญิง โดยเฉพาะเรื่องราวของผู้หญิงมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ถูกละเมิดสิทธิหลายประการ ซึ่งบางส่วนมีปัจจัยจากสถานการณ์ในพื้นที่ที่ยังมีความซับซ้อน จนเกิดอุปสรรคระหว่างผู้หญิงกับกฎหมาย
อาทิเช่น การปฏิบัติของเจ้าพนักงานด้านการยุติธรรม, ความรุนแรงอย่างต่อเนื่องทั้งที่เกิดจากฝ่ายรัฐและกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ, การขาดความรู้ด้านกฎหมายและความยากจน เป็นต้น
"ปัญหาของผู้หญิงมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องเผชิญคือ บทบัญญัติของกฎหมายบางอย่างมีลักษณะพหุนิยม จนดูเหมือนขาดความแน่นนอนและขาดการกำกับดูแลอย่างจริงจังต่อการบังคับใช้กับผู้หญิง รวมถึงปัญหาเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับครอบครัว มรดก"
"นอกจากนั้นในบางพื้นที่ยังมีการตั้งระบบยุติธรรมชุมชนเพื่อดูแลกันเอง ซึ่งระบบนี้เป็นนโยบายของฝ่ายปกครองที่ต้องการให้นำมาใช้เพื่อป้องกันเหตุการณ์ความไม่สงบ แต่ระบบดังกล่าวได้ซ้อนกฎเกณฑ์ที่ทำให้ผู้หญิงอยู่ในสถานะยากลำบาก และไม่สามารถเข้าถึงระบบยุติธรรมได้ เช่น การออกกฎว่าผู้หญิงคนไหนไม่สวมผ้าคลุมศีรษะ (ฮิญาบ) ก็จะถูกโกนผม และหากใครใส่เสื้อแขนสั้นจะถูกขู่ตัดแขนหรือถูกเฆี่ยน ถ้าพบเด็กผู้หญิงอยู่กับผู้ชายเพียงลำพังก็จะถูกบังคับให้แต่งงานทันที เหล่านี้เป็นต้น"
เรื่องจริงของผู้หญิงชายแดนใต้
นางอังคณา กล่าวอีกว่า ผูู้หญิงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่ไม่เข้าใจเรื่องการบังคับใช้กฎหมายและการตีความของผู้นำศาสนา ทำให้หลายคนรู้สึกไม่สบายใจอย่างมากและนำไปสู่ความหวาดกลัวที่จะวิพากษ์วิจารณ์คำชี้ขาดของผู้นำศาสนาซึ่งเป็นผู้นำในระบบยุติธรรมชุมชนด้วย ทัศนะความหวาดกลัวนี้ส่งผลต่อการอ้างสิทธิและความเป็นธรรมที่จะใช้กฎหมายคุ้มครองตนเอง
และถึงแม้ปัจจุบันจะมีการจัดระบบใหม่ แต่ตัวระบบยุติธรรม (ดาโต๊ะยุติธรรม) ที่ปฏิบัติร่วมกับศาลในการวินิจฉัยและการพิจารณาคดีครอบครัวมรดก ซึ่งเปิดโอกาสให้ตีความตามหลักศาสนาอิสลามได้ หลายครั้งก็ทำให้เกิดปัญหา เพราะมักวินิจฉัยคดีโดยใช้ดุลยพินิจ ทำให้การเข้าถึงความยุติธรรมมีความไม่แน่นอน
ยกตัวอย่าง กรณีการหย่าร้างและแบ่งมรดก ถึงแม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะมีบทบัญญัติคุ้มครองสิทธิเอาไว้ แต่ผู้หญิงมุสลิมมักจดทะเบียนสมรสตามหลักกฎหมายอิสลาม ถ้าผู้หญิงต้องการจดทะเบียนหย่าก็ไม่สามารถดำเนินการได้ ขณะที่ผู้ชายสามารถเอ่ยปากขอหย่าได้ และหากมีการเอ่ยปากขอหย่าถึง 3 ครั้งก็ถือว่าเป็นการหย่าอย่างสมบูรณ์ แม้ฝ่ายหญิงจะไม่ยินยอมก็ตาม
หรือกรณีการแบ่งมรดก สาเหตุที่อิสลามให้ผู้ชายได้รับมรดกมากกว่าเนื่องจากผู้ชายมีหน้าที่ต้องเลี้ยงดูผู้หญิงซึ่งรวมถึงแม่หม้ายและลูกกำพร้า หากแต่การใช้กฎหมายอิสลามที่ขาดสภาพบังคับทำให้ผู้หญิงไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้ หรือเข้าถึงได้แต่ก็ไม่สมบูรณ์
กรณีความรุนแรงในครอบครัว แม้ผู้หญิงมุสลิมจะจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายอิสลาม แต่จริงๆ แล้วยังมีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ที่ให้ความคุ้มครองและให้การเยียวยากรณีเกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งจะทำให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงความยุติธรรมและการเยียวยาที่เหมาะสมได้ แต่คำถามคือผู้หญิงมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีโอกาสทราบข้อมูลเหล่านี้หรือไม่
"มีผู้หญิงคนหนึ่งแต่งงานกับชายเคร่งศาสนา เธอถูกซ้อมทรมานเป็นประจำ ทั้งยังถูกขู่ฆ่า แต่ผู้หญิงคนนี้ไม่กล้าเล่าให้ใครฟัง เธอบอกว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้หญิงมุสลิมจะบอกเรื่องความรุนแรงทางเพศต่อผู้นำศาสนาหรือคณะกรรมการอิสลามที่มีแต่ผู้ชายได้รับทราบ ดังนั้นเธอจึงจำเป็นต้องเสียเงินให้กับสามีเพื่อแลกกับอิสระ ซึ่งผู้หญิงในพื้นที่สามจังหวัดไม่เคยรู้เลยว่ากฎหมายไทยให้ความคุ้มครองเรื่องสิทธิเหล่านี้ เท่าที่ทราบบางพื้นที่มีผู้หญิงต้องการขอหย่าจากฝ่ายชายมากถึง 200 คน"
นางอังคณา กล่าวด้วยว่า ในสังคมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ชายสามารถจดทะเบียนสมรสซ้ำซ้อนได้ เพราะในกรณีนี้ตามหลักศาสนาอิสลาม ผู้ชายสามารถแต่งงานกับผู้หญิงได้หลายคน แต่ผู้ชายจะต้องดูแลครอบครัวทั้งหมดได้ ทว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่จริงพบว่าไม่ได้มีลักษณะเช่นนั้น และผู้หญิงก็ไม่สามารถเรียกร้องขอความเป็นธรรมกับใครได้ ส่วนใหญ่ผู้หญิงในสามจังหวัดเชื่อว่าเรื่องความรุนแรงทางเพศหรือความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องภายในครอบครัวของเธอเอง ไม่สามารถเปิดเผยให้ใครฟังได้ ถ้านำไปเล่าให้คนอื่นฟังก็มักจะถูกประณามว่าเป็นคนไม่ดี
จากข้อมูลทั้งหมดนี้ จึงอยากเสนอต่อ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ต้องดำเนินการเรื่องสวัสดิภาพทางเพศและกฎหมายที่ไม่เลือกปฏิบัติ โดยต้องจัดทำและเผยแพร่ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ พร้อมทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงต่อครอบครัวและความรุนแรงทางเพศ เพื่อให้ทุกคนตระหนักว่าความรุนแรงทางเพศเป็นความผิดอาญาที่ร้ายแรง
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ภาพปกรายงาน "การเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิง: สำรวจอุปสรรคและการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น" โดยมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ