เกษตรกรหวั่นทุนรุกทะเลรุนแรงทำประมงพื้นบ้านสูญ
อธิบดีเผยสินค้าประมงทำรายได้เข้าประเทศ 2 แสนล้าน เตรียมขยายพื้นที่อนุรักษ์คุ้มครองประมงชายฝั่ง เกษตรกรดีเด่นหวั่นประมงพื้นบ้านสูญ เปิดทางทุนครอบครองทะเล
เร็ว ๆ นี้ ที่กรมประมง บางเขน ดร.วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง กล่าวเนื่องในโอกาสวันสถาปนากรมประมงครบรอบ 86 ปีว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมาได้กำหนดแผนขับเคลื่อนเกี่ยวกับการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำและจัดหาแหล่งที่อยู่สำหรับสัตว์น้ำ โดยมีการผลิตและปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำสู่ธรรมชาติแล้ว 1,500 ล้านตัว พร้อมจัดหาปะการังเทียมทั้งหมด 15 แห่ง ส่งผลให้สัตว์น้ำเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ที่สำคัญยังดำเนินการวิจัยพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต พัฒนามาตรฐานฟาร์ม ควบคุมการใช้ยาและสารเคมี และจัดระเบียบการเลี้ยงปลาในกระชัง
อธิบดีกรมประมง กล่าวต่อว่า ปีนี้สินค้าประมงสร้างรายได้ให้ไทยกว่า 200,0000 ล้านบาท แม้จะประสบภาวะราคาสินค้าตกต่ำ โดยเฉพาะกุ้งในช่วงมี.ค. 55 แต่คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ได้ดำเนินโครงการรักษาเสถียรภาพราคากุ้งขาวแวนนาไมจนส่งผลให้ราคากุ้งขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังเตรียมความพร้อมให้แก่เกษตรกรในการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ด้วยการเร่งให้ความรู้เกี่ยวกับการปรับปรุงมาตรฐานสินค้าเกษตรตามหลักสากล และแนะนำช่องทางตลาดส่งออก อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าไทยสามารถเป็นศูนย์กลางประมงของภูมิภาคได้ เพราะมีจุดเด่นด้านเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ฟาร์มที่ได้มาตรฐาน แต่ก็หวั่นว่าต้นทุนด้านปัจจัยการผลิตและค่าแรงในประเทศสูงจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร จึงเร่งหาวิธีลดต้นทุนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ
ดร.วิมล ยังกล่าวถึงนโยบายสานต่องานรัฐบาลว่า จะเร่งจัดระเบียบการทำประมงในไทยให้สอดคล้องกับทรัพยากร ระหว่างเรืออวนลากกับประมงพื้นบ้าน โดยจะให้ความสำคัญในการขยายพื้นที่อนุรักษ์เพื่อการประมงพื้นบ้าน และดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตและดูแลทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่อความมั่นคงทางอาหารในอนาคตด้วย
ทั้งนี้ภายในงานยังมีการมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่ข้าราชการดีเด่น เกษตรกรดีเด่น และข้าราชการเกษียณอายุของกรมประมง โดยมีนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานมอบ สำหรับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาตินั้นแยกเป็นเกษตรกรดีเด่น 3 สาขา คือ 1.สาขาอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ได้แก่ นายประชิต อนุกูลประเสริฐ ต.ท่าพระ อ.เมือง จ.ขอนแก่น 2.สาขาอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย ได้แก่ นายธนา วิศวฤทธิ์ ต.ทุ่งบุหลัง อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล และ 3.สาขาอาชีพเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำ ได้แก่ นางมณฑา สร้อยแสง ต.ปากแรต อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี และสถาบันเกษตรกรดีเด่น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มเกษตรกรทำประมงหรือกลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่ กลุ่มกองทุนประมงทะเลพื้นบ้าน บ้านแหลมเทียน อ.เมือง จ.ตราด และ 2.กลุ่มเกษตรกรแปรรูปสัตว์น้ำ ได้แก่ กลุ่มแปรรูปเนื้อสัตว์บ้านท่าค้ำ ต.ริม อ.ท่าวังผ่า จ.น่าน
นายประชิต อนุกูลประเสริฐ จ.ขอนแก่น เกษตรกรผู้ได้รับรางวัลดีเด่นด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กล่าวว่า ตนทำอาชีพประมงมา 29 ปี มีชื่อฟาร์มว่า ฟาร์มปลาท่าพระ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์และอนุบาลปลาน้ำจืดต่าง ๆ เช่น ปลานิล ปลาตะเพียน ปลาดุก โดยปี 54 สามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายลูกพันธุ์ปลาน้ำจืดถึง 15 ล้านบาท นอกจากนี้ยังเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มสหกรณ์ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำขอนแก่น เพื่อหาตลาดให้ชาวประมงน้ำจืด และจัดหาตลาดกลางจำหน่ายลูกปลาน้ำจืดบริเวณสำนักงานประมงจังหวัดและวิทยากรถ่ายทอดความรู้ทุกภาคส่วนอีกด้วย
ทั้งนี้เกษตรกรดีเด่นฯ เห็นว่า ปัจจุบันทรัพยากรน้ำจืดและน้ำเค็มลดน้อยลง เนื่องจากบริษัททุนขนาดใหญ่เข้ามาครอบครองพื้นที่โดยใช้เครื่องมือทำลายธรรมชาติ ทำให้ผู้ทำประมงพื้นบ้านหลายรายเลิกอาชีพเพราะไม่มีสัตว์น้ำให้จับ อีกทั้งชาวประมงพื้นบ้านที่ร่วมธุรกิจกับบริษัททุนในรูปแบบเกษตรพันธะสัญญาล้วนประสบปัญหาขาดทุนเป็นหนี้เป็นสิน จึงวิงวอนให้ทุกคนใช้ชีวิตแบบพอเพียงจะสามารถลดปัญหาได้
ขณะที่นางณัฐพัชร์ พูลสวัสดิ์ ตัวแทนกลุ่มแปรรูปเนื้อสัตว์บ้านท่าค้ำ จ.น่าน กล่าวว่า กลุ่มจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนเมื่อปี 47 มีสมาชิกแรกเข้า 7 คน แต่ปัจจุบันมีมากถึง 30 คน โดยการนำเนื้อหมูที่ขายไม่ได้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้า เช่น กุนเชียงหมู หมูยอ ไส้กรอกเยอรมัน เมื่อเป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้บริโภคจึงต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่น เช่น ปลายอ แหนมซี่โครง กุนเชียงปลาด้วย ซึ่งสามารถสร้างกำไรให้ชุมชนปีละ 70,000 – 80,000 บาท อย่างไรก็ตามนอกจากรสชาติและรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ที่ต้องพัฒนาต่อไปแล้ว เครื่องมือการผลิตอาจต้องพัฒนาด้วยหากไทยเข้าสู่เออีซีในอนาคต.
ที่มาภาพ : http://www.marinerthai.com/sara/pmo001.jpg&imgrefur