ประมงพื้นบ้านเตรียมชง พ.ร.บ.ทรัพยากรทะเลประกบร่างฯรัฐ เพิ่มสิทธิชุมชน
ชาวเลชี้ ร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรทะเล-ประมงตัดประเด็นสิทธิชุมชน นักวิชาการเสนอแก้โครงสร้างรวบอำนาจจัดการทรัพยากร คปก.แนะเร่งล่ารายชื่อเสนอกฎหมายฉบับประชาชนประกบร่างฯรัฐ
วันที่ 21 ก.ย. 55 ที่โรงแรมทีเค พาเลซ แจ้งวัฒนะ คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ “ร่างพ.ร.บ.การประมง พ.ศ....และร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ....” โดยมีนายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมายเป็นประธานการประชุม
นายประเทศ ซอรักษ์ ผู้อำนวยการกองนิติการ กรมประมง เปิดเผยว่า เหตุที่ต้องมีการผลักดัน ร่างพ.ร.บ.การประมง พ.ศ.....เนื่องจากกฎหมายฉบับเดิม คือ พ.ร.บ.การประมง พ.ศ. 2490 ใช้บังคับมาเป็นเวลานานกว่า 60 ปี และไม่สามารถปรับเข้ากับสภาพการณ์ประมงที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน เนื่องทรัพยากรทางทะเลเทคลดลงแต่เทคโนโลยีประมงก้าวหน้าขึ้น อย่างไรก็ดีกรมประมงได้เสนอให้มีการยกร่างกฎหมายใหม่และแก้ไขมาหลายครั้งตั้งแต่ปี 2542 กระทั่งปัจจุบันร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ขณะนี้บรรจุอยู่ในวาระเร่งด่วนรอการพิจารณาโดยสภาผู้แทนราษฎรแล้ว
ทั้งนี้ร่างกฎหมายประมงของรัฐมีการแก้ไขเพื่อปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยขึ้น เช่น ให้มีกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติที่มีตำแหน่งหน้าที่ชัดเจนเพื่อแก้ปัญหาด้านต่างๆ , กำหนดเขตประมง แบ่งเป็นประมงน้ำจืด ประมงชายฝั่ง และประมงนอกชายฝั่ง เพื่อความสะดวกในการดูแลจัดการทรัพยากร, มีมาตรการส่งเสริมสุขอนามัยสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมง, การเพิ่มบทลงโทษผู้กระทำผิด เป็นต้น อย่างไรก็ดีพบว่าร่างกฎหมายดังกล่าวได้ถูกตัดสาระสำคัญด้านสิทธิและการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมออกไปในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย
ด้านตัวแทนชาวบ้าน สมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ขณะนี้ชาวบ้านไม่มีสิทธิในการปกป้องรักษาทรัพยากรทางทะเลในท้องถิ่นของตน แม้จะรู้ว่าเรือประมงพาณิชย์ของกลุ่มทุนใช้เครื่องมือที่ทำลายทรัพยากรทางทะเล เช่น ไฟปั่นปลากะตัก อวนรุน หรือคราดหอย จนสัตว์น้ำสูญพันธุ์และระบบนิเวศทางทะเลถูกทำลาย ซึ่งกฎหมายประมงฉบับเดิมและหน่วยงานรัฐไม่เคยเอาผิดนายทุนและผู้มีอิทธิพลได้ จึงต้องการให้กฎหมายประมงฉบับใหม่เพิ่มหลักการด้านสิทธิชุมชนไว้ในสาระสำคัญ โดยขณะนี้ภาคประชาชนรวมทั้งเครือข่ายประมงพื้นบ้านได้ร่วมกันยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2409 และร่างพ.ร.บ.การประมง (ฉบับ 4) พ.ศ.... ทั้งนี้อยู่ในระหว่างการล่ารายชื่อ 1 หมื่นชื่อเพื่อเสนอประกอบการพิจารณาร่างกฎหมายประมงของรัฐด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ประชุมได้เสนอให้ร่างกฎหมายประมงฉบับใหม่มีคณะกรรมการประมงจังหวัด เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาในระดับท้องถิ่นได้ตรงจุดและรวดเร็วและควรมีตัวแทนจากเครือข่ายประมงพื้นบ้านอยู่ในคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ อย่างไรก็ดีมีความกังวลว่าขั้นตอนของการพิจารณากฎหมายประมงของสภาฯจะล่าช้าเพราะมีกฎหมายด่วนอื่นที่รัฐบาลให้ความสำคัญกว่าแทรกเข้ามาสู่การพิจารณาก่อนเสมอ
นอกจากนี้ในเวทียังมีการแสดงความคิดเห็นต่อ ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ..... ทั้ง 3 ฉบับ ซึ่ง 2 ฉบับอยู่ระหว่างกระบวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของภาคประชาชน และอีก 1 ฉบับคือฉบับที่เสนอโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 55 โดยผู้แทนกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.)กล่าวว่า ร่างกฎหมายส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลฯซึ่งทช.เสนอและผ่านการตรวจโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วนั้น ได้มีการเพิ่มบทบัญญัติด้านสิทธิชุมชนไว้ อย่างไรก็ดีพบว่ายังไม่ครบถ้วนรอบด้านเนื่องจากบางข้อเสนอเกี่ยวกับสิทธิชุมชนถูกตัดออกในขั้นตอนการพิจารณาของกรรมการกฤษฏีกาเช่นกัน
ทั้งนี้ที่ประชุมมีการแสดงความเห็นว่า ร่างกฎหมายส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลฯที่เสนอโดยรัฐ ยังบกพร่องด้านการมีส่วนรวมของชุมชนในการจัดการทรัพยากรทางทะเล
ด้านตัวแทนภาคประชาชนผู้เสนอกฎหมายกล่าวว่า สำหรับร่างกฎหมายส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่เสนอโดยภาคประชาชน 2 ฉบับมีสาระที่ไม่แตกต่างกันมากนัก โดยเน้นการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เช่น การกำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัด การจดแจ้งสถานะชุมชนชายฝั่ง การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐและชุมชนในการแก้ปัญหาทรัพยากรทางทะเล เป็นต้น
ด้าน ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า โดยส่วนตัวเห็นว่าร่างกฎหมาย 3 ฉบับทั้งของรัฐและประชาชนกำหนดโครงสร้างอำนาจเชื่อมโยงกับอำนาจส่วนบนเป็นหลัก ซึ่งเกรงว่าจะไม่นำไปสู่การกระจายอำนาจอย่างแท้จริง และจะทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินงาน ทั้งนี้ควรออกแบบกฎหมายให้มีการถ่วงดุลทางอำนาจระหว่างรัฐ องค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าประเด็นซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในเวที คือ การทำหน้าที่ตรวจสอบกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยตั้งข้อสงสัยถึงสาเหตุของการตัดประเด็นส่วนใหญ่ด้านสิทธิชุมชนอันเป็นสาระสำคัญที่สุดที่พึงออก ทั้งในร่างพ.ร.บ.การประมง พ.ศ....และร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารตัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ....ที่เสนอโดยภาครัฐ
นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวเพิ่มเติมว่า คปก.จะนำความเห็นของที่ประชุมไปพิจารณาประกอบกับกฎหมายทางทรัพยากรสิ่งแวดล้อมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง และนำข้อเสนอทางกฎหมายเสนอต่อสภาฯต่อไปให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ดีมีความกังวลว่า กระบวนการพิจารณากฎหมายอาจมีความล่าช้า และประกาศใช้ไม่ทันแก้ปัญหาทรัพยากรที่ทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งนี้เห็นว่าภาคประชาชนควรร่วมมือกันร่างกฎหมายที่เป็นเอกภาพและเร่งล่ารายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายประกบร่างกฎหมายของรัฐที่ยังบกพร่องด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนให้ทันการพิจารณาของสภาฯ
ที่มาภาพ ::: http://www.rakbankerd.com/view.php?id=2207&s=3