'อดิศร์' ปัดฝ่ายค้านนอกสภา ยันยื่นศาล รธน.ตีความยุติจำนำข้าวไร้ประโยชน์แอบแฝง
นักวิชาการนิด้า บอกไม่แปลก รบ.เห็นดีเห็นงาม เดินหน้ารับจำนำข้าวรอบใหม่ แนะรอฟังศาล รธน. ชี้ขาด ระบุ 28 ก.ย.นี้ เปิดบัญชีรายชื่อนักวิชาการนิด้าครึ่งร้อยถึงมือศาล รธน.
ตามที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ออกมายืนยันว่า จะต้องเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56 ต่อไป เนื่องจากเป็นนโยบายที่รัฐบาลต้องการดูแลเรื่องราคาข้าว ยกระดับรายได้ของเกษตรกร และเป็นนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ขณะที่การตั้งราคารับจำนำข้าวของรัฐบาลนั้น ไม่ต้องการตัดราคาของภาคเอกชนแต่อย่างใด
ในเรื่องนี้ นักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นำโดย รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า ได้เตรียมล่ารายชื่อนักวิชาการในรั้วเดียวกัน เพื่อยื่นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณายุติโครงการดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าน่าจะผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 84 (1) กรณีที่รัฐเข้าไปแทรกแซงระบบกลไกตลาด และทำให้ประเทศสูญเสียงบประมาณจำนวนมาก
เช่นเดียวกับด้าน ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ได้รับการเปิดเผยจากนางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ได้ยื่นคำร้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ กรณีที่รัฐบาลมีโครงการรับจำนำข้าวเช่นกัน
ล่าสุด (21 ก.ย.) รศ.ดร.อดิศร์ กล่าวกับ “สำนักข่าวอิศรา” ถึงความคืบหน้ากรณีลงรายมือชื่อ เรียกร้องให้ยุติโครงการจำนำข้าวว่า ขณะนี้มีอาจารย์จากคณะพัฒนาเศรษฐกิจ และอาจารย์จากคณะอื่นของนิด้า ประสงค์จะลงนามแล้วประมาณ 50-60 รายจากจำนวนอาจารย์ในนิด้าทั้งหมด 180 ราย และภายในวันศุกร์ที่ 28 ก.ย.นี้ จะได้นำรายชื่อและเอกสารต่างๆ ไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาต่อไป
รศ.ดร.อดิศร์ กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นที่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณานั้น คือมาตรา 84 (1) เรื่องการที่รัฐเข้าไปแทรกแซงกลไกตลาด เป็นผู้รับซื้อข้าวรายใหญ่ และการใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งประเด็นนี้ต่างออกไปจากที่มีการนำเสนอไปแล้ว เช่น กรณีของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เคยเสนอเรื่องไปเมื่อปี 2554 และ 2555 ที่เป็นประเด็นเกี่ยวกับเรื่องการทุจริต หรือกรณี ม.ร.ว.ปรีดียาธร ที่ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการฯ เพราะมุมมองในเรื่องจุดบกพร่องของโครงการนี้ก็มีแตกต่างกันไป
เมื่อถามถึงกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกมายืนยันว่า นโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลไม่ต้องการตัดราคาของภาคเอกชน เป็นไปเพื่อยกระดับ ดูแลรายได้ให้กับเกษตรกร รศ.ดร.อดิศร์ กล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องรอให้ศาลพิจารณา การที่ต่างคนต่างความคิดที่หลากหลายไม่ใช่เรื่องแปลก ซึ่งแน่นอนในมุมรัฐบาลคงต้องบอกว่า ไม่ได้ไปทำลายระบบกลไกตลาด แต่จากพฤติกรรมที่เห็นก็คือว่า ข้าวที่อยู่ในคลัง ในโรงสีจำนวนมากไม่สามารถระบายออกได้ รัฐบาลต้องเป็นผู้ขายรายใหญ่ และแม้รัฐบาลจะออกมาระบุว่า จะมีการขายแบบจีทูจีกับต่างประเทศ แต่ก็พบว่ามีการปกปิดไม่เปิดเผยราคา หรือว่าข้อมูลว่าค้าขายกับประเทศไหน อย่างไร สิ่งเหล่านี้จึงสะท้อนถึงความไม่ค่อยชอบมาพากล สวนทางกับกลไกตลาดปกติ
ส่วนกรณีที่ถูกระบุว่าทำหน้าที่เป็นเหมือนฝ่ายค้านนอกสภา รศ.ดร.อดิศร์ กล่าวว่า ไม่เป็นไร สามารถต่อว่ากันได้ แต่ด้วยเหตุผลที่ใช้ ยืนยันว่าไม่ได้มีประเด็นเรื่องผลประโยชน์มาเกี่ยวแน่นอน เพราะเหตุผลในจดหมายที่จะไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น จะเป็นเรื่องที่คิดว่าเป็นความผิดตาม รธน. มาตรา 84 (1) การทำลายกลไกราคา เพราะสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ในขณะนี้ไม่ใช่ลักษณะของการจำนำเช่นเดียวกับในอดีต ใช้ชื่อว่า โครงการรับจำนำจริง แต่ไปเปลี่ยนสภาพโครงการนี้ โดยกำหนดราคารับซื้อของรัฐบาลที่สูงเกินกว่าราคาตลาด ซึ่งทำให้โครงการนี้ต่างไปจากเดิม
ล้อมกรอบ : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 84 รัฐบาลต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ ดังต่อไปนี้ (1) สนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรม โดยอาศัยกลไกตลาด และสนับสนุนให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยต้องยกเลิกและละเว้นการตรากฎหมายและกฎเกณฑ์ที่ควบคุมธุรกิจซึ่งมีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจ และต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงแห่งรัฐ รักษาผลประโยชน์ส่วนรวม หรือการจัดให้มีสาธารณูปโภค