สสท.ชี้ประชานิยมฉุดรั้งระบบสหกรณ์ ชงพิมพ์เขียวรื้อโครงสร้างใหม่
สสท.ชี้ประชานิยมฉุดรั้งระบบ ชงพิมพ์เขียวตั้งสภาสหกรณ์ ดันเป็นวาระชาติยกระดับ 7 พันแห่ง ช่วยเกษตรกร 10 ล้านคน
วันที่ 20 ก.ย. 55 ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีการสัมมนาในหัวข้อ “พร้อมหรือไม่ สหกรณ์กับวาระแห่งชาติ” สืบเนื่องจากการที่คณะรัฐมนตรีมีมติประกาศวาระแห่งชาติด้านสหกรณ์เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 55 และองค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ได้ประกาศให้ปี 2555 เป็นปีสหกรณ์สากล โดยผศ.รังสรรค์ ปิติปัญญา อาจารย์ภาควิชาสหกรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ รองอธิการบดีฝ่ายการเงินและทรัพย์สิน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ระบบสหกรณ์เป็นพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศภายใต้หลักการการรวมกลุ่มพึ่งพาตน โดยเชื่อว่าการผลักดันสหกรณ์เป็นวาระแห่งชาติจะเกิดผลดีมากกว่าผลเสียในแง่การพัฒนาและช่วยลดช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างชนชั้น อย่างไรก็ดีระบบสหกรณ์ทุกวันนี้ยังมีปัจจัยหลายอย่างที่เป็นปัญหาซึ่งทำให้ขบวนการไม่ก้าวหน้า เช่น การที่ผู้บริหารระดับสูงขาดความเข้าใจในกระบวนการสหกรณ์ ซึ่งทำให้เกิดความล่าช้าในการทำงาน รวมทั้งสมาชิกสหกรณ์เองและประชาชนทั่วไปด้วย หรือ การที่กรรมการสหกรณ์เน้นบริหารการเมืองภายในมากกว่าบริหารเศรษฐกิจของสหกรณ์ ฯลฯ
ทั้งนี้มีความกังวลว่าวาระแห่งชาติด้านสหกรณ์อาจขาดความต่อเนื่องในระยะยาวเมื่อมีการเปลี่ยนผู้กำหนดนโยบาย และอาจประสบปัญหาด้านความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่ต้องเข้ามาช่วยผลักดันนโยบายดังกล่าวร่วมกัน
ด้านนายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท.) กล่าวว่าความพร้อมของกระบวนการสหกรณ์เพื่อรองรับวาระชาติแล้วยังจำกัดอยู่เพียงระดับบน แต่ระดับล่าง คือ ประชาชนผู้เป็นสมาชิกสหกรณ์ยังขาดความพร้อม เนื่องจากโดยส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจถึงความสำคัญของวาระชาติด้านสหกรณ์ เพราะจับต้องได้ยากกว่านโยบายประชานิยม
โดยนโยบายประชานิยมส่วนใหญ่ เช่น การจำนำข้าว หรือ ประกันราคาพืชผล ได้ก่อให้เกิดผลเสียต่อระบบสหกรณ์ เนื่องจากเมื่อตลาดใหญ่อยู่ที่รัฐบาล เกษตรกรจึงไม่จำเป็นต้องคิดเรื่องการตลาด โดยรอพึ่งพาแต่รัฐบาล โดยไม่เข้าไปสู่แนวทางการพึ่งพาตนเองด้วยระบบสหกรณ์ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน
นอกจากนี้กระบวนการสหกรณ์ของไทยยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ควรเร่งแก้ไข กล่าวคือ โครงสร้างเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2511ซึ่งแยกสหกรณ์ออกเป็นประเภทต่างๆ ทำให้สหกรณ์แต่ละประเภททุกวันนี้ไม่รวมตัวและเอื้อประโยชน์แก่กันและกัน นอกจากนี้โครงสร้างเดิมยังให้อำนาจรัฐในการเข้ามาควบคุมดูแลระบบสหกรณ์มากเกินไป ซึ่งบิดเบือนไปจากหลักสหกรณ์สากล
“รัฐตกปลาให้สหกรณ์กินมาโดยตลอด วันไหนพอไม่ตก สหกรณ์ก็หากินเองไม่เป็น ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก และไทยกำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ดังนั้นสหกรณ์จึงต้องมีความคล่องตัวในการทำธุรกิจมากขึ้น วันนี้สหกรณ์จะลงทุนอะไรต้องถามรัฐ ทำให้การทำธุรกิจมีอุปสรรคด้านการแข่งขัน นอกจากนี้การเข้ามาควบคุมของรัฐยังทำให้ประชาชนไม่ได้เรียนรู้ระบบสหกรณ์ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนด้วยตัวเอง ทำให้สหกรณ์อ่อนแอ เติบโตแต่เชิงปริมาณไม่เติบโตเชิงคุณภาพ รัฐบาลจึงควรลดทอนอำนาจลง และกระจายอำนาจไปสู่ระบบสหกรณ์เพื่อทำให้ภาคประชาชนเข้มแข็งขึ้นและพึ่งตนเองได้แท้จริง” นายวิฑูรย์กล่าว
นายวิฑูรย์กล่าวเพิ่มเติมว่า สสท. ได้วางพิมพ์เขียวว่าด้วยเรื่องสหกรณ์รองรับวาระชาติ เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างดังที่กล่าวมา โดยเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายสหกรณ์ใหม่ และตั้งสภาสหกรณ์ขึ้น โดยอาจร่วมมือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติเพื่อเป็นปากเสียงแทนสมาชิกสหกรณ์ทั่วประเทศในการต่อรองเชิงนโยบายกับรัฐบาล นอกจากนี้ยังเสนอให้ขบวนการสหกรณ์ไทยในวาระชาติสังกัดขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ควบคุมดูแล เพื่อแก้ปัญหาด้านความร่วมมือของหน่วยต่างๆ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่ที่กระทรวงเกษตรฯอีกต่อไป ทั้งนี้สสท.ได้นำเสนอหลักการพิมพ์เขียวไปยังรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯเพื่อพิจารณาในขั้นต้นแล้ว
ด้านนายทศเทพ เทศวานิช ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการพิเศษ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่าน สหกรณ์มีอัตราการเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี โดยปัจจุบันมีจำนวนสหกรณ์ในประเทศทั้งสิ้น 7,018 แห่ง มีสมาชิกกว่า 10 ล้านคน โดยสหกรณ์ส่วนใหญ่เป็นสหกรณ์ในภาคการเกษตร (มกราคม 2555 : กรมส่งเสริมสหกรณ์) ทั้งนี้ปี 2554 สหกรณ์มีทุนการดำเนินงานทั้งสิ้น 1.54 ล้านล้านบาท มูลค่าธุรกิจ 2.06 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 19.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี)
ทั้งนี้การประกาศให้สหกรณ์เป็นสาระแห่งชาติมีการกำหนดรูปแบบและวิธีการขับเคลื่อนใน 5 ประเด็นคือ การจัดการงานชุมชนด้วยวิธีสหกรณ์ , การเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิต การตลาด การเงินของสหกรณ์ , การจัดการเรียนรู้เรื่องสหกรณ์ทั้งในและนอกระบบการศึกษา ,การปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐ และการพัฒนาปรับปรุงกฎหมาย