เครือข่ายเกษตรทางเลือก ชูป้าย “โนทริปส์พลัส” ค้านเอฟทีเอไทย-ยุโรปผูกขาดเมล็ดพันธุ์
นักวิชาการสาธารณสุขค้านลดภาษีเหล้า 90% ในการเจรจากเอฟทีเอไทย-ยุโรป ชี้ทำนักดื่มหน้าใหม่พุ่ง เครือข่ายเกษตรทางเลือกประท้วงผูกขาดเมล็ดพันธุ์ ทำลายความมั่นคงอาหาร-เกษตรกรรายย่อย
วันที่ 20 ก.ย.55 ที่กระทรวงพาณิชย์ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จัดประชุมหารือเรื่องการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป ในประเด็นสินค้าแอลกอฮอร์ และประเด็นทรัพยากรชีวภาพ โดยมีนายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ รองอธิบดีกรมเจรจาฯเป็นประธานในที่ประชุม โดยประเด็นเครื่องดื่มแอลกอฮอลนั้น นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่าการลดภาษีแอลกอฮอล์ตามข้อเรียกร้องสหภาพยุโรปก่อนหน้านี้คือลดภาษี 90% ภายใน 7 ปีนั้นจะเพิ่มจำนวนนักดื่มหน้าใหม่และกระทบความพยายามควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์
ดร.ทิพิชา โปษยนนท์ จากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่ามติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบยุทธศาสตร์การควบคุมแอลกอฮอล์ ไม่ได้ขัดขวางการเจรจาการค้า เพียงแต่ไม่ควรเจรจาการค้าในสินค้าที่ทำลายสุขภาพ เช่น เหล้าและบุหรี่
ในประเด็นทรัพยากรชีวภาพ ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกและเครือข่ายอิสระภาพทางพันธุกรรมกว่า 30 คนได้ถือป้ายประท้วงข้อความว่า “No TRIPS Plus ทริปส์พลัสเอื้อผูกขาดเมล็ดพันธุ์ ทำลายความมั่นคงทางอาหาร ทำลายเกษตรกรรายย่อย” เข้าไปในห้องประชุม พร้อมกับยื่นจดหมายเปิดผนึกซึ่ง มีสาระได้ว่า “ไม่เพียงยาราคาแพงที่ประชาชนทั้งประเทศจะต้องแบกรับ การยอมรับเงื่อนไขข้อตกลงทางการค้าว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่าข้อตกลงในองค์การการค้าโลก (TRIPs Plus) จะส่งผลให้เกิดการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบบการผลิตเกษตรกรรมและอาหารที่มั่นคงยั่งยืน เกิดการแย่งชิงทรัพยากรชีวภาพซึ่งเป็นภัยคุกคามความอยู่รอดของเกษตรกรรายย่อยจำนวนมาก”
ด้วยข้อตกลงที่ตั้งเงื่อนไขให้ประเทศคู่เจรจาต้องยอมรับระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวด เช่น ประเทศที่เข้าเป็นภาคีต้องเป็นสมาชิกสนธิสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ยู ปอพ 1991 (UPOV 1991) ซึ่งคือการคุ้มครองสิทธินักปรับปรุงพันธุ์อย่างเข้มงวด บีบบังคับให้เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ทุกครั้งที่ต้องการเพาะปลูก จะทำให้ราคาเมล็ดพันธุ์พืชสูงขึ้นไปอีก เป็นการขยายอำนาจผูกขาดของบรรษัทขนาดใหญ่ ทั้งๆขณะนี้บรรษัทยักษ์ใหญ่เกษตรในประเทศและสาขาบรรษัทข้ามชาติครอบครองธุรกิจเมล็ดพันธุ์พืชไร่และพืชผักเอาไว้แล้ว
ข้อเรียกร้องของยุโรปยังมีผลทำให้ไทยต้องเข้าเป็นสมาชิกสนธิสัญญาบูดาเปสต์ ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการจดสิทธิบัตรจุลชีพให้สะดวกรวดเร็วขึ้น บริษัทขนาดใหญ่ในประเทศอุตสาหกรรมที่มีขีดความสามารถทางเทคโนโลยีสูงกว่าจะสามารถจดสิทธิบัตรจุลชีพได้โดยง่าย เปิดโอกาสให้บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพในยุโรปเข้ามาครอบครองทรัพยากรจุลินทรีย์ในไทย ซึ่งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเคยประมาณการว่าว่าศักยภาพทางเศรษฐกิจของผลิตภัณฑ์จากจุลินทรีย์ของประเทศไทยนั้นจะมีมูลค่าสูงถึง 1.6–6 แสนล้านบาท/ปี ทั้งนี้ยังไม่นับผลกระทบด้านอื่นๆ เช่น การละเมิดสิทธิเกษตรกร ที่ต่อไปหากจะทำน้ำหมักชีวภาพอาจต้องขึ้นศาลพิสูจน์ว่าจุลินทรีย์ที่อยู่ในน้ำหมักชีวภาพนั้นไม่ใช่สิทธิบัตรของผู้ใด
ทั้งนี้เครือข่ายเกษตรกรฯ ขอคัดค้านอย่างถึงที่สุดที่จะเอาชีวิตความอยู่รอดของเกษตรกรรายย่อย ความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหารทุกระดับไปแลกกับผลประโยชน์ทางการค้าของคนไม่กี่กลุ่ม และเรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติ ครม.เกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อปี พ.ศ. 2553 โดยนำผลการรับฟังความคิดเห็นประชาชนซึ่งได้มีการจัดทำแล้ว จัดส่งไปให้ ครม. และกรอบการเจรจาจะต้องระบุชัดเจนว่าจะไม่ยอมให้มีการคุ้มครองการผูกขาด ผ่านความตกลงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่มากไปกว่าพันธกรณีในองค์กรการค้าโลก (No TRIPs Plus) .
ที่มาภาพ ::: http://bit.ly/Ul0gEc