นักวิชาการ วสท. เผย ‘ญี่ปุ่น’ ภาษีดีสุดจัดการน้ำไทย ฟันธงวิธีคิด ‘จีน’ ใช้ไม่ได้
นักวิชาการ วสท.ย้ำโครงการเสนอกรอบแนวคิดจัดการน้ำผิดแต่ต้น ชี้จีน-เกาหลี วีธีคิดใช้กับไทยไม่ได้ ด้านกลุ่มบริษัทไม่ผ่านคัดเลือก เล็งตบเท้าเข้าทำเนียบ เรียกร้องความเป็นธรรมพรุ่งนี้
วันที่ 20 กันยายน ภายหลังที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) สำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดชี้แจงรายชื่อบริษัทที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น (PQ) ซึ่งจะมีโอกาสเสนอโครงการเสนอกรอบความคิด (Conceptual Plan) เพื่อออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ โดยผู้ที่ผ่านมีทั้งแบบ Joint Venture และ Consotium จากทั้งหมด 34 บริษัท มี 7 บริษัท (52 บริษัทย่อย) ได้แก่
1.บริษัท วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (เค-วอเตอร์) ประเทศเกาหลีใต้ (ประเภทยื่นเดี่ยว)
2. ITD - POWERCHINA JV (Joint Venture Thai-China) ที่นำโดย บริษัทอิตาเลี่ยนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
3.กิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที (Joint Venture, Thai)
4.กิจการร่วมค้า ทีมไทยแลนด์ (Joint Venture, Thai) ที่นำโดย บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) (ประเภท Joint Venture)
5.China CAMC Engineering Co.LTD. (จีน) (ประเภทยื่นเดี่ยว)
6.กิจการร่วมค้า ญี่ปุ่น-ไทย (Joint Venture Thai-Japan)
7. Consotium TKC Global (Joint Venture Thai-Korea)
รศ.ดร.สุวัฒนา จิตตลดากร ประธานอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วิศวกรรมสถานแห่งชาติ (วสท.) กล่าวกับศูนย์ข่าวสารนโยบายสาธารณะ สำนักข่าวอิศรา ถึงผลการพิจารณาคุณสมบัติดังกล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับขั้นตอนการดำเนินงานในโครงการออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทยมาตั้งแต่ต้น ด้วยเพราะยังไม่ถึงขั้นตอนในการหาผู้รับเหมา และวันนี้เห็นได้ชัดว่า รายชื่อบริษัทที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติต่างเป็นผู้รับเหมารายใหญ่ทั้งนั้น
"เมื่อข้อร้องเรียนที่เคยทักท้วงไว้ไม่เป็นผล และ กบอ.ยังคงยืนยันที่จะเดินหน้าต่อก็เชื่อว่า ท้ายที่สุดก็ต้องอาศัยนักวิชาการไทยและบริษัทไทย คงต้องจ้างบริษัทไทยเป็นบริษัทลูก อาจเป็นลักษณะ sub connectors ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เห็นด้วย อย่างบริษัทจีนที่ยื่นเดี่ยวและผ่านการคัดเลือกก็คงต้องมีคำถามต่อมาว่า เขารู้จักพื้นที่ ทรัพยากรน้ำและ ทรัพยากรธรรมชาติของไทยหรือไม่"
รศ.ดร.สุวัฒนา กล่าวอีกว่า หากจะเป็นบริษัทต่างชาติก็ต้องมีเหตุผลที่พอฟังขึ้น เช่น เป็นบริษัทต่างชาติที่มาพร้อมเงินกู้ซอฟต์โลน แต่หากเราจะใช้เงินงบประมาณของประเทศไทยเองก็ไม่เห็นด้วยเด็ดขาดที่จะต้องใช้บริษัทต่างชาติ
"ภาพที่ออกมาในวันนี้ค่อนข้างตรงประเด็นที่ทาง วสท.เคยออกมาทักท้วงไว้ ซึ่งไม่อยากจะใช้คำว่า เอื้อต่างชาติ เดี๋ยวจะหาว่าค้านอย่างเดียว แต่ก็ต้องยอมรับว่าค่อนข้างหนักใจ แม้จะยังดูดีที่มีกิจการร่วมค้า ทีมไทยแลนด์ (Joint Venture, Thai) ที่นำโดย บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ด้วยนั้น แต่ก็ยังไม่เห็นด้วยกับกระบวนการแต่แรก แต่เมื่อทักท้วงว่าเริ่มต้นผิดขั้นตอนแล้วไม่ฟัง ก็จะต้องตรวจสอบต่อไปว่าในขั้นตอนต่อไปจะมีอะไรผิดพลาดอีกหรือไม่"
รศ.ดร.สุวัฒนา กล่าวต่อว่า ในมุมของนักวิชาการค่อนข้างเป็นห่วงว่า การดำเนินการต่างๆ จะไม่เป็นไปตามพื้นฐานทรัพยากรในประเทศ เพราะต่างชาติไม่มีวันเข้าใจทรัพยากรในบ้านเรา เขาต้องคิดในมุมเขา ยิ่งเมื่อเอาบริษัทรับเหมาก่อสร้างมาเริ่มทำ ทุกที่ก็ต้องเสนอมาตรการที่ใช้สิ่งก่อสร้าง ทั้งที่เรื่องการจัดการน้ำไม่จำเป็นต้องใช้สิ่งก่อสร้างทั้งหมด และหากจะใช้ก็ต้องมีการวิเคราะห์อย่างดี
"แม้ประเทศในโซนเอเชียจะผ่านการพิจารณามากว่าประเทศทางยุโรป แต่ในทางวิชาการประเทศไทยก็ยึดหลักตามยุโรปมาเป็นส่วนมาก ระหว่างยุโรปกับเอเชียก็ยังตอบได้ยากว่า ใครเหมาะสมกว่ากัน แต่คงไม่มีประเทศไหนก็เหมาะสมเท่าประเทศไทย
อย่างกรณีประเทศจีน ไม่น่าจะเข้าใจประเทศไทยในหลายๆ บริบท เช่น ระบบการเมืองที่ต่างกัน เขาจะทำอะไรก็ใช้วิธีสั่งได้ คิดอะไรก็ทำได้ ซึ่งเป็นสิ่งอันตรายต่อไทย ซึ่งมีกฎหมายคลุมอยู่มาก ฟันธงได้เลยว่า วิธีคิดของนักวิชาการจีนใช้ไม่ได้สำหรับเมืองไทย
เช่นเดียวกับ ประเทศเกาหลี ที่ไม่เคยทำงานร่วมกับไทยในด้านนี้
ส่วนประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเคยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับไทยในอดีต ด้วยเพราะเคยให้เงินกู้กับไทยในการพัฒนาโครงการทรัพยากรน้ำ และเอกสารหลายๆ อย่างก็อ้างอิงมาจากไจก้า จึงอาจจะมีความเข้าใจไทยมากกว่าประเทศอื่นๆ"
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ภายหลังที่ กบอ.ได้เปิดให้ 27 บริษัทที่ไม่ผ่านการคัดเลือกคุณสมบัติเข้าชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมและสอบถามคณะอนุกรรมการพิจารณาคุณสมบัติไปเมื่อช่วงบ่าย ณ ห้องประชุม 301 อาคารตึกแดง 1 ทำเนียบรัฐบาล แล้วนั้น มีกลุ่มบริษัทบางส่วน ได้ชี้แจงว่า ในวันที่ 21 กันยายน 2555 จะรวมตัวกันที่ชั้นล่าง อาคารตึกแดง 1 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อแถลงข่าวเรียกร้องความไม่เป็นธรรมในการพิจารณาคุณสมบัติรอบแรก โดยขอร้องเรียนให้ประธานคณะกรรมการคัดเลือกมาชี้แจงที่นี่ด้วย