ผู้นำศาสนาอาเซียนชู 5 คุณค่าร่วมยึดมั่น เน้นสมานฉันท์-เคารพแตกต่าง
การสัมมนานานาชาติเรื่อง "ศาสนากับกระบวนการสร้างสันติภาพในภูมิภาคอาเซียน" ปิดฉากลงแล้วที่ จ.ปัตตานี โดยผู้นำศาสนาทุกศาสนาในอาเซียนและผู้แทนจากสภาศาสนสัมพันธ์ชู 5 คุณค่าที่จะร่วมกันยึดมั่น โดยเฉพาะการอยู่ร่วมกันของผู้คนต่างเชื้อชาติ ศาสนา และการคุ้มครองสิทธิของชนกลุ่มน้อย
วันพุธที่ 19 ก.ย.2555 ที่หอประชุมวันมูหะมัดนอร์ มะทา มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ตั้งอยู่บ้านโสร่ง ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี สันนิบาตโลกมุสลิม (Muslim World League ; MWL) ร่วมกับสภาศาสนสัมพันธ์แห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา และ ศอ.บต.จัดการสัมมนานานาชาติเรื่อง "ศาสนากับกระบวนการสร้างสันติภาพในภูมิภาคอาเซียน" ซึ่งเป็นการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ได้สัมมนาในหัวข้อเดียวกันนี้มาแล้วที่กรุงเทพฯ
ทั้งนี้มี นายอับดุลเลาะห์ บิน อับดุลมุหชิน อัล ตุรกี เลขาธิการสันติบาตโลกมุสลิม (Secretary-General of the Muslim World League) ผู้แทนสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกิยา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ประธานร่วมศาสนาเพื่อสันติภาพ/สภาศาสนาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย และผู้นำศาสนาในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ตลอดจนกรรมการสภาศาสนาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย และนักวิชาการด้านสันติวิธีเข้าร่วมกว่า 200 คน
หัวข้อหลักที่ได้แลกเปลี่ยนความเห็นกันคือแนวทางการใช้ศาสนาในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี โดยมีการยกตัวอย่างบทเรียนการแก้ไขปัญหาของชาติต่างๆ ในอาเซียนด้วย
ห่วงปัญหากดขี่ชนกลุ่มน้อย
โอกาสนี้ เลขาธิการสันนิบาตโลกมุสลิม กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อปัญหาที่เกิดกับมุสลิม ทั้งในประเทศเมียนมาร์ (พม่า) ได้แก่การกดขี่ทารุณอย่างโหดร้ายต่อชนกลุ่มน้อยมุสลิม (โรฮิงญา) และการสร้างภาพยนตร์ดูหมิ่นอิสลาม
"สิ่งที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะภาพยนตร์หมิ่นอิสลามนั้น เป็นสิทธิของชาวมุสลิมที่จะปกป้องอิสลาม สิทธิที่จะปฏิบัติศาสนกิจตามวิถีวัฒนธรรม หลังจากการประชุมครั้งนี้เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับพี่น้องมุสลิม"
5 คุณค่าทุกศาสนาร่วมยึดถือ
ด้าน นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ผลักดันให้เกิดสภาศาสนสัมพันธ์แห่งประเทศไทย แถลงสรุปการสัมมนาว่า จะยึดมั่นคุณค่าสากลดังต่อไปนี้ คือ
1.ความเป็นหนึ่งเดียวของมวลมนุษยชาติและความเสมอภาคของทุกคนในอันที่จะมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าผู้นั้นจะมีเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ศาสนา และวัฒนธรรมใด
2.การอยู่ร่วมกันของชนชาติต่างเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมอย่างสันติและสมานฉันท์ ซึ่งต้องมีการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิของชนกลุ่มน้อย รวมถึงสิทธิการมีสัญชาติของทุกคน
3.บทบาทของศาสนาในอันที่จะเกลาความประพฤติของมนุษย์เพื่อนำทางชีวิต อนุรักษ์และปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้อง ตลอดจนปฏิเสธการก่อการร้ายและความรุนแรง
4.ส่งเสริมการสานเสวนาในฐานะที่เป็นวิธีการอันทรงประสิทธิภาพที่จะส่งเสริมความเข้าใจและความร่วมมือกัน อีกทั้งเป็นวิธีการที่ไม่รุนแรงในการคลี่คลายปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างภาคส่วนต่างๆ ของสังคม
5.อารยธรรมในฐานะที่เป็นมรดกร่วมของมวลชนทั้งหลาย สมาชิกของอารยธรรมที่ต่างกันพึงร่วมมือกันเพื่อดำรงรักษาและพัฒนาผลสัมฤทธิ์ของอารยธรรมมนุษย์สืบไป
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : บรรยากาศการสัมมนาที่มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ต่างศาสนิกร่วมหารือกันอย่างสมานฉันท์ (ภาพโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ)