‘พงษ์สวัสดิ์’ เผย 5 ยุทธศาสตร์พาอาเซียน นำไทยสู่ครัวโลก
เวทีตีแตกผุดอาหารไทย หวั่นอุปสรรคค่าแรง รมว.อุตฯ เผย 5 ยุทธศาสตร์อาเซียนดันไทยครัวโลก ‘โอฬาร’ ชี้ไทยยังนำเวียดนาม-พม่า-กัมพูชา ตลท. ชวนเอสเอ็มอีเกษตร-อาหารจดทะเบียนบ.มหาชน
วันที่ 19 ก.ย. 55 สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดเสวนา ‘ตีแตก...จุดอ่อนอุตสาหกรรมอาหารไทยในตลาดเออีซี’ ณ อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ยุทธศาสตร์ภาครัฐเพื่อผลักดันอุตสาหกรรมอาหารไทยก้าวสู่ผู้นำอาเซียน ใจความตอนหนึ่งว่า ไทยได้วางยุทธศาสตร์ 5 ด้าน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทย ประกอบด้วย 1.ไทยจะเป็นประเทศที่นักลงทุนต่างชาติเข้ามาตั้งฐานการผลิตอาหารแปรรูปโดยใช้วัตถุดิบไทย 2.มีแหล่งวิจัยและพัฒนาอาหารให้หลากหลายและรองรับความต้องการของผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม 3.มีการควบคุมมาตรฐานสินค้าทั้งในประเทศและส่งออกเป็นมาตรฐานเดียว เทียบเท่าสากล 4.มีระบบตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของอาหารทั้งระบบ และ5.มีตราสัญลักษณ์รับรองอาหารปลอดภัยเป็นที่ยอมรับ
นอกจากนี้ต้องพัฒนาระบบการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องควบคุมคุณภาพสร้างมูลค่าเพิ่มและเพิ่มช่องทางการตลาด และวางแผนทั้งระยะสั้น-กลาง-ยาว โดยผลักดันให้มีการกำหนดให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าแปรรูป ศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารครบวงจรในเอเชีย รวมถึงดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน เพื่อให้ไทยก้าวสู่เมืองอุตสาหกรรมอาหารที่มีระบบการผลิตยั่งยืนในปี 93
ด้านนายโอฬาร ไชยประวัติ ประธานผู้แทนการค้าไทย กล่าวถึงวิกฤตและโอกาสของอุตสาหกรรมอาหารไทยภายใต้เออีซีว่า ไทยมีผลผลิตอาหารมากกว่าการบริโภคในประเทศและส่งออกยาง ข้าว มันสำปะหลัง มากที่สุดในโลก โดยมีอ้อยและไก่ตามมาเป็นอันดับต้น แม้อนาคตเวียดนาม พม่า และกัมพูชา จะมีศักยภาพในการเพิ่มผลผลิต แต่ไม่ถึงกับล้นตลาด ฉะนั้นไทยยังคงได้เปรียบอยู่
ส่วนบทบาทของไทยในฐานะผู้นำการผลิตอาหารโลกจำเป็นต้องมีการกักตุนอาหารให้เพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศและช่วยเหลือนานาชาติยามวิกฤต ดังนั้นไทยต้องเข้าไปลงทุนและสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการปลูกพืชเกษตร ปศุสัตว์ ประมง ในประเทศเพื่อนบ้าน และนำมาเพิ่มมูลค่าสินค้าให้สูงขึ้นในไทย อีกทั้งต้องเป็นตลาดกลางสินค้าโภคภัณฑ์ คือ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย และยางของโลก เพื่อลดความเสี่ยงราคาสินค้าผันผวน
นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการตลท. กล่าวเชิญชวนผู้ประกอบการอาหารขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ของไทยเข้าระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนระยะยาว และส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีในด้านการบริหารจัดการที่ได้มาตรฐาน และกลายเป็นที่ยอมรับระดับคู่ค้านานาชาติ ทั้งนี้ได้เปิดเผยข้อมูลปัจจุบันมีอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารระดมทุนผ่านตลท. และตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอรวม 42 บริษัท มีมูลค่าตลาดรวม 7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% จากปี 54 โดยผลประกอบการครึ่งปีแรก 55 มีกำไรสุทธิ 2.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 40% ของช่วงเดียวกันปีก่อน
ขณะที่นายวิศิษฎ์ ลิ้มประนะ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แสดงความกังวลเมื่อไทยต้องเข้าสู่เออีซีว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้านผลิตอาหารยังขาดทักษะการเจรจาต่อรองการค้าที่ดี และหวั่นบริษัทต่างชาติจะเข้ามาแย่งฐานการผลิตของไทยได้
นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด กล่าวว่า นอกจากไทยจะสร้างฐานการผลิตวัตถุดิบในประเทศแล้ว อนาคตต้องสร้างฐานแปรรูปเพิ่มมูลค่าในประเทศด้วย พร้อมส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสร้างมาตรฐานสินค้าไทยเทียบเท่าสากล ซึ่งภาระคงตกอยู่หน่วยงานภาครัฐที่ต้องรับหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรมอาหาร
นายณฤทธิ์ เจียอาภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเฟรชอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) เรียกร้องให้รัฐบาลสร้างระบบโลจิสติกส์ที่ได้มาตรฐานและเพียงพอ เพื่อการเติบโตทางอุตสาหกรรมอาหารอนาคต พร้อมตัดพ้อถึงนโยบายเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทว่าสร้างความเดือดร้อนต่อเจ้าของธุรกิจ เพราะทำให้แรงงานลาออกไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับค่าแรงมากกว่า เช่น บริษัทตนเป็นผู้ผลิตกุ้งอยู่ในจ.ชุมพร ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย 241 บาท/วัน หากแต่ไม่มีแรงงานคนใดยินยอม สุดท้ายต้องประสบภาวะขาดแคลนแรงงานกดดันให้ต้องเพิ่มค่าแรงเป็น 320 บาท/วันในปัจจุบัน.
ที่มาภาพ :http://www.thaibizchina.com