ปธ.วุฒิฯ แฉคอร์รัปชั่นฉาวโฉ่ กินเปอร์เซ็นต์ ไม่เว้นงบฯ แผ่นดิน
"นิคม" แฉ! ทุจริตงบประมาณแผ่นดิน ยื่นหมูยื่นแมว-หักส่วนแบ่งก่อนเซ็นอนุมัติ ลั่นเสียดายจี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบด่วน
วันที่ 19 กันยายน นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา กล่าวปาฐกถาพิเศษ “มาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่พึงถือปฏิบัติ” ในงานสัมมนาเรื่องวิถีจริยธรรมทางการเมืองควรเป็นอย่างไร จัดโดยสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) วุฒิสภา และสภาพัฒนาการเมือง (สพม.) ที่โรงแรมเซ็นทราฯ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะฯ ตอนหนึ่งว่า เรื่องคุณธรรมจริยธรรมนั้นเป็นเรื่องยากที่จะระบุได้ว่ารูปแบบใดถูกต้อง เพราะรัฐธรรมนูญของไทยฉบับปัจจุบันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวในโลก ที่กำหนดให้แต่ละองค์กรมีประมวลจริยธรรมเป็นของตนเอง ซึ่งในความเห็นของตนนั้นมองว่า น่าจะต้องมีตัวบ่งชี้ความมีจริยธรรมคุณธรรมของนักการเมือง ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) รวมถึงข้าราชการการเมืองที่เป็นมาตรฐานร่วมกัน เช่นเดียวกับในกรณีของประเทศอังกฤษ หรือสหรัฐอเมริกา ที่แม้จะไม่ได้กำหนดเรื่องเหล่านี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ได้กำหนดจริยธรรมคุณธรรมไว้เป็นมาตรฐานเดียวกัน อาทิ ต้องมีความเสียสละ ไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนตัว ซื่อสัตย์ซื่อตรง มีคุณธรรม กติกาประจำใจ มีความโปร่งใส เปิดเผย เป็นต้น
ขณะที่การดำเนินการกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ขาดจริยธรรมคุณธรรมนั้น นายนิคม กล่าวว่า การใช้อำนาจของผู้ตรวจการฯ ยังน้อยเกินไป ไม่สะใจ เช่น กรณีที่ ส.ส.ขวางปาแฟ้ม ลากเก้าอี้ประธานวุฒิสภา เป็นการละเมิดอำนาจของประธานวุฒิสภา และเป็นความผิดที่เด่นชัด ผู้ตรวจการฯ น่าจะสามารถดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งได้
ส่วนการถอดถอน ส.ส.นั้น ประธานวุฒิฯ กล่าวว่า ก็กำหนดให้มีสัดส่วนที่สูงเกินไป ต้องได้เสียง 3 ใน 5 โดยให้เหตุผลว่า กลัวจะมีการกลั่นแกล้งเกิดขึ้น ทำให้แม้ว่า ป.ป.ช.จะสอบมาแทนตาย แต่ก็ไม่สามารถถอดถอนใครได้ ผลคือการป้องปรามไม่เกิดขึ้น ทั้งที่แนวทางดังกล่าวย่อมดีกว่าการรักษาโรคแน่นอน
“ผมเห็นว่า ป.ป.ช. ต้องมีอาวุธที่ใช้ในการป้องปราม นั่นคือกระบวนการถอดถอนที่ง่ายมากขึ้น โดยสัดส่วนการถอดถอนควรลดลงเหลือเพียงกึ่งหนึ่งเท่านั้น และถ้าจะมีการแก้รัฐธรรมนูญก็ควรแก้ในเรื่องนี้ด้วย เพื่อให้กระบวนการป้องปรามบรรลุผล อีกทั้งยังเป็นการคัด กันคนไม่ดีออกจากสังคม”
นายนิคม กล่าวอีกว่า หากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยส่วนตัวเห็นว่า ควรกำหนดให้ ส.ส.ที่ทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ แยกจากฝ่ายบริหาร หรือทำหน้าที่ในฝ่ายอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้สภาฯ สงบขึ้น ไม่ต้องพูดกันแต่เรื่องการเมืองเช่นทุกวันนี้ ขณะเดียวกันอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบในเรื่องอนุมัติงบประมาณแผ่นดินด้วย เพราะปัจจุบันพบว่าในการตั้งงบประมาณแผ่นดินในโครงการต่างๆ นั้นจะต้องมีการจ่ายส่วนแบ่ง แบ่งเปอร์เซ็นต์กันชัดเจนถึงจะมีการอนุมัติงบฯ เกิดขึ้นได้ ซึ่งตนอยากให้มีการตรวจสอบ เพราะรู้สึกเสียดายงบประมาณภาครัฐอย่างมาก
ตัวตนส.ส. เงาสะท้อนปชช.แต่ละจังหวัด
จากนั้นมีการเสวนาเรื่อง “วิถีจริยธรรมทางการเมืองควรเป็นอย่างไร” โดยนายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานวุฒิสภา นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ กรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และผู้อำนวยการสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย และนายจาดุร อภิชาตบุตร กรรมการบริหารสมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทย
นายอุทัย กล่าวว่า ก่อนที่จะพูดถึงวิถีจริยธรรมทางการเมืองว่า ควรเป็นอย่างไรนั้น สิ่งที่จะต้องทำความรู้จัก ทำความเข้าใจเสียก่อนคือตัวตนของผู้แทนฯ ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนว่า ทำไมมนุษย์พันธุ์พิเศษประเภทนี้ถึงชอบทำตัวกร่าง มีอภิสิทธิ์ ไม่ให้ความเคารพประธานขวางปาแฟ้ม หรือพูดจาโง่ๆ ขณะที่อยู่ในสภาฯ นั่นเป็นเพราะ ส.ส.ที่จะเข้ามาอภิปรายในสภานั้นต้องมาแบบคนสองร่าง ยามปกติเป็นคนดี แต่เข้าสภาต้องเป็นร่างทรงของประชาชน พูดให้ถูกใจประชาชน เพราะฉะนั้น ส.ส. จะดีหรือไม่อย่าไรนั้น ก็เป็นเงาสะท้อนของประชาชนในแต่ละจังหวัด เปรียบได้กับแม่ปูเดินตามลูกปู ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น ดังนั้นสะท้อนได้ว่าปัญหาทั้งหมดนี้มาจากสภาพสังคมที่ล้มเหลว ยอมรับคนโกง หากตนได้รับประโยชน์
“สิ่งเหล่านี้ต้องได้รับการแก้ไข โดยต้องสร้างคนรุ่นใหม่ อายุตั้งแต่ 5 ขึ้นไปแต่ไม่เกิน 15 ปีมาปลูกฝังจริยธรรม ทุ่มงบเข้าไป เอาวิทยากรพิเศษมาอบรมคนเหล่านี้ ผมเชื่อว่าไม่เกิน 5-10 ปีก็จะเริ่มเห็นผล สังคมก็จะมีคนรุ่นใหม่เข้ามาแทนที่คนรุ่นเก่าที่ไม่ดี ไม่ใช่ไปแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อเอาผิดนักการเมือง จนรัฐธรรมนูญกลายเป็นกฎหมายอาญานักการเมืองไปแล้ว เพราะถ้านักการเมือง คือเงาสะท้อนของประชาชน ต่อให้รัฐธรรมนูญหนาท่วมหัวก็ทำอะไรไม่ได้”
ชี้กลไกนอกวิถีจริยธรรมรุนแรงมาก
ด้านนายจาดุร กล่าวว่าจริยธรรมเป็นเรื่องที่มีความสำคัญทุกระดับ ทั้งวิถีการได้มาซึ่งอำนาจ ตำแหน่ง รวมถึงการตรวจสอบ ซึ่งในเรื่องนี้โครงสร้างของรัฐได้มีการแบ่งแยกอำนาจและการถ่วงดุลอำนาจไว้อย่างชัดเจน แต่ปัจจุบันกลับพบว่า มีคนนอกประเทศ มีผลต่อการสั่งการและการปฏิบัติในการบริหารราชการแผ่นดิน มีก้าวก่าย แทรกแซง โยกย้ายข้าราชการในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ รวมไปถึงบอร์ดคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจต่างๆ ขณะที่การเลือกตั้งต้องแลกมาด้วยค่าตอบแทน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า กลไกที่อยู่นอกวิถีจริยธรรมมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย และเมื่อประชาชนเห็นภาพเช่นนี้ซ้ำซากก็เชื่อว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะได้ทั้งเงิน การเชิดชู
“ในฐานะข้าราชการ ผมเห็นว่ากรอบจริยธรรมเป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติตาม ควรอยู่ในกรอบ ใครที่ออกนอกเส้นทางนี้ต้องถูกมองว่าน่าอดสู น่าละอาย ไม่ใช่ถูกมองว่าเป็นคนเก่ง มีเกียรติมีศักดิ์ศรี หรือเก่ง ขณะเดียวกันเมื่อข้าราชการมีข้อมูลที่บ่งชี้ว่าผู้บังคับบัญชากระทำความผิด ต้องร่วมกันสกัดขัดขวาง นำข้อมูลออกมาเปิดโปง ซึ่งจะช่วยได้อีกช่องทางหนึ่ง ขณะที่ในแง่กฎหมาย หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องเข้ามาดูแล ให้ความคุ้มครองคนเหล่านี้ด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้ว้าเหว่”
สื่อสะท้อนประมวลจริยธรรมลอกต่อๆกันมา
ส่วนนายประสงค์ กล่าวว่า ในภาพรวมดูเหมือนกับว่าข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐถูกบังคับโดยรัฐธรรมนูญให้จัดทำประมวลจริยธรรม ซึ่งจริยธรรมดังกล่าวก็พบว่า 80% ลอกต่อๆ กันมา และบางส่วนก็ลอกจากตัวบทกฎหมายมาใส่ไว้ในประมวลจริยธรรมดังกล่าว แต่เมื่อไม่ได้มาจากความรู้สึกผิดชอบ จากใจ จริยธรรมจึงดูลอยออกไปจากความจริง โดยเฉพาะเมื่อการกระทำหลายอย่างในขณะนี้ พบว่าตรงข้ามกับจริยธรรม เช่น ในจริยธรรมห้ามข้าราชการการเมืองที่อยู่ในฝ่ายบริหาร คบหากับผู้ที่ผิดกฎหมาย หรือศาลตัดสินพิพากษา แต่ในสภาพความเป็นจริงที่เห็นกลับตรงกันข้าม
ส่วนผู้ที่จะมาชี้ขาดว่าผู้นั้นขาดจริยธรรมคุณธรรมได้นั้น นายประสงค์ กล่าวว่า การมีองค์อิสระทำหน้าที่ก็เป็นเรื่องที่ดี ที่ช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่กลไกสำคัญที่สุดคือ ภาคสังคม ที่ต้องช่วยกันกดดัน ตรวจสอบ ซึ่งช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้ก็คือ การที่ทุกหน่วยงานจัดทำข้อมูลอย่างเป็นระบบ ง่ายต่อการเข้าถึง เช่น ป.ป.ช. ตัดสินคดีเกี่ยวกับนักการเมืองท้องถิ่นไปจำนวนมาก ก็จัดทำตัวเลขยอดรวมผู้กระทำความผิดออกมาให้ชัดเจน ค้นหาได้ง่าย หรือเช่นกรมบัญชีกลาง บริษัท ก.ประมูลได้งานอะไรบ้าง คลิ๊กทีเดียวรู้หมด ประชาชนก็จะเข้ามาร่วมตรวจสอบได้มากขึ้น แต่ปัญหาคือ ระบบเหล่านี้ยังไม่เคยถูกสร้างขึ้นมาในสังคมไทย