นักกฎหมายอิสระ แนะมหาวิทยาลัย เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่กล้าทำสิ่งที่อยากทำ กล้าวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนสังคมไทยควรลดความ “หมั่นไส้” ต่อคนกล้าทำสิ่งใหม่ ๆ
เมื่อวันที่ 18 กันยายน Siam Intelligence Unit (SIU) ในนามโครงการพัฒนาเครือข่ายผู้นำรุ่นใหม่อย่างมีส่วนร่วม ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันจัดงานสัมมนาประจำปีครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ “คนรุ่นใหม่กับการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงประเทศ” ขึ้นที่ศศนิเวศ จุฬาฯ โดยมี Change Agents มาเป็นวิทยากร
นายปราบ เลาหะโรจนพันธ์ ตัวแทนกลุ่มธรรมศาสตร์เพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงคนรุ่นใหม่ที่คิดจะเปลี่ยนแปลงสังคมต้องพบอุปสรรคสำคัญคือ 1. รัฐหรือสังคมมีพื้นที่ให้กับนักศึกษาและเยาวชนมีส่วนร่วมในประเด็นต่าง ๆ น้อยเกินไป เช่น การสร้างเขื่อน รัฐไม่เคยดึงเยาวชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณาหรือตัดสินใจ เพราะว่า เยาวชนคือผู้ที่จะต้องอยู่กับเขื่อนที่ผู้ใหญ่สร้างไว้นานกว่าตัวคนสร้างเอง เยาวชนต้องการพื้นที่มากกว่านี้ แต่ดูเหมือนสังคมจะมีพื้นที่ให้ก็ต่อเมื่อเยาวชนดังแล้วเท่านั้น กลายเป็นวัฒนธรรมเชิดชูคนดัง พอดังแล้วก็บอกว่าอย่าเด่น พื้นที่แบบนี้จึงเป็นพื้นที่ที่เยาวชนถูกกดไว้ตั้งแต่ต้น
“2. ปัญหาเสรีภาพในการแสดงออกหรือการพูด ยังเป็นปัญหาใหญ่ เรื่องบางอย่างนักศึกษาอาจพูดในมหาวิทยาลัยได้ แต่พอไปพูดข้างนอกก็เสี่ยงต่ออันตรายต่าง ๆ ที่จะเกิดกับตัวเอง เมื่อนักศึกษาเห็นปัญหาใดก็ตาม แต่ไม่สามารถพูดได้ เพราะมีกฎหมายหรือวัฒนธรรมบางอย่างทำให้ไม่กล้าพูด ก็ส่งผลให้ไม่กล้าพูดถึงปัญหาอื่นที่เกี่ยวเนื่องกันเป็นลำดับต่อไป” นายปราบ กล่าว และว่า เสน่ห์ของนักศึกษาคนรุ่นใหม่ คือ การที่นักศึกษาเป็นนักเคลื่อนไหวที่มีต้นทุนต่ำที่สุด ไม่ต้องกังวลเรื่องรายได้และความมั่นคงของชีวิต ทำให้มีพลังในการเคลื่อนไหวมาก
สำหรับกลไกการดึงคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคมในด้านต่าง ๆ นั้น ตัวแทนกลุ่มธรรมศาสตร์เพื่อประชาธิปไตยกล่าวว่า ควรใช้กลไกเดิมที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น กลไกการเลือกตั้ง ระบบผู้แทนยังคงเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญเสมอ และมีโอกาสอีกมากที่คนรุ่นใหม่จะเข้ามาทำอะไรได้มากขึ้น
“ในอนาคตคนรุ่นใหม่อาจคิดไปถึงขั้นการเข้าไปเป็นผู้แทนของประชาชนในรัฐสภา โดยการใช้ฐานเสียงสนับสนุนจากนักศึกษาในระบบที่มีสิทธิเลือกตั้งนับล้านคน และที่ยังไม่มีสิทธิเลือกตั้ง แต่มีอิทธิพลต่อคนในครอบครัวให้เลือกคนรุ่นใหม่เป็นผู้แทน ที่อาจมีพันธกิจเฉพาะเจาะจงว่าจะปฏิรูปการศึกษาให้เปลี่ยนไปจากกรอบเดิม ๆ ซึ่งกลไกการเลือกตั้งนี้มันมีความเป็นไปได้” นายปราบ กล่าว
นอกจากนี้ นายปราบ กล่าวถึงกิจกรรมที่นักศึกษาจัดในปัจจุบัน เช่น การออกค่ายอาสา การไปเลี้ยงเด็กกำพร้าเป็นกิจกรรมแบบขอไปที ไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เพราะไม่ได้คิดถึงประเด็นที่ใหญ่กว่านั้น เช่น ปัญหาการท้องไม่พร้อม กิจกรรมเหล่านี้จึงมีพลังเพียงแค่เยียวยาปัญหาเฉพาะหน้า และนักศึกษาได้ประโยชน์เป็นความสุขใจ และรู้สึกโรแมนติคกับความดีที่ตัวเองได้ทำ
แนะมหา’ลัยต้องส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้กล้าเปลี่ยนแปลง
ขณะที่นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ กล่าวถึงคนรุ่นใหม่ที่คิดจะเปลี่ยนแปลง ต้องเผชิญแรงต้านจากเงื่อนไขทางวัฒนธรรมบางอย่าง เช่น ความเป็นอนุรักษ์นิยมของคนรอบข้าง ที่เมื่อใครจะเปลี่ยนแปลงบางสิ่งก็จะถูกกล่าวหาว่าอยากดัง ทำเพื่อเอาหน้า มีคนจ้าง หรือทำไปเพราะไม่รู้จริง คนที่จะทำการเปลี่ยนแปลงจะอ่อนใจและถอดใจในที่สุด ซึ่งสังคมส่วนนี้เราควรเข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจ มากกว่าสกัดกั้น
“ความหมั่นไส้ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ว่า สังคมไทยคนจะเกิดความรู้สึกหมั่นไส้กันได้ง่าย ซึ่งทำให้พลังความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ยากมาก ถ้าเราปรับเงื่อนไขตรงนี้ให้ผ่อนคลายลงได้ เชื่อว่าพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงจากคนรุ่นใหม่หรือคนรุ่นเก่าที่อยากมีความคิดใหม่ ๆ จะผลิบานออกมาได้อีกมาก”
นักกฎหมายอิสระ กล่าวถึงสถาบันการศึกษา ที่นักศึกษาซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่สังกัดอยู่ ยังไม่ค่อยมีบทบาทส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้กล้าเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่นักศึกษาทำได้เองและควรทำ คือการวิพากษ์วิจารณ์ทวงถามสิ่งที่อยากเปลี่ยนแปลงเอาจากคนรุ่นเก่า เช่น อาจารย์ในมหาวิทยาลัยนั่นเอง
“ผมอยู่ในวงการกฎหมาย สิ่งที่ผมพยายามทำอยู่ทุกวันนี้ คือการวิพากษ์วิจารณ์ศาล คนที่ผมวิจารณ์คือผู้พิพากษาหรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่คนเหล่านั้นคงไม่อ่านคำวิจารณ์ของผม คนที่อ่านคือตุลาการหนุ่ม ๆ สาว ๆ ที่วันหนึ่งจะก้าวขึ้นไปแทนคนรุ่นเก่า นี่คือการสื่อสารความคาดหวังต่อพวกเขา ” วีรพัฒน์กล่าว
ส่วนนายแบ๊งค์ งามอรุณโชติ นักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวถึงคนหนุ่มสาวหรือคนรุ่นใหม่จะแสวงหาความมั่นคงให้ชีวิตเป็นสำคัญเมื่อเข้าสู่วัยทำงาน คนที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย ซึ่งรัฐมีพลังมากขึ้นเป็นลำดับ จะผูกตัวเองไว้กับความมั่นคงในชีวิตตลอดเวลา ทำให้คนเหล่านั้นไม่กล้าแสดงบทบาทในฐานะผู้นำ แต่อาจจะแสดงบทบาทในฐานะคนที่เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างละเล็กละน้อยในกิจกรรมที่ใหญ่ ๆ แทน
“สังคมที่ตกอยู่ในความกังวลถึงความมั่นคงของชีวิตส่วนตัว ทำให้ไม่เกิดผู้นำทางการเปลี่ยนแปลง (first mover) หรือขาดหัวรถจักรที่จะนำพามวลชนหรือสังคมให้เคลื่อนไปข้างหน้า” นายแบ๊งค์ กล่าว
ด้านนายอาทิตย์ โกวิทวรางกูร นักจัดรายการวิทยุ คลื่นความคิด 96.5 MHz กล่าวถึงอุปสรรคบางส่วนอาจจะอยู่ที่ตัวของเราเอง อยู่ที่ความคิด ความเชื่อของเราเอง ว่าจะทำได้หรือไม่ได้ขนาดไหน แต่ถ้าคน ๆ หนึ่งทำการเปลี่ยนแปลงใดก็ตามเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองหรือพวกพ้อง ก็ไม่มีประโยชน์อะไรต่อสังคม
นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมเสวนา นายทวิภัทร บุณฑริกสวัสดิ์ นักวิจัยอิสระด้านเยาวชนและอาสาสมัครเพื่อสังคม ยังได้แสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจในช่วงท้ายของการเสวนาว่า เราควรมองนิยามของคำว่า “คนรุ่นใหม่” อีกด้านว่า คือคนที่มีความคิดใหม่ ๆ ได้เช่นเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องคนหนุ่มสาวเสมอไป
“คนรุ่นใหม่ตอนนี้อาจจะอายุ 30 -40 ก็ได้ เช่น คนเสื้อแดงที่ลงทุนลงแรง พาตัวเองมานั่งตากแดดตากฝน ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในกรุงเทพฯ” ทวิภัทร กล่าว