จำนำข้าวสวนทางจัดระบบทำนา ปีหน้าอาจบังคับชาวนาปลูกปีละ2ครั้ง
กษ.แถลงจัดระบบปลูกข้าวรับภัยแล้ง–น้ำท่วม 2ปีชาวนาร่วม 8 แสนไร่ ปีหน้าเดินหน้าต่อ แจงเหตุชาวนาไม่ร่วมเพราะเช่านารายปี-กลัวเสียโอกาสจำนำข้าว ปีหน้าหากแล้งอาจบังคับร่วมโครงการ
วันที่ 19 ก.ย. 55 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายนิกร จำนง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินโครงการจัดระบบปลูกข้าวปีละ 2 ครั้ง เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาวเกี่ยวกับวิกฤตน้ำ การระบาดของศัตรูพืช สร้างระบบนิเวศน์ในนาข้าว รวมทั้งสร้างความอุดมสมบูรณ์ของดินที่เสื่อมโทรมลง โดยได้กำหนดแผนงานโครงการจัดระบบปลูกข้าวเป็นระยะเวลา 3 ปี คือ ตั้งแต่ปี 2554 – 2556 ทั้งนี้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)ได้ดำเนินการประเมินผลโครงการจัดระบบปลูกข้าวปีเพาะปลูก 2554/55 ในพื้นที่ดำเนินงานโครงการ 10 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท พิษณุโลก สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง อยุธยา และสระบุรี ระหว่างวันที่ 1 พ.ค.- 10 มิ.ย.55 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการจัดระบบปลูกข้าวในปีที่ผ่านมาจำนวน 891,987 ไร่ จากพื้นที่เป้าหมายทั้งหมด 1,260,295 ไร่ หรือ คิดเป็นร้อยละ 70.78 พบว่า
หลังจากดำเนินโครงการมีการใช้น้ำชลประทานลดลง 979 ล้าน ลบ.ม. จากเป้าหมาย 1,200-2,000 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากมีพื้นที่เข้าร่วมโครงการทำการปลูกข้าวอย่างต่อเนื่องจำนวน 368,308 ไร่ ผลผลิตข้าวนาปรังเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 711 กก.ต่อไร่ เป็น 756 กก.ต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.32 จากเป้าหมายทั้งโครงการ 3 ปี ที่จะสิ้นสุดโครงการในปี 2557 ร้อยละ 20 พื้นที่ปลูกข้าวนาปรังในช่วงเดือนพ.ย. 2554 - เม.ย. 2555 มีพื้นที่ระบาดเป็นบางจุดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลลดลงเหลือร้อยละ 28 จากร้อยละ 54 ในปี 2553/54 เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตข้าวนาปรังเฉลี่ยลดลงจาก 7,309 บาท/ตัน เหลือ 6,902 บาท/ตัน หรือลดลงคิดเป็นร้อยละ 5.57 จากเป้าหมายทั้งโครงการ 3 ปี ร้อยละ 15 โดยต้นทุนการผลิตข้าวนาปรังลดลง เนื่องจากปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีเฉลี่ยของเกษตรกรลดลง 0.92 กก./ไร่ คิดเป็นร้อยละ 18.40 ของเป้าหมายทั้งโครงการ 3 ปี จำนวน 5 กก.ต่อไร่ และมีการลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีในพื้นที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 820 ตัน คิดเป็นร้อยละ 10.94 ของเป้าหมายทั้งโครงการ 3 ปี จำนวน 7,500 ตัน
มูลค่าการใช้สารเคมีเฉลี่ยของเกษตรกรลดลง 52.64 บาทต่อไร่ คิดเป็นร้อยละ 12.53 ของเป้าหมายทั้งโครงการ 3 ปี จำนวน 420 บาทต่อไร่ และมีการลดการใช้สารเคมีในพื้นที่เข้าร่วมโครงการมูลค่า 46.95 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.45 ของเป้าหมายทั้งโครงการ 3 ปี จำนวน 630 ล้านบาท และปริมาณการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวเฉลี่ยของเกษตรกรลดลง 1.82 กก.ต่อไร่ ร้อยละ 5.84 โดยลดลงจาก 31.15 กก.ต่อไร่ ในปี 2553/54 เหลือ 29.33 กก.ต่อไร่ ในปี 2554/55
ทั้งนี้จากการสอบถามถึงความต้องการของเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการในปีต่อไป พบว่า ร้อยละ 96 เกษตรกรมีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการจัดระบบปลูกข้าวอีก โดยเห็นว่าโครงการช่วยแก้ไขปัญหาคิดเสื่อมโทรม ลดการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ทำให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น และช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ
โดยจะเห็นได้ว่าโครงการจัดระบบปลูกข้าวช่วยลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร สามารถแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคระบาดศัตรูพืชโดยเฉพาะเพลี้ยกระโดดที่เกิดจากการเว้นช่วงการเพาะปลูก ทำให้รัฐบาลสามารถประหยัดงบประมาณในการจ่ายเงินช่วยเหลือได้ รวมถึงการวางแผนการจัดสรรน้ำทั้งในภาวะน้ำท่วมและน้ำแล้งได้มีประสิทธิภาพ จะเห็นได้ว่าช่วงนี้ซึ่งเว้นจากการเพาะปลูก พื้นที่นาในโครงการสามารถเป็นพื้นที่รองรับน้ำได้ โดยคิดว่าเป็นโครงการที่ดีและต้องมีการพัฒนาต่อไป
อย่างไรก็ดีโครงการยังประสบปัญหาอยู่บ้างในพื้นที่ภาคกลาง เนื่องจากชาวนาบางส่วนไม่สมัครใจเข้าร่วมในระบบปลูกข้าวเพราะเช่าที่นาเป็นรายปี โดยเกรงว่าอาจทำให้เสียโอกาสทำกินหาต้องปลูกข้าวปีละ 2 ครั้ง นอกจากนี้เป็นผลกระทบจากโครงการจำนำข้าวที่ประกันราคาข้าวดี ทำให้ชาวนาบางส่วนต้องการเร่งผลิตข้าวและไม่สมัครใจเข้าร่วมโครงการด้วย ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องหาแนวทางแก้ไขต่อไป
ต่อประเด็นดังกล่าวนายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้ชี้ให้เห็นประโยชน์ของการประหยัดและใช้ทรัพยากรน้ำอย่างคุ้มค่า อย่างไรก็ดีหากในปีต่อไปประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้ง อาจต้องมีการบังคับให้เกษตรเข้าร่วมระบบปลูกข้าวหรือขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวให้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากการแก้ปัญหาภัยแล้งต้องวางแผนการปลูกพืชฤดูแล้ง ต้องจัดการการใช้น้ำ ใช้พื้นที่ รวมทั้งปรับระบบปลูกข้าวเพื่อให้มีน้ำใช้อย่างพอเพียง
นายนิกรกล่าวต่อว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมแผนการดำเนินการจัดระบบปลูกข้าวในปี 2556 โดยมีโครงการชลประทานที่เข้าร่วมโครงการจัดระบบปลูกข้าว จำนวน 18 โครงการ ได้แก่ พื้นที่โครงการชลประทานเดิมที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 16 โครงการ และพื้นที่ชลประทานเพิ่มเติมอีก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดงที่แยกออกมาจากโครงการชลประทานกำแพงเพชร และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต จังหวัดฉะเชิงเทรา รวมเป็นพื้นที่ชลประทาน 5.01 ล้านไร่ ขณะที่พื้นที่เป้าหมายดำเนินการจัดระบบปลูกข้าวในปี 2556 จำนวน 1,149,600 ไร่ โดยมีหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ร่วมดำเนินการภายใต้งบประมาณจำนวน 299.3 ล้านบาท โดยมีการเตรียมความพร้อมในการกำหนดพื้นที่เป้าหมาย การสำรวจความต้องการของเกษตรกร จัดหาเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว พืชหลังนาชนิดอื่นๆ และพืชปุ๋ยสดแล้ว
ที่มาภาพ ::: http://www.rakbankerd.com/agriculture/page.php?id=453&s=tblcenter