ชี้เกษตรไทยมีอนาคตในเออีซี แต่สินค้าหลักคู่แข่งเพียบ
เวทีถกอนาคตเกษตรไทย ชี้อาเซียนเป็นโอกาสมากกว่าวิกฤต หวั่นเสียเปรียบค่าแรงแพง สินค้าหลักคู่แข่งเพียบ ผลผลิตข้าวไทยต่ำกว่าเวียดนามกว่าครึ่ง
18 ก.ย.55 ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร นางสาวสุพัตรา ธนเสนีวัฒน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยระหว่างการเป็นประธานการเปิด‘การสัมมนาเชิงปฏิบัติการการพัฒนาโครงสร้างด้านการผลิตทางการเกษตร’ว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้วางแนวทางเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับภาคเกษตรกรรมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)ปี 58 ทั้งในส่วนภาคการผลิต การแปรรูป และการตลาด โดยจะต้องปรับมาตรฐานด้านความปลอดภัยและคุณภาพให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าเกษตรมีมูลค่าสูง เช่น สินค้าเกษตรอินทรีย์ และการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้า เช่น ผลิตภัณฑ์ข้าว
โดยปัจจุบันประเทศไทยมีกลุ่มเกษตรกรทั้งหมด 5 ประเภทได้แก่ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ ผู้ปลูกพืชสวน ผู้ทำนา ผู้เลี้ยงปศุสัตว์ และผู้ทำประมง โดยมีกลุ่มเกษตรกรตามทะเบียนของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จำนวน 4,350 กลุ่ม มูลค่าสินทรัพย์กว่า 3,500 ล้านบาท และมีทุนรวมกว่า 1,371 ล้านบาท ทั้งนี้เกษตรกรต้องติดตามสถานการณ์และปรับตัวให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยมุ่งเน้นการผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพ การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า แข่งขันทางราคามากกว่ามุ่งเน้นการผลิตเชิงปริมาณ โดยเฉพาะข้าวและยางพาราซึ่งไทยมีศักยภาพสูงในการผลิต นอกจากนั้นยังต้องเตรียมความพร้อมในการใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรทางการเกษตรทดแทนแรงงาน เนื่องจากแรงงานต่างชาติอาจเคลื่อนย้ายกลับประเทศเมื่อเปิดเสรีระหว่างกันอย่างเต็มรูปแบบ
ทั้งนี้การสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกรไทยสามารถทำได้ภายใต้หลักการสหกรณ์ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ โดยเกษตรกรควรจะสะสมหุ้น ระดมทุน พร้อมทั้งวางให้มีระบบการตรวจบัญชีที่ถูกต้อง เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินรองรับการตลาดอาเซียน
ด้านนายคณิต ลิขิตวิทยาวุฒิ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวในหัวข้อ ‘AEC วิกฤต หรือโอกาสของเกษตรกรไทย’ ว่า สำหรับประเทศไทยการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนไม่ใช่วิกฤตดังที่หลายฝ่ายกังวล แต่ถือเป็นโอกาสของประเทศโดยเฉพาะภาคการเกษตร ซึ่งถือว่ามีความได้เปรียบประเทศอื่นอีก 9 ประเทศในอาเซียนอยู่มาก เห็นได้จากดุลการค้าของไทยซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นับตั้งแต่ปรับลดมาตรการทางภาษีสินค้าบางชนิดกับประเทศอาเซียนตั้งแต่ปี 2551
อย่างไรก็ดีการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนภาคเกษตรกรจำเป็นต้องรู้ถึงสถานการณ์สินค้าเกษตรในประเทศ เพื่อจะได้เข้าใจทิศทางการตลาดในอนาคต โดยสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าสูงสุดของไทยในปี 54 คือ ยางพารา น้ำตาลทราย ข้าวเจ้าขาว 5 เปอร์เซ็นต์ ข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้น2 และครีมเทียม และสินค้าเกษตรที่ไทยนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน เช่น ปลาทะเล หอมแดง ปาล์มน้ำมัน เมล็ดกาแฟ ถั่วลิสง ชา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
โดยประเมินว่าศักยภาพภาคการเกษตรของไทยมีความได้เปรียบประเทศอาเซียนอื่นอยู่มาก ดังนี้ 1.แง่การผลิต ได้เปรียบเรื่องของพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ สภาพแวดล้อมและภูมิศาสตร์ 2.การแปรรูปสินค้า ซึ่งมีความหลากหลายกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาคเช่น สินค้าประเภทเนื้อไก่ 3.ตลาด ไทยอยู่ตรงกลางของภูมิภาค มีความได้เปรียบด้านเส้นทางการขนส่งทั้งทางบกและทางทะเล และ4.เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เกษตรกรไทยมีความรู้ความเชี่ยวชาญสูงไม่แพ้ประเทศอาเซียนอื่น นอกจากนี้ยังมีระบบสหกรณ์ที่เข้มแข็งและการสนับสนุนการรวมกลุ่มเกษตรกรจากภาครัฐอย่างดี
อย่างไรก็ดีภาคการเกษตรของไทยอาจเสียเปรียบบ้างในแง่ต้นทุนการผลิตเมื่อเทียบกับประเทศอาเซียนที่ค่าแรงถูกกว่า โดยสินค้าที่ไทยต้องแข่งขันกับประเทศอาเซียนด้วยกันคือ ปาล์มน้ำมัน เมล็ดกาแฟ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังและข้าว โดยกลุ่มสินค้าที่มีโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจ คือ สินค้าปศุสัตว์ โคเนื้อและนม อ้อยโรงงาน น้ำตาลทราย ผลไม้เช่น มังคุด ลำไย มะม่วง และอาหารแปรรูป อย่างไรก็ดีควรเน้นพัฒนาคุณภาพผลผลิตเพื่อสร้างจุดแข็ง และลดต้นทุนการผลิตให้ได้
ด้านนายสุรพล จารุพงศ์ ผอ.สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงสถานการณ์การปลูกข้าวในอาเซียนว่า จากตัวเลขการผลิตข้าวเฉลี่ยต่อไร่ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) พบว่า ประเทศไทยสามารถผลิตข้าวได้เฉลี่ย 448 กิโลกรัมต่อไร่ ต่างจากประเทศเวียดนามที่ผลิตได้เฉลี่ย 852.4 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันจะเห็นว่าไทยผลิตข้าวได้น้อยมาก ทั้งยังมีต้นทุนการผลิตสูงกว่า ทำให้เสียแชมป์การส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกไป หากสถานการณ์ข้าวไทยยังเป็นเช่นนี้จนเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมาก ทั้งนี้ต้องมีการวางแนวทางรับมือและแก้ไขกันในระยะยาวต่อไป
อย่างไรก็ดีประเทศไทยมีผลไม้ทางเศรษฐกิจที่จะนำเข้าสู่การแข่งขันในตลาดอาเซียนดังนี้ 1.ทุเรียน คู่แข่งคือประเทศมาเลเซีย ซึ่งไทยยังมีต้นทุนสูงกว่า 2.ลำไย คู่แข่งคือประเทศเวียดนาม แม้จะมีการพัฒนาพันธุ์ที่ดีกว่าแต่ปัญหาคือ ระบบชลประทานยังเข้าไม่ทั่วถึงพื้นที่ปลูกลำไย 3.มังคุด คู่แข่งคือประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งไทยมีความได้เปรียบด้านคุณภาพ และ4.มะม่วง คู่แข่งคือประเทศฟิลิปปินส์ โดยไทยยังต้องโฆษณามะม่วงพันธุ์ดีให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นและต้องกระจายระบบชลประทานไปสู่พื้นที่ปลูกมะม่วงโดยทั่วถึง
ด้านนางจินตนา ชัยวรรณการ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวถึงโอกาสในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนว่า เกษตรกรจะได้ประโยชน์จากถนนอาร์(R) ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาคในอาเซียนโดยมีไทยเป็นจุดศูนย์กลาง ประกอบกับการส่งออกสินค้าที่ไม่มีมาตรการกีดกันทางภาษีทำให้เกษตรกรมีโอกาสขายสินค้าเกษตรได้มากขึ้น ทั้งนี้ไทยมีความได้เปรียบในสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่แปรรูปแล้ว เช่น อาหารแช่แข็ง
อย่างไรก็ดียังมีความท้าทายในเรื่องข้าวและปาล์มน้ำมันที่ต้องแข่งขันต่อไป ส่วนยางพารามองว่าวันนี้ไทยมียังศักยภาพและมีโอกาสแข่งขันแต่ยังมีความไม่แน่นอนในอนาคต โดยอาจแก้ไขปัญหาผลผลิตล้นตลาดและส่งออกไม่ได้ด้วยการสนับสนุนให้บริโภคผลิตผลเกษตรในประเทศ โดยอาจนำไปแปรรูปแล้วส่งออกในลักษณะผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปแทน
ทั้งนี้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคเกษตรไทยโดยตรงคือการแข่งขันด้านต้นทุนกับประเทศอาเซียนที่มีทุนการผลิตต่ำกว่า อย่างไรก็ดีเกษตรกรควรรวมตัวกันเป็นกลุ่มและร่วมมือภาครัฐเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันต่อไป
ที่มาภาพ ::: http://www.kasetchonnabot.com/node/31