'บางระกำโมเดล' ใช่สูตรสำเร็จ ผวจ.พิษณุโลก แจงแค่ช่วยลดผลกระทบท่วมนาน
'ชัยโรจน์ มีแดง' ผู้ว่าฯ พิษณุโลก ชี้บางระกำโมเดล ไม่ได้แปลว่า น้ำจะไม่ท่วมถาวร 100% แต่เป็นการแก้ปัญหาให้น้ำมาเร็วไปเร็ว ไม่ท่วมขังนาน พร้อมโชว์ความสำเร็จ ปีนี้ลดความเสียหายลงได้ถึง 1 ใน 3
ตามที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีแนวคิดเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วมเชิงบูรณาการ แบบ one stop service ตามโครงการ "บางระกำโมเดล" โดยกำหนดให้ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เป็นต้นแบบจังหวัดนำร่องโครงการดังกล่าว ผ่านมา 1 ปีโมเดลนี้ สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ อ.บางระกำ ได้ผลมากน้อยเพียงใด
ล่าสุด วันที่ 18 กันยายน นายชัยโรจน์ มีแดง ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวกับ "สำนักข่าวอิศรา" ถึงการดำเนินการตามโครงการบางระกำโมเดลที่ผ่านมาว่า ได้มีการวางแผนและการดำเนินงานในหลายส่วนด้วยกันคือ
1.ด้านสิ่งก่อสร้าง ทั้งการขุดลอก ปรับปรุงประตูระบายน้ำ ทั้งในพื้นที่ลุ่มน้ำยมสายเก่าและสายใหม่ รวมถึงการขุดบึงต่างๆ เพื่อเป็นแก้มลิงรับน้ำ โดยภาพรวมของการดำเนินการขณะนี้ถือว่าแล้วเสร็จไปแล้ว 90% ซึ่งจะช่วยให้การไหลของน้ำดีขึ้น ไม่ท่วมขังนาน ขณะเดียวกันยังสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้งได้ด้วย
2.การปรับวิถีชีวิต โดยเฉพาะลดการเพาะปลูกข้าวของชาว อ.บางระกำให้เหลือเพียง 2 รอบการผลิตต่อปี นั่นคือทำนา 8 เดือน ส่วนอีก 4 เดือนที่เหลือคือ ช่วงสิงหาคม-พฤศจิกายนปล่อยให้น้ำเข้าท่วม เพราะ อ.บางระกำเป็นที่ลุ่มต่ำที่น้ำท่วมทุกปีอยู่แล้ว
และ 3.การดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในช่วงน้ำท่วม
เมื่อถามว่า ปีนี้ 'บางระกำโมเดล'ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ได้มากน้อยเพียงใด นายชัยโรจน์ กล่าวว่า บางระกำโมเดล ไม่ได้แปลว่า แก้ปัญหาน้ำท่วมได้ถาวร 100% เพราะน้ำต้องท่วมพื้นที่นี้อยู่แล้วเนื่องจากเป็นพื้นที่ ลุ่มต่ำ อีกทั้งยังไม่มีเขื่อนหรืออ่างขนาดใหญ่สำหรับตัดยอดน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยม ตอนบน เช่นในกรณีของแม่น้ำน่านที่มีเขื่อนสิริกิติ์ช่วยตัดยอดน้ำเอาไว้ การแก้ปัญหาจึงต้องทำให้น้ำมาเร็วไปเร็ว ไม่ท่วมขังนาน
"อย่างไรก็ตาม บางระกำโมเดล ถือเป็นโมเดลการจัดการน้ำในพื้นที่น้ำท่วมที่ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง เพราะช่วยลดผลกระทบที่รุนแรงให้น้อยลง เช่น ปี 2554 น้ำท่วมทุ่งจังหวัดพิษณุโลกกินพื้นที่ทั้งหมด 3.5 แสนไร่ แต่ในขณะนี้พบว่า มีพื้นที่น้ำท่วมทุ่งเพียง 100,000 กว่าไร่เท่านั้น ซึ่งลดความเสียหายลงได้ถึง 1 ใน 3" ผู้ว่าฯ จ.พิษณุโลก กล่าว และว่า สำหรับในพื้นที่ อ.บางระกำนั้น ชาวบ้านมีความกังวลในเรื่องน้ำแล้งมากกว่าน้ำท่วม จึงได้มีการขุดบึงขนาดใหญ่ 3 บึงด้วยกัน โดยบึงขี้แร้งพื้นที่ 180 ไร่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย ส่วนบึงระมานพื้นที่ 3,000 ไร่ และบึงตะเครงพื้นที่ 1,500-1,600 ไร่ กำหนดแล้วเสร็จปี 2556 ซึ่งเมื่อทั้ง 3 แห่งดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถรับน้ำได้ 30 ล้าน ลบ.ม.
ขณะที่นายล้ำ เลิศศรีมงคล นายอำเภอบางระกำ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำใน อ.บางระกำ ขณะนี้ว่า มีน้ำจากลุ่มน้ำยมสายเก่าเอ่อเข้าท่วมทุ่งแล้วประมาณ 50,000 ไร่ นับตั้งแต่ที่เริ่มเอ่อเข้าท่วมพื้นที่เมื่อช่วงวันที่ 15-16 กันยายน จนถึงปัจจุบัน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แต่เนื่องจากปีนี้น้ำมาค่อนข้างช้า ทำให้ชาวบ้านสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวได้เกือบหมด ความเสียหายจึงมีไม่มากนัก ประชาชนสามารถอยู่อาศัยในบ้านเรือนได้ เพราะระดับน้ำยังไม่สูงมาก
"แผนบริหารจัดการน้ำยังคงยึดรูปแบบบางระกำโมเดล มีการเตรียมความพร้อมด้านข้อมูล การแจ้งข้อมูล การเตือนภัยให้กับประชาชนในพื้นที่เตรียมยกสิ่งของขึ้นที่สูง ตั้งแต่ทราบข่าวว่าน้ำท่วม จ.แพร่ และ จ.สุโขทัย อีกทั้งก่อนหน้านี้ในช่วงต้นฤดูฝน บางระกำก็มีปัญหาท่วมขัง น้ำท่วมนาข้าวไปแล้วกว่า 1,400 ไร่ ซึ่งได้มีการสำรวจและดำเนินเยียวยาให้กับเกษตรกรเป็นที่เรียบร้อยตามแผนดังกล่าว ยืนยันว่าบางระกำโมเดลยังใช้อยู่ และยังใช้ได้ผลดี" นายอำเภอบางระกำ กล่าว
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) เผยแพร่ภาพเปรียบเทียบพื้นที่น้ำท่วมปี 2553-2555 ในช่วงกลางเดือนกันยายน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ปีนี้น้ำท่วมน้อยกว่า3-4เท่า และระบุด้วยว่า เป็นเพราะการผันน้ำส่วนหนึ่งลงแม่น้ำน่านและลงแก้มลิงบางระกำ